top of page
312345.jpg

ปั้นธุรกิจจากกัญชาไม่ง่าย กัญชาพันธุ์ดีต้องลงทุนสูง


Interview : คุณสุนทร คมคาย ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว จังหวัดปราจีนบุรี


ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัญชาเตือน อย่า “ตาโต” หวังรวยจากการปลูกกัญชา ถ้าแค่ปลูกหลังบ้านสนุกๆ เอามาปรุงอาหาร ต้มน้ำดื่มเป็นยายังพอเป็นไปได้ แต่อย่าหวังปลูกเพื่อขายบริษัทยา เพราะบริษัทยาจะเลือกซื้อกัญชาพันธุ์ดี คุณภาพดี มีสาร CBD สูง THC ต่ำ ปลูกในแปลงแบบปิดที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น อย่าตกเป็นเหยื่อคนขายต้นกัญชาที่บอกซื้อไปปลูกแล้วจะกลับมารับซื้อในราคาสูง ยกตัวอย่างพืชต้นด่าง-ใบด่างที่ถูกหลอกให้ซื้อต้นกล้า แต่สุดท้ายคนขายหนีเข้ากลีบเมฆ แจง…กัญชาต้นละ 50 บาท คนขายก็รวยแล้ว แต่ตอนนี้ปลุกกระแสจนราคาต้นละ 150 บาท พร้อมย้ำ การเกษตรยั่งยืนคือเกษตรแบบผสมผสาน กระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหลายหลากชนิด


ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว จังหวัดปราจีนบุรีให้ความสนใจปลูกกัญชาอย่างไร

เราก็ปลูกกัญชาอยู่แล้ว คือเป็นการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ เราปลูกเอาไปส่งให้กับทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และปลูกมาให้แพทย์แผนไทย 50 ต้น สำหรับเรื่องกัญชาเมื่อก่อนถูกบรรจุอยู่ในตำรับยาไทย แล้วขาดหายไประยะใหญ่ๆ เนื่องจากทางรัฐเขียนให้มันผิดกฎหมาย ทำให้ภูมิปัญญาต่างๆ ขาดหายไป แล้วก็มีการพัฒนาทางใต้ดิน ก็มีการคาดหวัง แต่ก็ขาดงานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ วันนี้กัญชาถูกเอามาพัฒนาแบบถูกกฎหมาย งานค้นคว้าวิจัยต่างๆ ก็จะถูกนำไปสู่เรื่องการพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่เราเคยคาดหวัง สิ่งที่เราคิดว่ามันแก้อะไรต่อมิอะไรได้ มันก็จะถูกพิสูจน์ทราบโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กัญชาเองก็จะถูกปรับเข้าสู่เรื่องศักยภาพของตัวเขาเองอย่างแท้จริง

ส่วนวันนี้เป็นเรื่องธรรมดา หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ๆ ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่มีการตามกระแส ดูให้มันยิ่งใหญ่ ดูให้มันมีความหวัง ซึ่งก็เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยไม่ค่อยมีความหวังในเรื่องการทำมาหากินมากนัก ก็เลยหวังว่าปลูกกัญชาแล้วจะรวย ทุกคนก็จะมาหาเราด้วยความหวังว่าปลูกกัญชาแล้วจะรวย ส่วนตัวก็จะถามเขาว่า ผมนี่ดูท่าทางจะรวยหรือไม่ ถ้ารวย ส่วนตัวคงรวยไปแล้ว คือจริงๆ แล้ว กัญชาก็คือพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะควบคุมอยู่ในระดับหนึ่ง ตอนนี้จะเจอคำถามว่าจะควบคุมอย่างไรต่อการนำไปใช้ในการสันทนาการ วันนี้ก็ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่ว่าเรื่องการผลิตยาหรือการนำไปสู่การวิจัยทางการแพทย์ หรือการพัฒนาเรื่องอาหาร คิดว่าก็เข้าสู่กระบวนการอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาถึงยังจะไม่เสรีอะไรแบบนี้ ก็มีคนเอาไปพัฒนา แต่ว่าตอนนี้ พ.ร.บ. 2 ตัวที่ออกมาพร้อมกันก็คือเรื่องสุราก้าวหน้ากับเรื่องกัญชาเสรี ก็ต้องดูว่าในอนาคตข้างหน้า ระยะทางจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้ว 2 ฉบับนี้ อันไหนที่ตอบสนองให้กับประชาชน หรืออาจจะตอบสนองทั้ง 2 ฉบับเลยก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของประชาชนที่จะทำอย่างไรให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังประโยชน์ให้กับประชาชนจริงๆ


