top of page
379208.jpg

รร.การบินกรุงเทพเจอศึกหนัก...COVID-19 ทำรายได้และนักเรียนหาย


โควิดดับฝัน ดับอนาคต ธุรกิจการเงิน-นักบิน นาทีนี้ไม่ต้องถามว่าสบายดีหรือไม่ รู้แค่ว่ายังหายใจอยู่ก็พอ โรงเรียนการบินกรุงเทพโดนกระทบเต็มๆ หลังรุ่งเรืองมาตลอด 18 ปี มีนักเรียนอย่างน้อยปีละร่วม 300 คน ตอนนี้หดหายเหลือแค่ 20 คนที่เรียนใกล้จบหลักสูตร หลังจากนี้ได้แต่ลุ้นว่าจะมีใคร Walk in มาสมัครเรียนอีกหรือไม่ อีกทั้งต้องพับแผนเข้าตลาดหุ้นทั้งๆ ที่ผ่านมาเกือบครบทุกขั้นตอน เหลือเพียงการทำ IPO ที่กำหนดไว้ในช่วงต้นปี 63 แต่เกิดโควิดระบาด ทำรายได้หายวับจากกำไรปีละกว่าร้อยล้าน กลายเป็นขาดทุน 70 ล้าน ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์การเข้าตลาดหุ้น รอลุ้นใหม่อีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ยังมั่นใจว่าในที่สุดธุรกิจการบินของไทยจะกลับมาแจ่มใสอีกครั้งถ้ารัฐบาลบริหารจัดการรับมือวิกฤตโควิดได้ดีกว่านี้ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนและนโยบายเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยืดหยุ่นภายใต้มาตรฐานสาธารณสุขที่ดีพอ


Interview : นาวาอากาศโท ปิยะ ตรีกาลนนท์ (กัปตันปิยะ) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด

(Bangkok Aviation Center : BAC หรือ โรงเรียนการบินกรุงเทพ)


เคยเจออะไรที่หนักกว่าโควิด-19 นี้หรือไม่

ไม่เคยเจอเลย ในช่วงนี้เพื่อนๆ ที่เป็นผู้มีอาชีพเกี่ยวกับการบิน เดินสวนกันคุยกัน ก็จะบอกว่าอย่าถามเลยว่าสบายดีหรือไม่ ให้แค่พยักหน้าก็พอ ให้แค่รู้ว่ายังหายใจอยู่ ก็พอ


ตอนนี้ยังมีนักเรียนไปเรียนเรื่องการบินอยู่หรือไม่

ยังโชคดีที่ยังมีนักเรียนอยู่ เพราะธุรกิจเป็นโรงเรียนการบิน การจะฝึกนักบินหนึ่งคน กว่าจะจบอีกทีก็ 15 เดือนข้างหน้า นั่นหมายความว่าในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤตลูกค้าที่ยังอยู่คือยังเรียนไม่จบ ส่วนใหญ่ก็จะยังเดินหน้าต่อเพราะลงทุนแล้ว และตั้งใจแล้วที่จะเรียน นักเรียนส่วนนี้ก็ยังเดินหน้าต่อ ทำให้ตัวบัญชียังมีโมเมนตัมที่จะมีรายได้ ในส่วนของลูกค้าที่ยังค้างรอบอยู่ แต่ว่าโควิด-19 ก็ผ่านมา 20 เดือนแล้ว เท่ากับว่าลูกค้าที่เคยค้างท่ออยู่ ก็ต้องบอกว่าจบกันไปหมดแล้ว

ถามว่าจากนี้ไป ยังจะมีนักเรียนใหม่ๆ เข้ามาหรือไม่ ซึ่งเดิมเราจะมีลูกค้า 3 กลุ่ม กลุ่มแรกที่เราได้รับผลกระทบ 100% ก็คือกลุ่มที่สายการบินส่งเข้ามา ก็คือบริษัทการบินไทย บริษัทไทยสมายล์ แอร์เอเชีย ทั้ง 3 สายการบิน เดิมทีส่งเข้ามาปีหนึ่งก็ครึ่งโรงเรียนประมาณ 150 คนต่อปี แต่ว่าพอเกิดวิกฤต ทางแอร์เอเชียก็ขอหยุดทั้งหมด แต่ที่ฝึกอยู่ก็ฝึกกันต่อไป แต่สำหรับการบินไทยจากที่มีปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาคือล้มละลายด้วยตั้งแต่ต้นปี 2563 ก็ทำให้นักเรียนในส่วนที่การบินไทยให้ทุนเรียนต้องหยุดเลย ไม่ว่าจะเรียนมาครึ่งทาง หรือมา 70% ของการเรียน ก็ต้องหยุดหมดเลย ทำให้ต้องขาดรายได้ในส่วนนี้ไป

