
ถามหาอิสรภาพแบงก์ชาติ
ในภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศเผชิญกับสถานการณ์โควิดและการปรับคณะรัฐมนตรี การสรรหาผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่เลยไม่ได้เป็นประเด็นที่สังคมจับตามองอย่างใกล้ชิด
ทำไมคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการแบงก์ชาตที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ เป็นประธาน จึงกล้าท้าทายกฎหมาย เลื่อนการสรรหาฯ ออกไปได้ถึงสองครั้ง เสมือนหนึ่งมีใครจงใจรอ “ใบสั่ง” การเมืองจากรัฐบาลที่กำลังเจอภาวะฝุ่นตลบในการปรับคณะรัฐมนตรี เหมาะควรแล้วหรือที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะแหกกฎและเปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกสถาบันหลักที่กำหนดนโยบายการเงิน และดำเนินการตาม พ.ร.ก. สองฉบับที่มีวงเงินสูงถึง 9 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและผู้ออกหุ้นกู้???
ท้าทาย พ.ร.บ. แบงก์ชาติ???
พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ได้รับการแก้ไขหลายครั้งให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ในการแก้ไขครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการแก้ไขและกำหนดที่มาของผู้ว่าการ ธปท. และกระบวนการสรรหาในมาตรา 28/14 โดยมีวัตถุประสงค์ให้การได้มาของผู้ว่าการ ธปท. โปร่งใส ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
ในมาตราดังกล่าว กำหนดให้ รมว.คลังตั้งคณะกรรมการคัดเลือก (โดยใช้ ม. 28/1 เป็นเกณฑ์) ที่ประกอบด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกษียณจากหน่วยงานทางเศรษฐกิจสำคัญ ดำเนินการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายเสนอต่อ รมว.คลัง เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาและทูลเกล้าฯ เสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งต่อไป
ม. 28/14 วรรคสาม ระบุเงื่อนเวลาไว้ชัดเจนว่า “การแต่งตั้งผู้ว่าการเพื่อดำรงตำแหน่งตามวาระให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคสอง (ม. 28/14 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ 2 รายชื่อ) ต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน” หมายความว่า ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะครบวาระวันที่ 30 กันยายนศกนี้ หากนับย้อนขึ้นมา 90 วัน จะเป็นวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการคัดเลือกต้องมีข้อสรุปคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ 2 รายชื่อ เสนอ รมว.คลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
แต่คณะกรรมการคัดเลือกได้มีมติขยายเวลารับสมัครออกไปถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 และมีมติเลื่อนวันสัมภาษณ์ออกไปอีกครั้งอย่างไม่มีกำหนด?!?
จึงมีคำถามถึงท่านประธานฯ รังสรรค์และกรรมการผู้ทรงเกียรติอีก 6 ท่านว่า มีเหตุอันควรประการใดที่ฝ่าฝืน ม. 28/14 วรรคสาม โดยตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาคัดเลือกออกไปถึงสองครั้งด้วยเหตุผลที่ต่างกัน
เหตุผลเพียงพอที่จะทำผิดกฎหมายหรือ
คณะกรรมการฯ เลื่อนวันสัมภาษณ์ครั้งแรกในวันที่ 29 มิถุนายนออกไป และขยายเวลาเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม โดยอธิบายว่าผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้นในขณะนั้นมี 4 ราย ไม่หลากหลายพอกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เผชิญกับโควิดในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่มีผู้สมัครจากภายใน ธปท. ที่เป็นรองผู้ว่าการ ถึง 2 ท่านที่ดูแลนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน และผู้สมัครภายนอกอีก 2 ราย
ภายหลังจากที่ขยายเวลารับสมัครจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม และเลื่อนวันสัมภาษณ์เป็นวันที่ 21 กรกฎาคม ก็มีผู้สมัครจากภายนอก ธปท. อีกสองราย ได้แก่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการ กนง. ของแบงก์ชาติ
ต่อมาปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจเลื่อนวันสัมภาษณ์ออกไปไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าผู้สมัครบางรายอาจมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน จึงต้องให้เลขานุการฯ ตรวจสอบให้รอบคอบ ประเด็นคือ หากผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ก็ไม่ควรมีสิทธิ์สัมภาษณ์อยู่แล้วและอย่างน้อยผู้สมัครจากภายใน ธปท. 2 ท่านก็มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงพออยู่แล้ว
ทำไมคณะกรรมการฯ ถึงเลือกที่จะท้าทายกฎหมาย โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ธปท. ม. 28/14 วรรคสาม อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความเป็นกลางและอิสรภาพในการสรรหา และป้องกันไม่ให้การเมืองมาแทรกแซงในกระบวนการดังกล่าว
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือไม่?