กัญชาปลูกยากหรือไม่

จริงๆ กัญชาไทยก็ปลูกไม่ยาก แต่กัญชาที่เหมาะสำหรับทางการแพทย์จะต่างออกไป คิดว่าสิ่งที่เรากำลังปั่นกระแสหรือจะทำกันอยู่นั้น คิดว่าบริษัทที่ผลิตยาคงไม่ซื้อจากทั่วๆ ไป เนื่องจากว่าเขาก็ต้องการมาตรฐาน สำหรับการลงทุน ก็เหมาะกับนายทุนมากกว่า แล้วกัญชาที่มี Cannabidiol (CBD) สูง ที่มี THC ต่ำ ก็ต้องสกัดโดยใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง แล้วก็ลงทุนเยอะ ซึ่งวันนี้ก็มีบริษัทหรือนายทุนทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าผลิตกัญชาที่เป็นน้ำมันอะไรต่างๆ มันก็ยังไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างที่เราปลูกกันหลังบ้าน คิดว่ามันเพื่อระบายความกดดันของสังคมมากกว่า ส่วนเรื่องการเอาไปขายอย่างเป็นเศรษฐกิจหรือเป็นเนื้อเป็นหนัง ยังไกลความจริงมาก


มีโอกาสหรือไม่ ที่จะแห่กันปลูกจนล้น ไม่ปลูกอย่างอื่น สุดท้ายกัญชาราคาตกจนต้องเอาไปทิ้งกัน

มีอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่ากัญชาที่เป็น Medical Grade จริงๆ ชาวบ้านเราปลูกไม่ได้อยู่แล้ว คือบริษัทเขาไม่ซื้อเราอยู่แล้ว เนื่องจากว่าคำว่า Medical Grade คือมากกว่าผลิตหรือทำการเกษตร หมายถึงปลูกเพื่อการแพทย์จริงๆ ปลูกเพื่อให้มีสาระสำคัญ ปลูกเพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีสูงๆ ซึ่งชาวบ้านเข้าไม่ถึงอยู่แล้ว อย่างชาวบ้านปลูกอยู่หลังบ้าน 5-6 ต้น คือปลูกเอาไว้ทำกับข้าว ไม่ได้ขายจริงจังขนาดนั้น


พันธุ์ที่ปลูกเพื่อเอาไปทำยา กับพันธุ์ที่ปลูกเพื่อเอาไปทำอาหาร คนละพันธุ์หรือเปล่า

กัญชาส่วนใหญ่ที่เราปลูกเป็นกัญชาไทย อย่างเช่นพันธุ์หางกระรอกภูพาน ตะนาวศรี ก็จะมีสารเมาค่อนข้างสูง เนื่องจากว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน ส่วนกัญชาของต่างประเทศที่ไปทำยาอย่างเช่นตัวที่มี CBD สูงๆ ก็ต้องปลูกในสภาพปิดเสียส่วนใหญ่ แล้วใช้แสง เพื่อไม่ให้เขาออกแดดเร็วเกินไป เพื่อทำให้ดอกเขามีคุณภาพ


