Interview: ดร.นรุตน์ จีระมะกร ผู้อำนายการฝ่ายวิจัยธุรกิจการบิน สายการบินนกแอร์
นักวิจัยการตลาดธุรกิจสายการบินชี้...หลังโควิด-19 เริ่มซา ธุรกิจสายการบินต้องเหนื่อยหนักอีกอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะพลิกฟื้นมาดีได้ แต่จะไม่ดีเท่าเดิม 2-3 เดือนหลังผ่อนคลายมาตรการ ลูกค้าจะกลับมาบิน 30% จากนั้นจะทยอยเพิ่มเป็น 50% และเต็มที่คือ 70% ผู้ใช้บริการกลุ่มแรกคือผู้โดยสารที่มีธุระส่วนตัว ตามมาด้วยลูกค้ากลุ่มทำงาน-นักธุรกิจ ส่วนลูกค้ากลุ่มท่องเที่ยวโดยเฉพาะท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเดินทางหลังสุดด้วยความถี่ที่น้อยลง หลังจากนี้ ทุกสายการบินจะลงจากหลังเสือ เลิกแข่งขันการตัดราคาอย่างสิ้นเชิง ขณะที่บางสายการบินต้องเลิกกิจการ และสายการบินที่ถือเงินสดน้อยคือผู้แพ้ในตอนนี้ พร้อมแสดงความเห็นอุ้มการบินไทย ได้ไม่คุ้มเสีย อย่ายึดติดแค่ความเป็นสายการบินแห่งชาติ ควรนำเงินไปแก้ปัญหาของประเทศที่รุมเร้า-กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่จะดีกว่า
ธุรกิจสายการบินหลังเจอปัญหาโควิด-19 จะเป็นอย่างไรจากนี้
สำหรับในประเทศไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดในมุมมองผู้ประกอบการ ที่ยังสงสัยซึ่งตอนนี้ไม่มีคำตอบคือดีมานด์จะกลับมาเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระเบียบของทางราชการทุกอย่างจะต้องทำตามที่ราชการกำหนด เช่น กำหนดห้ามนำอากาศยานเข้าออกประเทศ การจำกัดการเข้าออกของต่างชาติหรือชาวไทยเอง เรื่องเคอร์ฟิว และเรื่องอะไรต่างๆ เป็นการตอบสนองว่า รัฐออกอะไรมา เราจะทำตาม สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ดีขึ้นคือถ้าสามารถออกเป็นแผนได้ในระยะยาว
ประเด็นก็คือว่า ถ้าภาครัฐอนุญาตเมื่อไหร่ เราก็พร้อมไปเมื่อนั้น แต่สิ่งที่เราต้องคิดควบคู่กันไป คือดีมานด์จะกลับมาหรือไม่ ที่เราทำกันไว้ แต่ละสายการบิน เอาจริงๆ เลย เป็นการคาดเดาในระดับหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าดีมานด์ไม่กลับมาในเร็วๆ นี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเมื่อเรามองว่าทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลง กลุ่มผู้โดยสารแรกที่จะกลับมาก่อนคือผู้โดยสารที่กลับบ้านไปเยี่ยมญาติ แล้วก็กลุ่มผู้โดยสารที่ไปทำธุระ สิ่งที่จะตามมาสุดท้ายคือกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความมั่นใจในการเดินทาง ที่สำคัญก็คือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เพราะอย่างน้อยในประเทศยังเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่การเดินทางข้ามประเทศ ตอนนี้เราจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศ มีการยกเลิกวีซ่า ห้ามคนเข้าออก ดังนั้น การเดินทางระหว่างประเทศจะตามมาหลังสุดเลย
แต่ประเทศไทยเรา การเดินทางในประเทศจะมีเสมอ เช่น ลูกค้าที่เดินทางมาพบแพทย์ คุณแม่มาเยี่ยมลูก เราจะเห็นดีมานด์เหล่านี้กลับมาก่อน ส่วนตัวคิดว่า ช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลายมาตรการ เราอาจจะเห็นดีมานด์หรือลูกค้ากลับมาสัก 30% แล้วอาจจะขึ้นไป 50% และ 70% คงยังไม่มีทางกลับมา 100% ได้ทั้งหมด