นับแต่มีการแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการตาม ม. 28/14 ดังกล่าวมาแล้วสองครั้ง คือในปี พ.ศ. 2553 และ 2558 กระบวนการสรรหาฯ ทั้งสองครั้งดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยคณะกรรมการคัดเลือกทั้งสองชุดในอดีตได้ข้อสรุปรายชื่อเสนอ รมว. คลังและคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนกรกฎาคมของปีนั้นๆ (อย่างน้อย 90 วันก่อนที่ผู้ว่าการคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะครบวาระ ตามที่กำหนดใน ม. 28/14 วรรคสาม)
อย่างไรก็ดีการสรรหาฯ ในปีนี้ คาดว่าคณะกรรมการสรรหาฯ คงไม่สามารถเสนอรายชื่อ 2 คนต่อรมว.คลังได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. อย่างแน่นอน เพราะยังไม่ได้กำหนดวันสัมภาษณ์ใหม่แต่อย่างใด คล้ายกับจะรอให้เห็นชัดก่อนว่า ใครจะเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลังในการปรับ ครม. ภายหลังที่ ดร.อุตตม ลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง
ถามหาบทบาทผู้บริหารแบงก์ชาติ
ในการปกป้องการแทรกแซงทางการเมือง
คำถามถัดไป คงจะเป็นคำถามถึงผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ว่ามีความเห็นอย่างไรกับพฤติกรรมของคณะกรรมการคัดเลือกที่ท้าทาย ม. 28/14 จากการพยายามแทรกแซงองค์กรจากฝ่ายการเมือง คำถามนี้ส่งตรงถึงท่านผู้ว่าการ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่กำลังจะครบวาระในวันที่ 30 กันยายน และรองผู้ว่าการ นายเมธี สุภาพงษ์ และ นายรณดล นุ่มนนท์ ที่สมัครตำแหน่งผู้ว่าการในคราวนี้
หรือทั้งหมดต่างเห็นพ้องกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ได้คนคุ้นเคยหรือคนที่มาตามใบสั่ง ได้เป็นผู้ว่าการ สืบต่อจาก ดร. วิรไท ทั้งๆ ที่ต้องท้าทายและหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย (พ.ร.บ. ธปท.) ก็ตาม
ความสามารถส่วนบุคคล
หรือความถูกต้องตามกฎหมาย?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ประชาชนฝากความหวังไว้กับผู้กุมนโยบายทางเศรษฐกิจให้นำพาประเทศชาติหลุดพ้นจากการตกต่ำให้ได้มากที่สุดและฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับคืนมาดีขึ้นโดยเร็ว ซึ่งความสามารถส่วนบุคคลของผู้สมัครในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะเป็นแหล่งรวมนักวิชาการ และนักนโยบายชั้นแนวหน้า อีกทั้งการทำนโยบายเศรษฐกิจก็ควรร่วมงานกันทำเป็นทีม หาใช่พึ่งพาความรู้และความสามารถของผู้ว่าการ เพียงท่านเดียวแต่อย่างใด
อีกทั้งความน่าเชื่อถือขององค์กรมาจากความโปร่งใสในกระบวนการทำนโยบายและการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบงก์ชาติมีกฎหมายกำหนดให้มีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการที่โปร่งใสและดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
คำถามคือ ควรแล้วหรือที่คณะกรรมคัดเลือกฯ จะท้าทายและเจือจางเจตนารมณ์ของกฎหมาย ควรแล้วหรือที่ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม นั่งนิ่งดูดายให้องค์กรถูกการเมืองแทรกแซงแบบไม่รู้จบ!
Comentarios