ถ้าปลูกเอาไปทำยา ต้องลงทุนเยอะ และบริษัทยาไม่ใช่ซื้อง่ายๆ

จะไปตั้งโต๊ะซื้อแบบตลาดไทยคงไม่ใช่ แต่ที่เอามาทำอาหาร ก็ปลูกเป็นผักสวนครัวหลังบ้านเรา 6 ต้น 10 ต้น ปลูกไว้ชงน้ำชาทาน แต่ตอนนี้กฎหมายเรื่องสูบยังไม่ออกมา คือสูบก็ต้องสูบอยู่หลังบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะไปอย่างไรต่อ


กระแสตื่นปลูกกัญชา จะไปไกลถึงขนาดคนไปล้มพืชอื่นแล้วมาปลูกกัญชาแทนไหม

คิดว่าไม่ คือที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่กัญชา แต่เป็นคนที่จะมาหากินกับเกษตรกร หลอกเพื่อปลูกพืชอื่นๆ หลายอย่าง เกษตรกรก็จะหลงเชื่อไปร่วมมือกับบริษัท ต้องซื้อพันธุ์ ซื้อโน่นนี่นั่น แล้วพอสุดท้ายก็ไม่มีที่ขาย วันนี้เราก็จะเป็นแบบนั้น พอเอาเข้าจริง พอเราไปจริงๆ คิดว่ากระบวนการปลูกกัญชากันอย่างเป็นการค้ายังเข้าถึงค่อนข้างยากพอสมควร คือวันนี้สำหรับกัญชา เราคาดหวังว่าเราจะปลูกแล้วรวย แต่จริงๆ แล้วคิดว่าเหมาะสำหรับเราที่ปลูกอยู่หลังบ้าน เพื่อใช้ดูแลสุขภาพของเรามากกว่า


พอประกาศปลดล็อกเสรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีต้นกัญชาต้นใหญ่ๆ ออกมาขายกันแล้ว ตรงนี้จะอธิบายอย่างไร

คิดว่ากฎหมายมันไม่ทัน คือตัวพ.ร.บ.ผ่าน แต่ตัวกฎหมายที่จะออกมาควบคุมเรื่องดอกยังเป็นช่วงปล่อยผีระยะสั้นๆ หมายถึงคนที่ยังมีโอกาสอะไรต่างๆ ก็ยังไม่มีกฎหมายที่พูดถึง เราต้องควบคุมโน่นนี่นั่น ช่วงนี้จะเป็นช่วงฟรี ก็ยังกังวลว่าช่วงที่ยังเป็นช่วงฟรี แล้วในวันข้างหน้า เราจะควบคุมอย่างไร


ได้ข่าวหรือไม่ว่ามีการไปปลูกที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา แล้วพอปลดล็อกเสรี ก็เตรียมแห่นำเข้ามา

มันมีอยู่แล้ว เพราะต้องมีคนที่รู้ก่อน จะต้องมีคนที่รู้ว่าหวยจะออกอะไร แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นช่วงสั้นๆ เหมือนที่เราเคยฮือฮากับเอกชน คือมีราคาอยู่สักพักใหญ่ๆ แต่คนที่โดนหลอกสุดท้ายก็คือเกษตรกรเหมือนเดิม เหมือนกับต้นด่าง ต้นอะไรอย่างนี้ ที่ก่อนหน้านี้บอกให้เราปลูก บอกว่าจะมาซื้อ สุดท้ายก็ไม่มาซื้อ


อยากให้คำแนะนำอะไรกับเกษตรกรในเรื่องกัญชา

จริงๆ แล้วส่วนตัวคิดว่ากัญชาเป็นช่องทางหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเกษตรกรยังควรให้คุณค่าเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสาน เรื่องกระจายความเสี่ยงในการผลิตพืชอาหาร ส่วนกัญชาอาจจะปลูกในระดับหนึ่งที่ไม่อยู่บนความเสี่ยงมากนัก ตอนนี้เราอาจจะต้องตัดเรื่องคำว่าเกษตรตาโต หมายถึงหวังร่ำรวย มีคนที่จะมาหลอกลวงเรา เขาก็มาล่อเราทั้งสิ้น ตอนนี้ทุกคนพุ่งมาหาเราเรื่องกัญชาเรื่องเดียวเลย เพราะทุกคนทราบว่าปลูกกัญชาแล้วจะรวย แต่ส่วนตัวยังคิดว่าปลูกพืชแบบผสมผสานจะทำให้เราลดความเสี่ยง แล้วก็ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์