ส่วนกลุ่มที่สอง คือนักเรียนที่เข้ามาเรียนด้วยทุนส่วนตัว คือพ่อแม่เป็นสปอนเซอร์ ตรงนี้คือ 30% ของโรงเรียน กลุ่มนี้ก็หายหมดเลย นักเรียนมองว่าถ้าเรียนช่วงนี้ และอีก 15 เดือนต่อมาถ้าโควิด-19 ยังไม่หาย โอกาสที่ไปสมัครงานก็ค่อนข้างยาก กลุ่มนี้ก็หายไปเกือบทั้งหมดเหมือนกัน

ตอนนี้ก็เหลือกลุ่มสุดท้ายคือนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์ นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตรกับเรา คือมหาวิทยาลัยเอแบคและมหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มนี้เราโชคดีที่ว่า เด็กกลุ่มนี้ตัดสินใจเรียนปี 1 ปี 2 แล้ว พอเรียนปี 3 ปี 4 ก็มาเรียนที่เรา กลายเป็นว่าที่เขาเริ่มเรียนมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ถึงเวลาเขาต้องเรียนต่อ เพราะเขามีเป้าหมายทั้งปริญญาตรีใบอนุญาตขับขี่นักบินพาณิชย์ด้วย กลุ่มนี้ยังอยู่ในท่อ คือยังเข้ามาเรียนตามปกติ และปีหน้าก็จะจบแล้ว

ถ้าถามว่าลูกค้าหายไปกี่เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของแอร์ไลน์หายไป 50% ซึ่งจากลูกค้าเรา 100% ตรงนี้สัดส่วน 50% คือกลุ่มนี้หายไปทั้งหมด และที่ยังเหลืออยู่คือลูกค้ากลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มมหาวิทยาลัยสัดส่วน 20% ถามว่าปี 2563 และกลางปี 2564 มีลูกค้าใหม่เข้ามาหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าจาก 100 คน เข้ามา 25-30 คน


ถึงตรงนี้ ถ้าใครมีลูกหลาน ยังควรส่งมาเรียนการบินหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากที่เกิดโควิด-19 ขึ้น

ตรงนี้ ตอบตรง คือเราไม่โฆษณา ซึ่งมันจะมีโอกาสของมัน ส่วนตัวทำธุรกิจนี้มา 18 ปี กัปตันนกแอร์ตบเท้า ลาออกพร้อมๆ กัน ในวันนั้นมีเด็กๆ มาสมัครเรียนที่เรา 300 คน คือภายใน 1 ปี มีคนมาสมัครเรียน 300 คนหลังจากเกิดวิกฤตนกแอร์ แต่วันนี้มาสมัครเรียน 20 คนถือว่าสุดแล้ว ถามว่าในวันที่คุณแย่งกันเข้ามาเรียน 300 คน โอกาสที่คุณจะได้งานทำตอนเรียนจบ 15 เดือน มากน้อยขนาดไหน แต่ในขณะเดียวกันการที่คนเกี่ยงกันบอกว่าไม่น่าเรียนในช่วงนี้ 15 เดือนจากนี้ไป หางานทำไม่ได้แน่ๆ กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่มีใครมาเรียนหนังสือ อาจจะมี 20-30 คนที่เข้ามาเรียน ถามว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ถ้าดีมานด์มันกลับเข้ามา จะไม่มีซัพพลายเลย เพราะไม่มีคนไหนกล้าตัดสินใจเรียนในวันนี้เลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอีก 15 เดือนข้างหน้าจะมีดีมานด์มาจริงๆ ตรงนี้ส่วนตัวคาดเดาไม่ได้ เพราะโควิดมันมีหลายสายพันธุ์มาก ไม่รู้ว่าจะไปจบในช่วงไหน


คิดว่าธุรกิจนี้ จะกลับมารุ่งเรืองอีกหรือไม่

วันนี้ยืนยันได้ว่ามันต้องกลับมาอยู่แล้ว 100% เหตุผลคือประจักษ์พยานในโลกของเรา บางท่านเข้าใจผิดคิดว่านักบินแค่ไปนั่งขับเครื่องบิน มีเอาไว้ให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เอาขึ้นเอาลง ซึ่งจริงๆ ต่อไปเครื่องบินจะเหมือนรถยนต์ ไม่ต้องมีคนขับแล้ว แต่ส่วนตัวถามว่า มันเป็นไปได้หรือไม่ที่เครื่องบิน 1 ลำ บรรจุผู้โดยสาร 500 คน ไปกันเองโดยที่ไม่มีผู้บังคับอากาศยาน ทุกวันนี้กัปตันไม่ได้ทำหน้าที่แค่ขับเครื่องบินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา แต่ต้องมีมนุษย์เข้าไปควบคุมเพื่อสแตนด์บายให้ผู้โดยสารมั่นใจว่าอย่างน้อยที่นั่งอยู่ ยังมีกรรมการอยู่ 2 คนข้างหน้า คอยควบคุมอากาศยานอยู่ ฉะนั้นดิสรัปชันตัวเครื่องบินเองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งจากยุโรปเข้ากรุงเทพฯ ได้ในเวลา 12-15 ชั่วโมง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แต่ถ้าตราบใดยังเดินทางทางอากาศกันอยู่ มันหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ตัวนักบินอยู่แล้ว คิดว่าอย่างไรก็ต้องกลับมา เพราะเครื่องบินที่จอดอยู่เต็มลานจอด วันหนึ่งมันต้องใช้ เพราะวันนี้ผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยว เอาเฉพาะประเทศไทยปีละ 60 ล้านคน ไม่ได้เดินทางมาทางเรือสำราญ และไม่ได้เดินทางมาโดยรถทัวร์ และไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งในประเทศไทย สุดท้ายก็ต้องพึ่งพาอากาศยาน


