Interview: คุณสุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
'เครดิตบูโร' เตือนสถานการณ์ 'หนี้' คนไทยน่าเป็นห่วงทั้งคนเจน X, Y, Z ต่างแข่งกันก่อหนี้จนมีความเสี่ยงสูง หากเปิดภาวะ Income Shock! รายได้วูบหายแบบเฉียบพลัน จะเอาที่ไหนไปชำระหนี้เหมือนเช่นสถานการณ์ไวรัสโคโรนาทำคนต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเกิดขึ้นแล้วในเมืองจีน อีกพบหนี้ NPL ปี 62 มียอด 8.3% เพิ่มจาก 7% ของสินเชื่อรวมปี 61 เผยคนเป็นหนี้เริ่มรู้สึกอึดอัดเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ถ้ายังเจอแบบนี้อีก 6 เดือนคงไปไม่ไหว ต่างคิดหาทางแก้ไขวันนี้ไม่รอถึงวันนั้น ระบุสถานการณ์ ‘หนี้’ คนไทยฝากผีฝากไข้ไว้กับการเผด็จศึกไวรัสโคโรนาต้องจบเร็วทันการฟื้นฟู ความเชื่อมั่นคนมีตังค์ให้นำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อให้เงินสะพัดในตลาด
สถานการณ์ผู้มาตรวจเครดิตบูโรเป็นอย่างไรบ้าง
ดูเฉพาะปี 62 ล่าสุด เนื่องเพราะว่าตัวเลขมกราคมยังไม่ออก ปีที่แล้วทั้งปีมีผู้มาตรวจเครดิตทั้งหมด 19 ล้านครั้ง
ถือว่าเยอะไหม
เมื่อปีที่เรามีโครงการรถคันแรกแค่ 14.3 ล้านครั้ง แต่ปีที่แล้ว 19 ล้านครั้ง มีการขอสินเชื่อเยอะกว่าปีที่เรามีโครงการรถคันแรก เหตุผลปีที่แล้วมีเรื่องสินเชื่อบ้านทุกคนก็ขอเร่งสินเชื่อเพราะกลัวมาตรการ LT ที่ต้องวางเงินดาวน์เยอะขึ้น การปฏิเสธสินเชื่อปีที่แล้วถ้าเป็นสินเชื่อบ้านก็ขึ้นไปถึง 50% 100 ใบสมัครผ่านแค่ 50 ใบสมัคร ตอนนี้มีคนอยู่ในระบบของเครดิตบูโร 28 ล้านคน เป็นบัญชีสินเชื่อทั้งหมด 107 ล้านบัญชี หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมดประมาณ 13.2 ล้านล้าน เป็นข้อมูลอยู่ในเครดิตบูโรประมาณ 12 ล้านล้าน ยังไม่มีบางส่วนที่อยู่กับเรา เช่น โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์
สถานการณ์ต้องบอกว่าไม่ค่อยดี ขอยกตัวอย่างคนเจน X อายุ 40-54 เป็นมนุษย์ทำงานวัยกลางคน ประมาณ 3.9 ล้านล้าน เป็น NPL 270,000 ล้าน คิดเป็น 7% คนที่เป็นเจน Y อายุ 22-39 พวกนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับโทรศัพท์มือถือกู้ไปทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล 0% กู้ไปทั้งหมด 4 ล้านล้าน เป็น NPL 260,000 ล้าน NPL 6.5% พอกับคนเจน X แต่ที่น่ากลัว คือ เจน Z อายุไม่เกิน 22 เกิดหลังวิกฤตปี 40 ไม่เคยเห็นนรก กู้ไปแล้ว 20,000 ล้าน เป็น NPL เกือบ 1,000 ล้าน ประมาณ 4.2% ใน 3 กลุ่มที่เราเห็นต้องบอกว่ามีความเสี่ยง