อีกเรื่องหนึ่งคือเดิมการแข่งขันในธุรกิจสายการบินมีสูงอยู่แล้ว ก็เป็นช่วงที่ดีที่เราจะได้ลงจากหลังเสือ จริงๆ ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ก็มีปัญหาเรื่องโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้ว คือเที่ยวบิน ราคาค่าตั๋วเครื่องบิน เราจะเห็นว่า 20 ปีที่แล้ว บินไปเชียงใหม่ 3,000 กว่าบาท ปัจจุบันเราซื้อได้ 2,000 กว่าบาท ค่าตั๋วเครื่องบินถูกลง ปัจจัยหนึ่งคือมีปัญหามาจากเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย ดังนั้น ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่า น่าจะมีสายการบินบางสาย ผู้ประกอบการบางรายที่เลิกกิจการไป ปัจจัยคือใครมีเงินสดมากกว่ากัน คนที่มีเงินสดน้อยกว่านั่นคือผู้แพ้ในตอนนี้
ทีนี้ ก็เป็นที่มาของสายการบินในไทย หรือสายการบินของต่างชาติด้วย ที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วย เช่น เงินกู้ฉุกเฉินหรืออะไรทำนองนี้ ก็มีการขอกันไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะสายการบินเป็นธุรกิจที่มีแต่ปัจจัยภายนอก ไม่มีอะไรที่คุมได้เลย เช่นราคาน้ำมัน พวกค่าเช่าเครื่องบิน การซื้อเครื่องบินทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นดอลลาร์สหรัฐเกือบทั้งหมด มีปัญหาเรื่องดีมานด์ เกี่ยวกับการเมือง โรคระบาด ท่องเที่ยว เศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรที่ควบคุมได้ จึงเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างยากนิดนึง
ในเมืองไทย มีอยู่รายหนึ่งที่ได้รับผลกระทบน้อย นั่นคือบางกอกแอร์เวย์สส ข้อดีของเขาคือเขามีสนามบินสมุย มีสนามบินตราด มีสนามบินสุโขทัย ซึ่งทั้งหมดเป็นสนามบินที่เขาเป็นเจ้าของเอง ดังนั้น เขาสามารถผูกขาดได้ เราจะเห็นว่าการบินไปเกาะสมุย 45 นาที ค่าตั๋ว 8,000-9,000 บาท ในขณะที่เชียงใหม่ บินชั่วโมงกว่าค่าตั๋ว 700-800 บาท ตัวนี้จะเป็นตัวหนึ่งที่บางกอกแอร์เวย์สส ได้เปรียบคนอื่น
หลังจากนี้ ค่าตั๋วเครื่องบินจะเป็นอย่างไร
คิดว่าระยะแรกจะไม่แพง เพราะช่วงคลายมาตรการใหม่ๆ คนจำเป็นต้องเดินทาง ช่วงที่จำเป็นจะต้องเดินทางค่าตั๋วจะขึ้นมานิดนึง แต่หลังจากนี้คิดว่ามันเป็นเขาลงไปอีกพอสมควรเลย เพราะใครก็ตามที่เดินทางไปแล้ว มีธุระที่ต้องสะสาง ก็สะสางเสร็จไปแล้ว หลังจากนี้ เขาก็พยายามจะเก็บออม มันก็จะมีส่วนต่างๆ เช่น เราจะเห็นว่ามีหลายคนตกงาน ลดเงินเดือน กลุ่มเหล่านี้ถ้ามีธุระอะไร เขาถึงจะเดินทาง แล้วหลังจากนี้จะเก็บออม คนที่อยากไปเที่ยว สมมุติว่าปีนี้อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ไปญี่ปุ่น หลังจากนั้น ก็เก็บเงินต่อ ส่วนที่สองก็คือส่วนของนักธุรกิจ พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ วงการธุรกิจทุกอย่างไปหมด สิ่งแรกคือการตัดงบประมาณในการเดินทาง ดังนั้น ในปีนี้เชื่อว่างบเดินทางของบริษัทต่างๆ หายไป ไม่ว่าทั้งเหตุผลทางด้านสุขภาพ และเหตุผลทางด้านผลประกอบการ
ดังนั้น ระยะยาวน่าจะเหนื่อย ส่วนตัวมองว่า 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย จึงน่าจะกลับมา
ดังนั้น อย่าได้ตั้งความหวังไว้สูงกับการกลับมาของสายการบิน
ใช่ แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าราคาจะแพงขึ้นมาก อย่างกรณีการเว้นที่นั่ง โอเคการที่เราจะสามารถขายที่นั่งได้น้อยลงถึงจำนวน 1 ใน 3 ก็จริง แต่เราก็รู้อยู่ดีว่าต่อให้อนุญาตให้ขายหมดทุกที่นั่งก็อาจจะไม่มีคนซื้อหมดก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น เลยมองว่าราคาค่าตั๋วอาจจะไม่ได้แพงขึ้นมาก ภาระก็ไปตกอยู่กับสายการบิน
อย่างเช่าเหมาลำ จะเป็นอย่างไร
