top of page
312345.jpg

ธุรกิจการบินแก้เกมส์...ปรับตัวเป็น ULTRA LOW COST


Interview : คุณนรุตน์ จีระมะกร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจการบิน บมจ.สายการบินนกแอร์


เที่ยวบินในไทยผู้โดยสารยังโหรงเหรง เหตุจากมีข้อกำหนดให้คนเดินทางต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม บางจังหวัดยังมีมาตรการกักตัว ทำให้เกิดความสับสนในการเดินทาง ต่างจากเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรปที่หลายสายการบินเริ่มกลับมาทำกำไร แจง...ผลกระทบจากโควิดจะทำให้สายการบินหลายแห่งต้องม้วนเสื่อกลับบ้านหรือต้องควบรวมเพื่อความอยู่รอด เพราะมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย คือมีสายการบินมากเกินไปแต่ โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ จะยังคงอยู่โดยจะเปลี่ยนเทรนด์เป็น อัลตรา โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารน้อยลง เก็บค่าบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเช่นค่ากระเป๋า ส่วนการตลาดในยุค New Normal ทุกสายการบินต้องแก้โจทย์ที่ลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจเดินทางน้อยลง เพราะเริ่มชินกับการติดต่อ การประชุมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยต้องหาลูกค้ากลุ่มใหม่เช่นลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กัน มั่นใจ...อนาคตธุรกิจการบินไทยยังไปต่อได้ แต่ภาครัฐต้องทันเกม มีมาตรการและแผนล่วงหน้าที่ชัดเจนเช่นมาตรการเปิดประเทศ เพื่อให้สายการบินสามารถปรับแผนงานต่างๆ ได้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง


ธุรกิจสายการบินยังมีอนาคตอยู่หรือไม่

ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกสายการบินในประเทศ ช่วงเดือนกันยายนนี้บอกเลยว่ายังหนักอยู่ ถึงแม้เราจะเริ่มทำการบินได้ที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมา ซึ่งจำนวนผู้โดยสารถ้าเราพิจารณาดูตามสนามบินต่างๆ ยังไม่กลับมา โดยปัจจัยเรื่องของการเดินทาง คืออย่างน้อยผู้โดยสารต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม บางจังหวัดขอตรวจเพิ่ม บางจังหวัดแม้จะฉีดวัคซีนมา 2 เข็มแล้วก็ยังต้องกักตัวอยู่ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนในการเดินทาง คิดว่าต้องให้เวลาอีกสักพักโดยเฉพาะเดือนหน้าที่มีการปิดเทอม ความต้องการเดินทางโดยสายการบินน่าจะสูงขึ้น

ส่วนที่สอง คือการเดินทางไปต่างประเทศ ตอนนี้การเดินทางไปยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มกลับมาแล้ว กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ สายการบินของสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น ผลประกอบการช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาบางสายการบินเริ่มได้กำไรนิดๆ หน่อยๆ แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นภาพที่น่าหวัง แต่สิ่งนี้ถามว่าจะเกิดขึ้นที่เอเชียหรือยัง ตอบว่ายัง เพราะมาตรการเดินทางมาเอเชียมีความเข้มงวดมาก แล้วการเดินทางที่เราจะออกต่างประเทศได้ยังติด 2 ส่วน ไม่ใช่แค่ว่าเราเปิดแล้ว ต้องถามว่าเขาเปิดกับเราด้วยหรือไม่ ตรงนี้คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้รู้ว่าไปได้หรือไปไม่ได้


สรุปก็คือธุรกิจสายการบินยังมีอนาคต

ใช่ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือหน้าร้อนช่วงพีกของทางยุโรปเอง พอประเทศต่างๆ เริ่มคลายมาตรการ ดีมานด์การท่องเที่ยวเข้ามาสูงมาก เที่ยวบินราคาใช้ได้ สิ่งนี้ส่วนตัวคิดว่าจะเกิดในเอเชียเหมือนกันเมื่อมาตรการต่างๆ คลาย ทุกคนอัดอั้น เพราะฉะนั้นการเดินทางก็จะกลับมา ในช่วงแรกคิดว่าระลอกแรกคนจะเดินทางเยอะ แต่หลังจากนั้นมองว่าจริงๆ แล้ว ดีมานด์อาจจะลดลง เพราะคนเริ่มเก็บเงิน เพราะทุกคนได้รับผลกระทบระยะยาว