ในวิกฤตครั้งนี้รัฐบาลควรหยิบยื่นความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินต่างๆ อย่างไรดี

ตรงนี้เกินความสามารถจริงๆ เพราะส่วนตัวนั่งตีลังกาคิดแล้วก็ต้องยอมรับว่า เจ้าหนี้เองถ้าเห็นว่าลูกหนี้ในอนาคตยังไม่สตรอง ประกอบกับไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โอกาสเรื่องเงินกู้ คงไม่มีใครกล้าเอามือเข้ามายื่นรับผิดชอบหรือรับประกันหนี้ แต่อยากตั้งข้อสังเกตเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเงิน ถ้าถามว่าอยากจะแนะนำอะไรรัฐบาล ก็ไม่กล้าที่จะใช้คำแนะนำ แต่ว่าก็อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้เรายังไม่มีแผนที่จะรองรับในวันที่ประเทศอื่นๆ เขาเริ่มได้รับวัคซีนกันเพียงพอแล้ว เขาเกิดความมั่นใจว่าคนในชาติของเขาพร้อมที่จะเผชิญกับการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าโรคนี้ยังไม่มียารักษา และวัคซีนตัวนี้ไม่ได้ป้องกัน แต่วัคซีนได้แค่บรรเทาเฉยๆ คือฉีดวัคซีนแล้วยังติดได้เหมือนเดิม

ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเขาบอกว่าเขาพอแล้วกับการที่อดทนปิดประเทศ และพร้อมจะเปิดประเทศ อันเนื่องมาจากเขามีเหตุผลว่าประชาชนของเขาได้รับภูมิคุ้มกันแล้ว ถ้าจะต้องติดเชื้อก็คือเจ็บป่วย แต่ไม่ถึงขนาดเสียชีวิต ถ้าวันนั้นมันมาถึง ส่วนตัวอยากจะฝากรัฐบาลว่า เราจะเตรียมตัวรับมือกับการจะเปิด Quarantine แบบ 15 วัน แบบ 12 วัน แบบ 7 วัน กันอยู่อีกหรือไม่ เพราะถ้าทำแบบนั้นการท่องเที่ยวมันไปต่อไม่ได้ เฉพาะเข้ามาต้องมาอยู่ในที่กักกัน 14 วัน นักท่องเที่ยวบอกว่าปกติเที่ยว 15 วัน ก็กลับบ้านแล้ว


ช่วงก่อนหน้านี้จะเอาโรงเรียนการบินเข้าตลาดหุ้น ตอนนี้ยังมีแผนเดินหน้าต่อหรือพักก่อน

จริงๆ เรานับ 1 ถึง 10 เข้าตลาด เรานับมาถึงเลข 9 แล้ว คือขาดเฉพาะ IPO อย่างเดียว คือผ่านเกือบหมดแล้ว เหลือไทม์ไลน์ว่าจะ IPO วันไหน และพอดีช่วงที่เรายื่นไฟลิ่ง เราได้รับตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปี 2562 และตั้งใจว่าเราจะขอใช้สิทธิ์ภายใน 6 เดือนจะต้อง IPO ก็คือต้นเดือนต้นปี 2563 แต่บังเอิญปี 2563 ที่เราจะ IPO เกิดมีวิกฤตโควิด-19 มาพอดี ก็ต้องบอกว่าปี 2562 Net Profit อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าล้านบาท เข้าใจว่าเข้าปี 2563 Net Profit น่าจะ 150 ล้านบาท ปรากฏว่ามีปัญหาโควิด-19 ขึ้นมา ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมารายได้ไม่เข้าตามเป้า และรายจ่ายก็ยังเป็นรายจ่ายเต็มๆ อยู่ ก็ทำให้เราขาดทุนไปในปีที่แล้ว จากที่กำไรต่อเนื่องมา 5 ปี โดยปี 2562 ได้มา 120 ล้านบาท ปี 2563 กลับมาเป็นขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท

ถ้าถามว่าจะเดินหน้าต่อใน IPO หรือไม่ ก็จะต้องกลับมานั่งมองต่อว่า เกณฑ์ในการเข้าตลาดหุ้นคือจะต้องอยู่ในเกณฑ์ 3 ปี มีกำไร 50 ล้านบาท คิดว่าคงจะต้องมานั่งทบทวนใหม่ อีกสัก 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะกลับเข้ามาอีกครั้ง



60 views

Comentários


bottom of page