ทำเป็นผลผลิตจนเป็นน้ำดื่มได้ไหม

ก็เป็นเหมือนช่องทาง คือมีรายได้ ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ถามว่าน้ำกัญชาก็อาจจะมีสรรพคุณ บางคนก็อาจจะชอบดื่ม บางคนดื่มแล้วก็อาจจะหลับดี ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งของเกษตรกรที่จะแปรรูป เป็นสินค้าต่างๆ อย่างเช่นคุกกี้ที่มีส่วนผสมของกัญชาบ้าง โน่นนี่นั่น ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ไม่ต่างจากที่เราเคยทำกล้วยฉาบ ก็เป็นการแปรรูปทางการเกษตร ก็ถือว่ากัญชาได้รับความนิยมจนทุกคนก็อยากจะลอง บางครั้งเราก็อยากรู้ว่าคุกกี้ใส่กัญชาต่างจากคุกกี้ธรรมดาอย่างไร ก็เป็นความอยากลองของผู้บริโภค ส่วนจะยั่งยืนหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ถ้าปลูกในครัวเรือน ควรเลือกปลูกกัญชา หรือพืชตัวอื่นๆ อย่างไหนจะง่ายกว่ากัน

กัญชาก็มีสรรพคุณหลายอย่าง ที่ชัดเจนมากก็คือกัญชาเอามาทำกับข้าว ตรงนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเอามาใส่แกง เป็นอาหารป่าอะไรต่างๆ หรือแปลงไปพัฒนาเป็นผงเพื่อแทนสารปรุงรสที่เราใช้อยู่ในตลาด ตรงนั้นมีโทษอีกต่างหาก แต่พันธุ์ที่เราใช้อย่างผลิตภัณฑ์กัญชา หรือถ้ามาเรื่องใบหม่อนกับอะไรต่างๆ ที่จะทำให้มันกลายเป็นเครื่องปรุงรสที่มีรสชาติดี หรือว่าเราปลูกอยู่หลังบ้าน การที่เราผัดแกงก็ใช้กัญชามาปรุงอาหาร เป็นตำรับอาหารไทยมาตั้งแต่โบราณ ตรงนี้ปลูกได้ คิดว่าถ้าแบบนี้ถึงเราปลูกเอง ไม่ได้ไปขอใคร ตำรวจคงให้ความเมตตาเรา


ควรเป็นพันธุ์อะไรที่ปลูกสนุกๆ ในบ้านเรา

จริงๆ ก็พันธุ์ไทยของเรา ส่วนใหญ่ที่นิยมคือหางกระรอก พันธุ์ไทยเป็นพันธุ์ที่โตเร็วและแข็งแรง เป็นพืชพื้นเมืองของเราดั้งเดิม ก็มีชาวบ้านไปปลูกในไร่มัน ไร่อ้อย เพื่อที่จะหลบ เขาก็อยู่ได้ ต้นใหญ่โต แต่พอกัญชาถูกโพรโมตเป็นพืชทอง ก็จะใส่รายละเอียดอะไรมากมายเพื่อที่จะให้ดูกัญชาว่าเป็นพืชที่ดูแลยากอะไรต่างๆ ทำให้มันมีค่า แต่จริงๆ เขาก็อยู่เองได้ในธรรมชาติ พันธุ์หางกระรอกภูพาน เขาเป็นพืชพื้นเมืองบ้านเรา ถือว่ามีรสชาติที่ดีในโลกในแง่สันทนาการ ส่วนเรื่องราคาตอนนี้อยู่ที่ต้นละ 150 บาท แต่ถ้าถามส่วนตัวมองว่าต้นละ 50 บาทก็รวยแล้ว




129 views
bottom of page