สิ่งที่สายการบินต้องทำโจทย์ให้ได้คือจะดึงลูกค้าธุรกิจกลับมาอย่างไร เพราะลูกค้าธุรกิจเริ่มชินกับการประชุมออนไลน์ผ่านซูมหรืออะไรต่างๆ นานา การเดินทางในเรื่องธุรกิจเริ่มลดลง และบริษัทต่างๆ ก็มีปัญหาในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งแรกที่จะหายไปคืองบการเดินทาง ดังนั้น เป็นสิ่งที่สายการบินต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ บางสายการบินเองก็จะมีว่าเราจะไปจัดการหากลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มไฮเอนด์ที่เป็นนักท่องเที่ยวดีหรือไม่ ซึ่งมันพอได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สายการบินต้องตระหนักไว้คือลูกค้าไฮเอนด์จริงๆ เขาก็เดินทางช่วงวันเฉพาะกลุ่ม จะมีไฮซีซัน โลว์ซีซัน อีกจุดหนึ่งที่สายการบินจะจับได้คือกลุ่มลูกค้าที่กลับบ้านเยี่ยมญาติ ประเทศเราลูกค้าครึ่งหนึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางไปต่างจังหวัด อีกครึ่งจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ ซึ่งก็จะมีมาหาลูกหาหลานต่างๆ นานา กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ติดเรื่องเสาร์อาทิตย์ ไม่ได้ติดวันหยุดราชการ อาจจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้


โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ก่อนหน้าเล่นสงครามราคา มาถึงตอนนี้ ยังไหวอยู่หรือไม่

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสายการบินที่เปิดใหม่ทั้งหมดทั้งโลกคือเทรนด์มาทางโลว์คอสต์ เพราะการบินที่บูมมากจะมาจากทางโลว์คอสต์ ส่วนที่สองคือกลุ่มผู้โดยสารคนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โลกเราโดยรวมมันก็รวยขึ้น จากเดิมที่คนนั่งรถบัส เริ่มมาจับต้องเครื่องบินได้ อย่างไรคนก็ยังสนใจโลว์คอสต์อยู่ ซึ่งธุรกิจโลว์คอสต์ แอร์ไลน์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มที่เรียกว่า อัลตรา โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ก็คือยิ่งกว่าโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ คือซื้อตั๋วที่นั่งจะได้ที่นั่งจริงๆ ส่วนกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องก็จะไซซ์เล็กลงไปอีก หรือแค่เป้ ถ้าใหญ่กว่านั้นต้องจ่ายเงินเพิ่ม ถ้าเราไปเช็กอินที่สนามบิน เขาจะคิดค่า print boarding pass จำนวนหนึ่งประมาณ 20 กว่าเหรียญหรือ 600 บาท ซึ่งโมเดลนี้มีใช้แล้วที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป แต่ยังไม่เข้าถึงเอเชีย แต่มันไม่แน่ว่าเราอาจเจอโมเดลนี้ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องดูไว้คือ จริงๆ แล้วก่อนเกิดเหตุโควิด-19 ธุรกิจการบินมีปัญหาเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย มีสายการบินเยอะมากเกินไป ส่วนตัวพูดตรงๆ เลยว่าเป็นไปได้ที่จะมีใครหายไปหลังจากนี้ ในวันหนึ่งๆ สายการบินใช้เงินในการบริหารจัดการเป็นสิบล้านบาท ยกตัวอย่างยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ช่วงโควิดแรงๆ เขาเสียเงินไปแล้ว 600 ล้านบาท ในไทยสำหรับโลว์คอสต์หมดเงินไปเป็นสิบล้านบาทเหมือนกัน ดังนั้น มันจะมีเรื่องของสายป่าน ต่างๆ นานาที่จะต้องคงไว้ แล้วแต่ละสายการบินที่ดำเนินการมา แต่ละสายยังไม่มีทางออก จึงคิดว่าคงต้องมีสูญหายไปบ้าง