ถ้าเรามองออกไปไกลๆ ประเทศเราคนที่อายุเยอะอย่างผมจะอายุเยอะขึ้นในอนาคต แล้ววัยคนหนุ่มสาวทำงานเป็นคนทำงานเสียภาษีมีรายได้ เงินพวกนั้นจะมาช่วยเหลือเกื้อกูลคนรุ่นเกษียณ ถ้าคนเหล่านั้นติดกับดักหนี้อย่างกู้ไป 4 ล้านล้าน หนี้เสีย 270,000 คำถาม คือ ถ้าเกิดสิ่งที่รียกว่า Income Shock! อยู่ดีๆรายได้หายวูบ ซึ่งเรากำลังกลัวเรื่องโคโรนาไวรัส สมมุติคนนั้นทำงานอยู่กับบริษัททัวร์ ภัตตาคาร สายการบิน อย่างสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคไม่ได้ให้ออกขอให้ช่วยอยู่บ้านไม่รับเงินเดือน 27,000 คน ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่รู้จากเหตุอะไรสิ่งที่ตามมา คือหนี้สินไม่ได้หยุดตาม แล้วจะเอารายได้ไหนไปชำระหนี้
นี่คือความกังวลของใครหลายคน เพราะสถานการณ์ที่เราเจอหรือทั่วโลกเจอ คือสงครามการค้าทำให้การค้าขายลำบากขึ้น ประเทศเราพึ่งการส่งออก เราถูกซ้ำเติมด้วยฝุ่น ภัยแล้ง และเรื่องโรคระบาด ที่น่ากลัวที่สุดที่หลายคนกลัวถ้าประเทศเรามีการแพร่ระบาดสูงแล้วถูกประเทศอื่นกำหนดว่าประเทศเรามีความเสี่ยงสูงอันนี้จะมีผลกับเราเยอะมาก ขณะนี้ยังไม่มีเพราะทางการแพทย์เราควบคุมได้ดีมาก เพราะฉะนั้นภัยตัวนี้อาจจะเกิด Income Shock! ขึ้นมาได้ คนที่ไม่มีรายได้แล้วมีหนี้ที่ต้องชำระ NPL ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ถ้าเกิดปรากฏการณ์นั้นก็จะพุ่งสูงแล้วจะเกิดความเสี่ยงต่อระบบนี่เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัว จะเปรียบเทียบเหมือนตอนปี 40 อยู่ดีๆเรามีการลดค่าเงินบาท หนี้เราเคยอยู่ที่ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เพิ่มเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ หนี้เราเพิ่มขึ้น 20 บาท มันก็ช็อกไปต่อไม่ได้ แต่คราวนั้นมันเกิดที่นิติบุคคล แต่ครั้งนี้มันแขวนกับบุคคลที่เป็นหน่วยเล็กๆ อันนี้ผมมีกังวล
อีกอย่างภาพใหญ่ คือ NPL รวมของปี 61 คือ 7% มี 100 บาท มีหนี้เสีย 7 บาท แต่ปี 62 100 บาท หนี้เสีย 8.3% บ้าน 4.7% รถยนต์ 6.6% บัตรเครดิต 3.5% เรื่องบ้านเรื่องรถยังมีหลักทรัพย์ แต่ถ้าเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล อันนี้ลำบาก เมื่อวานที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ลูกน้องผมส่งรูปมามีคนเข้าแถวตรวจเครดิตบูโรเราเกือบ 300 คน พอผมตรวจดูส่วนใหญ่ตรวจภาระหนี้แล้วเตรียมตัวไปเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้เป็นส่วนใหญ่ แล้วลงไปถามแต่ละท่านบางคนบอกว่าตอนนี้ยังไม่เสียยังไม่ค้างชำระ แต่รู้ตัวว่าถ้ายังเป็นแบบนี้อีก 6 เดือนไม่ไหวแน่เขาก็ต้องแก้ไขปัญหา