เช่าเหมาลำของประเทศเราที่ผ่านมาเราพึ่งตลาดเมืองจีน เราก็ต้องดูเหมือนกันว่า นโยบายการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้นทุกอย่างอยู่ที่นโยบายล้วนๆ
เรื่องระเบียบจากทางการที่อาจจะยุ่งยากมากจากนี้ จะเป็นอย่างไร
ตอนนี้ระเบียบราชการ ถ้าพูดถึงในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการ สั่งซ้ายหรือขวา เราก็ต้องทำทั้งหมด แต่ตอนนี้ที่เราอยากได้คือการซัพพอร์ตเรื่องเงินกู้ แต่เรื่องเงินกู้ ส่วนตัวก็คิดว่ามันก็ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะในแง่หนึ่งพูดกันตามตรงแบบแฟร์ๆ คือทุกคนเดือดร้อนหมด รัฐบาลเองก็ต้องมองด้วยว่าว่ามีความจำเป็นในระดับไหน มากแค่ไหน อย่างไร
อย่างกรณีเรื่องการบินไทย ที่ว่ารัฐบาลควรอุ้มหรือไม่ควรอุ้ม ก็จะมีเหตุผลต่างๆ นานา เช่นถ้าเราจะว่ากันตามตรง การดูแลสายการบินแห่งชาติ เราต้องถามก่อนว่า เราจำเป็นจะต้องมีสายการบินแห่งชาติหรือเปล่า คำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมี 2 มุม คือสายการบินแห่งชาติ โดยปกติเขาจะมีบทบาทหนึ่งคือเชื่อมโยงการคมนาคมของคนในประเทศ และเราจะเห็นว่าการบินไทยมีเส้นทางบินในประเทศ 3 เส้นทาง คือเชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ถ้าไม่มีการบินไทยอยู่ตรงนี้ สายการบินโลว์คอสต์บินไปเมืองอื่น 20 กว่าเมืองหมดแล้ว ถ้าการบินไทยหายไป หรือสายการบินแห่งชาติหายไป ไม่มีผลกระทบมากนัก
บทบาทที่สองของสายการบินแห่งชาติคือการเชื่อมโยงไทยกับโลก เพราะไม่ว่าในแง่ส่งเสริมการลงทุน ส่งออกนำเข้าสินค้า นำนักท่องเที่ยวต่างๆ นานา โอกาสตรงนี้เองก็จะมีคำถามที่จะต้องคิดเหมือนกันว่า ทุกวันนี้ เส้นทางที่การบินไทยบินอยู่ มีเส้นทางไหนบ้างที่ไม่มีคู่แข่ง ถ้าเกิดไม่มีการบินไทยปุ๊บ จะไม่มีการบินตรง ทำให้เดินทางยากขึ้น ก็มีตัวอย่างไม่กี่เมือง เช่น มีที่ออสโล นอร์เวย์ ที่มิลาน ที่โรม แล้วก็มีอีก 3-4 ที่ ซึ่งส่วนใหญ่พวกนี้ไม่ใช่เมืองหลักสักเท่าไหร่นัก
เพราะฉะนั้น เราก็เลยต้องถามว่า เม็ดเงินที่เราจะมาช่วย มันจะคุ้มค่ากับของพวกนี้หรือไม่ ตรงนี้ก็แล้วแต่ทุกท่านคิด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือสายการบินแห่งชาติระยะยาวมันอยู่ได้หรือไม่ในแง่โมเดลธุรกิจ มันค่อนข้างลำบาก ถ้าเราคิดเล่นๆ ก็คือทุกวันนี้ ถ้าใครจะบินระยะไกลอย่างยุโรป ถ้าเราบินไปตะวันออกกลาง ค่าตั๋วถูกมาก ถ้าขึ้นการบินไทยราคาก็ขึ้นไปอีก 50% เพราะฉะนั้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็จะมองราคา ถ้าเราจะบินระยะไกลไปตะวันออกกลาง เช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ กาตาร์ แล้วพอจะบินใกล้ๆ คนก็จะมองหาโลว์คอสต์ เพราะเห็นว่าบินชั่วโมงสองชั่วโมงทำไมเราต้องจ่ายแพง
ฉะนั้นการบินไทยต้องแก้โจทย์ตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นมันยาก ถ้าจะเอาเงินภาษีของประชาชน คงจะไม่คุ้มเท่าไหร่ คือต้องมีโจทย์ว่า มีการบินไทยไว้เพื่ออะไร คือถ้าตอบตรงนี้ได้ แล้วบอกว่าเงินที่กู้มามันคุ้มก็โอเค แต่ในมุมส่วนตัวคิดว่าเงินที่เราจะต้องเสียไปกับสิ่งที่ได้กลับมา มองว่ายังไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ คือเราพูดในฐานะที่เราทำงานสายการบิน คือก็บอกตามตรงว่าไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องช่วยนกแอร์ รัฐบาลก็ต้องมองก่อนว่า แต่ละสายการบิน ใครควรจะอยู่ ใครควรจะไป ตรงนั้นก็เข้าใจ เพราะการเข้าไปอุ้มเป็นเงินมหาศาล และเรามีภาระที่ต้องใช้จ่ายเยอะมากในประเทศ
Comments