สายการบินที่จะอยู่ได้หลังจากนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เรายินดีทำตามรัฐบาลสั่งทุกอย่าง แต่ว่าเราไม่มีเวลาเตรียมตัว ถ้าสายการบินมีเวลาเตรียมตัว เราจะบริหารจัดการได้ค่อนข้างดีกว่านี้ อย่างรัฐบาลสั่งห้ามผู้โดยสารนั่งกี่เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งลำ ส่วนนี้เราทำได้เพราะดีมานด์มันน้อยอยู่แล้ว แต่พอถึงจุดหนึ่งรัฐบาลเองต้องมองความจริงด้วยในหลายส่วน คือรัฐบาลห้ามบินเมื่อเดือนสิงหาคม จริงๆ มีผู้โดยสารหลายท่านที่ต้องมาฉีดวัคซีนที่กรุงเทพฯ ก็จะมีปัญหาตามไปด้วย ช่วงนี้ผู้โดยสารที่เดินทางทั้งหมดคือไม่มีใครเดินทางไปเที่ยวเล่น จริงๆ ต้องถูกมองด้วยซ้ำว่าเราเป็นระบบคมนาคมของประเทศ ส่วนเรื่องอนาคตเราจะทำตัวอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าเราพร้อม

อีกเรื่องที่อยากฝากรัฐบาล ตอนนี้ทั่วโลกจะมีวัคซีนพาสปอร์ตดิจิทัลที่ใช้กันได้แล้ว แต่เรายังไม่เห็นแนวทางนี้ในไทยเท่าไหร่ ตอนนี้เรามีวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นกระดาษอยู่ และเรามีตัวที่ add หมอพร้อม แต่ก็ยังไม่สอดรับกับการบินระหว่างประเทศ คิดว่าถ้าเขามองตรงนั้นด้วย ใช้ฟอร์แมตเหมือนกันทีเดียว ก็จะทำให้การตรวจเอกสาร การเดินทาง ไม่สับสน เพราะตอนนี้หลักๆ เลยที่ผ่านมาปีกว่าๆ คนเดินทางไม่แน่ใจว่าจะไปจังหวัดนี้จะโดนอะไร ไปจังหวัดนี้จะเกิดอะไรขึ้น เพราะความที่ไม่เป็นสแตนดาร์ดเดียวกัน แต่ก็เข้าใจว่าแต่ละจังหวัดระบาดต่างกัน


สายการบินที่อยู่ได้ จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ใช่ เราจำเป็นต้องพึ่งตลาดจีนกับอินเดีย ถ้าตราบใดจีนไม่ปล่อยนักท่องเที่ยวมาก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ตอนนี้สายการบินทุกสายรอทางนั้นอยู่ เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก


ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี เป็นอย่างไร

คือได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นชิ้นเป็นอันทุกสายการบินจะลงไปทางจีนหมด ซึ่งจีนลักษณะของผู้โดยสารจะเป็นบีทูบี เขาจะซื้อเป็นกรุ๊ป ฉะนั้นขายตั๋วค่อนข้างง่าย ขายทีจะเหมาลำ ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลี ซื้อตั๋วทีละ 2-3 ใบ ค่ามาร์เก็ตติ้งค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้นเวลาเปิดเมืองใหม่ สถานีใหม่ จะใช้ต้นทุนเยอะ แต่แน่นอนว่าทุกสายการบินในไทยมีเส้นทางญี่ปุ่นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มีเส้นทางเกาหลีอยู่แล้ว พร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติการใหม่ได้ อย่างเกาหลีที่เราเห็นเที่ยวบินจะไปที่กรุงโซล ปูซาน แต่ถ้าเป็นจีนเราจับเส้นทางที่มีประชากร 4 ล้านคนอัพ เอาจริงๆ คือบินได้เลย ค่อนข้างง่ายสำหรับสายการบิน แล้วก็ก่อนหน้าโควิดจะมาตลาดอินเดียจะแรงมาก แต่สิ่งที่มาแรงและจะเกิดขึ้นสิ่งนี้คือทุกสายการบินจะรู้ว่าไปเมืองจีนเมืองไหนก็ได้ ทุกคนก็แห่กันไป ก็เลยเกิดการแข่งขันทางราคา


ทุกสายการบินเกิดปัญหาเรื่องการเงิน เรื่องขาดทุน รัฐบาลควรจะต้องช่วยอย่างไร

ถ้าพูด อาจจะมีอคตินิดนึง เพราะพูดในฐานะสายการบินเอง โดยปกติถ้าเป็นไปได้สายการบินก็อยากได้เงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยต่ำ แล้วก็อยากจะเห็นมาตรการว่าเราจะเปิดประเทศแบบจริงจังเมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราเห็นทุกสายการบินทำคือลดการปฏิบัติการให้น้อยที่สุด ทุกสายการบินเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งบริษัทเช่าเครื่องบิน ค่าอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี แต่ทีนี้เราต้องใช้เงินที่หมุน ถ้ามีตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ แล้วถ้าเราเห็นนโยบายที่ชัดเจนก็จะทำให้เราเตรียมตัวได้ดีขึ้นค่อนข้างมาก