ภาพเราตอนนี้อยู่ในภาวะอึดอัด
ถึงตรงนี้รัฐบาลขอให้แบงก์สมัครใจหรือขอร้องผ่อนปรนต่างๆ จะกระทบต่อหลักการของเครดิตบูโรไหม
การปรับโครงสร้างหนี้มี 2 แบบ ถ้ายังค้างไม่เกิน 90 วัน สมมุติผมติดขัด 2 งวด 60 วัน แต่ผมยังค้างไม่เกิน 3 งวด เราเรียกกลุ่มนี้ว่าเปราะบางหรือยังปกติไปมาๆได้ กลุ่มนี้เรียกว่าปรับโครงสร้างหนี้แบบเชิงป้องกันได้ คือ เป็นกลุ่มสีขาวที่ไม่มีการค้างแต่ไม่ไหว มีการค้าง 1 งวดก็สีเทาอ่อน มีการค้าง 2 งวดก็สีเทาเข้ม วิธีปรับโครงสร้างหนี้ คือ ยืดมันออก เช่น เคยผ่อนครั้ง 10,000 บาทต่อเดือน ก็เหลือ 3,000-4,000 ให้มันยืดออกแล้วปรับดอกเบี้ยให้มันหารยาว กลุ่มนี้เวลาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเขาถือว่ายังเป็นหนี้ปกติ เขาสั่งไปที่แบงก์พาณิชย์ว่าไม่ต้องส่งรหัสอะไรเข้ามาที่เครดิตบูโร อันนี้จะช่วยรักษาประวัติของคน
แต่กลุ่มที่ก้าวข้ามเส้น 3 งวด ค้างเกิน 90 วันกลายเป็นหนี้เสียไปแล้วไปปรับโครงสร้างหนี้ จะยืดหนี้ลดดอกเบี้ย กลุ่มนี้จะมีรหัสส่งเข้ามาในระบบผมว่าได้ปรับโครงสร้างหนี้หลังจากหนี้เสียแล้วเมื่อไหร่ กลุ่มนี้เวลาจะไปขอสินเชื่อจะมีระยะดูใจ ความหมาย คือ คุณได้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ หลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ผ่อนแล้ว ผ่อนดีหรือเปล่า ถ้าผ่อนดีเกินช่วงเวลาหนึ่งเขาจะพิจารณาสินเชื่อให้ใหม่
2 กลุ่มนี้กลุ่มแรกเชิงป้องกันถือว่าปกติ กลุ่มสองถือว่าเข้าโรงหมอปฏิบัติตัวดีดูอาการหลังจากนี้ถ้าสุขภาพแข็งแรงก็ว่าต่อในอนาคต 12-18 เดือนข้างหน้า มาตรการแบบนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนเพราะพอปรับโครงสร้างหนี้แล้วติดรหัสเลย มันก็เกิดปัญหาว่าคนที่เขาสมัครใจปรับโครงสร้างหนี้เขาตั้งใจดี พอเขาติดรหัสแล้วจะเดินไปขอสินเชื่อเพิ่มเขาเสร็จแล้ว ตอนนี้มีลักษณะปฏิเสธสินเชื่อพบว่าคุณมีการปรับโครงสร้างหนี้ คล้ายๆว่าคนนี้ไม่แข็งแรงพอจะไปเติมน้ำหนักเราก็ไม่อยากเติมให้เขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทางการออกมาช่วยคือจุดนี้
จุดที่ 2 ที่ทางการออกมาช่วย คือ คนที่เป็นหนี้เสียปรับโครงสร้างหนี้มันยากเพราะมีหนี้อยู่ 3 ที่ ต้องเดินไปแต่ละที่เจ้าหนี้ที่ 1 คุยเงื่อนไขแบบนึง ไปเจ้าหนี้ที่ 2 ก็คุยแบบนึง เจ้าหนี้ที่ 3 คุยแบบนึง เราคนทำมาหากินก็ไม่ไหวผลที่สุดก็ไม่ได้รับการแก้ไข เขาก็สร้างระบบเรียกว่าคลินิกแก้หนี้รวมศูนย์ไปเคลียร์แก้หนี้บอกเขาว่าเรามีรายได้แค่นี้แล้วคลินิกแก้หนี้จะจัดตารางแก้หนี้ เก็บหนี้เราแล้วไปจ่ายหนี้ให้อีก 3 เจ้า อันนี้เป็นกลไกลที่สร้างขึ้นมา
