ต่างชาติเก็งกำไรสั้น 'พันธบัตรไทย'
- Dokbia Online
- 40 minutes ago
- 2 min read

แจง...ตั้งแต่ต้นปีถึงต้น พ.ค. 68 Fund Flow ต่างชาติไหลเข้าพันธบัตรไทยรวม 8 หมื่นล้านบาท แต่อาจเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นในจังหวะที่ดอลลาร์อ่อนค่าและเศรษฐกิจ-การเงินอเมริกาได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายภาษีการค้าของทรัมป์ แนะ...Fund Flow จะยังคงลงทุนต่อในระยะกลางและระยะยาว ถ้ารัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล แต่ถ้าทิศทางนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจนดีพอ Fund Flow จะไหลออกจากไทยไปประเทศอื่นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า ส่วนการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทยในปีนี้จะได้ผลตอบรับจากนักลงทุนไม่ดีและไม่มากเท่าสมัยก่อน โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ของกิจการขนาดเล็กที่แม้จะเป็นกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจมีการผิดนัดชำระ การเลื่อนชำระเงินกู้ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ต้องกระจายการลงทุนในหลายเซกเตอร์ ไม่ทุ่มลงทุนในเซกเตอร์ใดเซกเตอร์หนึ่ง
Interview : คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ThaiBMA
เมื่อช่วงต้นๆ เมษายนที่สมาคมออกตัวเลขออกมาเกี่ยวกับเรื่องของตลาดหุ้นกู้ตราสารหนี้ ตอนนั้นยังไม่ได้มีเรื่องของ Moody’s ด้วย สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปไหม น่ากังวลเพิ่มมากขึ้นไหม
ในเชิงของภาพรวมต้องแยกเป็นอย่างนี้ก่อน ในเชิงเรื่องของกระแสเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาในตลาดตราสารนี้ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมามีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในตลาดพันธบัตรค่อนข้างเยอะ เนื่องจากความผันผวนจากเรื่องของภาษีท่านประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอน เราก็เลยเห็นเงินส่วนหนึ่งที่เข้ามาพักในตลาดพันธบัตรของเรา เพราะพอประกาศภาษีมานักลงทุนก็อาจจะมองว่าอาจจะมีผลกระทบทางลบกับทางประเทศต้นทางคือสหรัฐด้วย ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนลง แล้วกลายเป็นว่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นจากการที่ มีเงินจากต่างชาติเข้ามาพักที่ตลาดพันธบัตร คือมองถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของสหรัฐ
เราก็เลยเห็นในเชิงของ Fund Flow เฉพาะเดือนเมษายนข้ามา 40,000 กว่าล้าน แล้วจนถึงปัจจุบันล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. เข้ามารวมก็ประมาณเกือบ 80,000 ล้าน และอย่างหนึ่งที่เราเห็นคือในแง่ของอัตราผลตอบแทนซึ่งก็เป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรทั่วโลก เราเห็นตัว Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาประมาณ 50 เบสิสพอยต์ สิ่งที่ตามมาคือตัว Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรก็ลดลง อย่างบ้านเราเองตอนนี้พันธบัตร 10 ปีจากต้นปีที่ 2.5% ตอนนี้ก็เหลือไม่ถึง 2% แล้ว หรือ 5 ปีจากต้นปี 2.1 ตอนนี้เหลือแค่ประมาณ 1.6% เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นผลที่ทำให้นักลงทุนก็อาจจะรู้สึกว่าดอกเบี้ยเริ่มลดลงอีกแล้ว