ทุกสายการบินหยุดบินมานาน แล้วถ้ากลับมาบิน จะมีปัญหาไหม

จะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือนักบินกับลูกเรือ เพราะส่วนนี้จะต้องมีการเทรนนิ่งให้บินได้อยู่ เหมือนต่ออายุใบขับขี่ ซึ่งมีนักบินบางส่วนต้องเทรนใหม่ ก็ต้องใช้เงินนิดนึง ส่วนเรื่องอุปกรณ์ เครื่องบินเอง หลายๆ สายการบินจะร่วมกันใช้ สมมุติว่าเรามี 10 ลำ ตอนนี้เราใช้ 3 ลำ ที่เหลือเอาไปจอดไว้ตามที่ต่างๆ พวกนี้ก็จะต้องนำเครื่องบินมาตรวจสภาพซ่อมบำรุงหลังจอดไว้นาน บางสายการบินต้องบินไปจอดที่ออสเตรเลียเลย เพราะว่าค่าจอดถูกกว่า

อีกเรื่องหนึ่งคือ พอสายการบินหยุดทำการบินไปนาน เวลาจะเปิดเส้นทางบินใหม่ บางเส้นอาจจะต้องขออนุญาตเส้นทางบินใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการ เรื่องเงินไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่เวลาเตรียมการสำคัญกว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยไม่น่ามีปัญหา ผู้ประกอบการทุกราย ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ต้องรู้เวลาล่วงหน้า อย่างเช่นตอนนี้สายการบินที่เราเห็นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมา เราก็เริ่มบินเมืองใหญ่ๆ อย่างหาดใหญ่ เชียงใหม่ วันละเที่ยว และที่อื่นสัปดาห์ละเที่ยวสองเที่ยว พอเราเห็นดีมานด์เริ่มมาแล้ว เดี๋ยวเราก็จะแทรกเที่ยวบินเพิ่มขึ้นๆ

ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองเห็นยอดจองลดลง เราก็จะดึงเที่ยวบินออกมา เราก็จะเห็นสายการบินต่างๆ เริ่มแคนเซิลเที่ยวบิน ตรงนี้จะเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งที่ผ่านมา ช่วงแรกๆ เราก็จะคงเครื่องบินไว้ แล้วไม่นานคนก็จะเริ่มกลับมา


หลังจากนี้ สายการบินจะแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย เหมือนก่อนหรือเปล่า

คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเครื่องบินมีอยู่ อุปกรณ์มีพร้อม สิ่งที่ทำได้คือต้องเพิ่มเที่ยวบิน ซึ่งการเพิ่มเที่ยวบินย่อมนำมาสู้กับเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย คิดว่าต้องไปจบที่ถ้าไม่มีใครขาย ก็ต้องไปควบรวมกิจการกันเกิดขึ้น แต่ทีนี้ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่จะตั้งสายการบินใหม่ เพราะถ้าเริ่มใหม่จะเป็นข้อดี ไปคุยกับใครก็จะได้ราคาถูกหมด ซื้อเครื่องบิน หรือเช่า ก็จะได้ราคาถูกหมด ก็เป็นโอกาสดีของสตาร์ทอัพ ส่วนพวกที่อยู่มาก่อนแล้ว จะเสียเปรียบเรื่องทุนนิดนึง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ผู้โดยสารอาจจะซื้อตั๋วแพงนิดนึง ด้วยความที่ว่าคนยังเดินทางน้อย แต่ต้นทุนเรื่องปฏิบัติการมันเท่าเดิม ฉะนั้นเครื่องบินบินออกไป 1 ครั้ง ต้นทุนเท่าเดิมไม่ว่าจะมีผู้โดยสารเท่าไหร่ ดังนั้นช่วงแรกค่าตั๋วจะแพง แต่ถ้าเรามองในแง่เศรษฐศาสตร์ สายการบินก็ดูว่าผู้โดยสารที่เดินทางช่วงนี้จะเป็นผู้มีความจำเป็น เขามีความยินดีที่จะไป แต่ถ้าทุกอย่างเสรีแล้ว คิดว่าราคาค่าตั๋วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือจะถูกกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะทุกคนคิดว่าได้เงินนิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

83 views
bottom of page