ส่วนสุดท้าย คือ คนที่เป็นหนี้สีขาวแต่รู้ตัวเองจะไม่ไหวก็ไปแปลงหนี้ เช่น บัตรเครดิต 18%ต่อปี ก็ไปแปลงให้เป็นเงินกู้ให้มีระยะเวลา คือ ปิดบัญชีบัตรเครดิตแล้วเปลี่ยนให้เป็นหนี้เงินกู้ หารยาว 48-60 งวดแล้วค่อยทยอยจ่ายคืน ดอกเบี้ยจะลดจาก 18 เหลือประมาณ 10-12 หรือ 7-8 แล้วค่อยๆผ่อน ในระหว่างนั้นตัวเองจะไม่ได้ใช้บัตรเครดิตเพราะฉะนั้นจะอยู่ในช่วงดัดนิสัยตัวเองทำให้ตัวเองไม่ไปติดหนี้อีก กลไกลที่ภาครัฐทำขึ้นมา 3-4 เรื่องเพื่อเอามาตอบโจทย์เวลานี้
ทำกันมาสักพักได้ผลไหม
มันมีเงื่อนไขสำคัญอยู่อันนึง คือคนที่จะเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ต้องไม่ก่อหนี้ใดๆ อีก ซึ่งอันนี้จะยากเพราะนิสัยของคนเราเมื่อก่อนผ่อนหมื่นบอกอึดอัด พอลดลงมาเหลือผ่อนเดือนละ 3,000 พอตังค์เหลือ 7,000 เอาอีกแล้ว มีเงินเหลือ 7,000 บาทเอาไปผ่อนของอีกได้ไหม เพราะฉะนั้นเขาเลยดักคอตรงนี้ว่าห้ามมีหนี้เพิ่มในระบบ คนที่จะเข้าโครงการนี้ต้องแลกกับอิสรภาพนิดนึงถูกไหม
ดูแล้วภาวะที่จะเป็น Income Shock แล้วจะเป็นหนี้ NPL ปี 63 มากกว่าปี 62
ลักษณะจริงๆด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่าง ผมเป็นผู้รับเหมาช่วงไปรับเหมาช่วงต่อจากผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาหลักรับงานหลวงมาทำเสร็จจบแล้วส่งงานให้หลวงแต่เบิกเงินไม่ได้เพราะงบประมาณยังไม่ออก ผมต้องจ่ายเงินให้คนงาน เพราะฉะนั้นคนงานก็จะได้เงินช้าลง คือ ตัวผมก็อึดอัดมากขึ้นเพราะเงินมันติดขัดเพราะงบประมาณมีปัญหา เพิ่งแก้ไขปัญหาเสร็จไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ตรงนี้ที่มันลากมาโดยที่ไม่มีเรื่องโคโรน่าไวรัสมันก็มีปัญหาพวกนี้อยู่แล้ว พอเจอปัญหาเรื่องไวรัสก็ไปเจอปัญหาบางเซกเตอร์ บางชาติทำให้หนักเข้าไปอีก เหมือนคนเป็นไข้แล้วไปแบกของจะเดินก็ลำบาก
ทั้งหมดมันอยู่ที่ 1. ปัญหาโคโรนาไวรัสจบเร็วหรือไม่ 2. การฟื้นฟูความมั่นใจของคนในประเทศที่มีเงิน แล้วเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอยอันนี้ก็จะส่งเสริม
ก็เตือนให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังใช่ไหม
ผมเพิ่งเขียนบทความไปให้ยึดหลัก กินร้อนใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆให้เป็นนิสัย เดินไปห้าง เดินไปรถไฟฟ้าเมื่อเราไปจับนู้นจับนี่หลังจากนั้นเอาเจลล้างมือมาใช้ ใช้หน้ากากเมื่อไปที่สาธารณะ ข้อสำคัญกลับมาใช้ชีวิตกินอยู่ด้วยปรุงแต่ง กินอย่างพอควร ออกกำลังกาย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดี
Comments