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องของตลาดพวกหุ้นกู้อะไรต่างๆ ในแง่การลงทุนของนักลงทุนถึงแม้จะดูเหมือนอัตราผลตอบแทนจะลดลง แต่ในแง่ของการลงทุนเราก็ยังมีพันธบัตรออมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมาขายก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี พันธบัตรอายุ 15 ปีหมดอย่างรวดเร็ว แล้วก็ตัว 7 ปีที่ขายผ่านเป๋าตังก็หมดภายใน 9 นาที และมีรุ่นที่จะเปิดขายผ่านธนาคารใหญ่ๆ เมื่อวันที่ 13-15 พฤษภาคม เป็นอีกโอกาสที่นักลงทุนไปจองซื้อกัน เป็นพันธบัตร 7 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2.65% อันนี้ก็น่าจะมีโอกาสง่ายกว่าการซื้อผ่านเป๋าตังที่ต้องใช้ความเร็วมากในการกด 9 นาที ดิฉันก็กดไม่ทันเหมือนกัน
ที่บอกว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาจนถึงเม.ย. 40,000 ล้าน แล้วก็จนถึงวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. เพิ่มเป็น 80,000 ล้าน คำว่า 80,000 ล้านนี่หมายถึงยอดสะสมจากต้นปีมาหรือว่าอย่างไร
ใช่ค่ะ ยอดสะสมจากต้นปี เพราะถึงแม้ Moody's ปรับมุมมองของเราเป็นเชิงลบ แต่ท่ามกลางความผันผวนก็ยังมีมุมที่เรายังใจชื้นอยู่เล็กๆ ว่าเวลาที่ตลาดในต่างประเทศมีความผันผวน และก็อาจจะบอกไม่ได้ว่าประเทศเรามีความน่าดึงดูดมากกว่าประเทศอื่น แต่ในเชิงเปรียบเทียบแล้วก็ยังดูเหมือนว่าถ้าเวลาที่ตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐมีความผันผวนมากๆ ก็ยังมีเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่เขาเห็นมุมมองว่าเขายังพักเงินเอาไว้ในตลาดพันธบัตรไทยได้อยู่ เพราะในแง่ของพื้นฐานทางการคลังของประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ ถึงแม้เรื่องของการเติบโตเราอาจจะดูแย่กว่าเพื่อนบ้านก็ตาม แต่เราก็ยังมีเงินทุนสำรองสูง แน่นอนว่า Fund Flow ที่เข้ามาเราอาจจะบอกไม่ได้ว่าจะอยู่ยาวไหม เพราะสุดท้ายแล้วมันมองไปในระยะกลางถึงยาวก็ต้องมีในแง่ของเศรษฐกิจที่ก็ต้องมีแนวโน้มที่ดีด้วย แต่ในระยะสั้นก็มองว่าถ้าเงินดอลลาร์อ่อน เงินบาทแข็งค่า ก็มีโอกาสเรื่องของการทำกำไรจากแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่า แล้วรวมถึงมุมมองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติอาจมีโอกาสปรับลดลงอีกหลังจากลดลงไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ดูจากความจำเป็นที่เราอาจจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมันก็มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้อีก ซึ่งอันนั้นก็จะหมายถึงจะมีโอกาสของการที่จะได้ส่วนต่างของ Capital Gain จากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยนอกจากที่จะได้ผลตอบแทนจากตัวเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
กำลังจะบอกว่าแม้เราจะมองด้วยความวิตกกังวล แล้วก็เป็นห่วงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ดี GDP ก็ไม่โต เงินเฟ้อก็ยังมีปัญหา แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังจะกล้าที่จะเอาเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรบ้านเรา ก็แสดงว่าสถานการณ์ก็ไม่ได้เลวร้ายมากทีเดียว แม้ Moody’s จะลดแนวโน้มเครดิตใช่ไหม
ใช่ค่ะ แต่ในระยะต่อไป คือเราต้องมีเรื่องของทิศทางหรือนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เขายังอยู่กับเราได้ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วถ้าอัตราการเติบโตเรายังแย่กว่าประเทศอื่นมากๆ เงินพวกนี้ก็คงไม่อยู่กับเรา ต่อให้คนได้กำไรก็คงจะย้ายเงินออกไป
ยกเว้นว่าเราจะต้องให้ดอกเบี้ยแพงๆ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นสำหรับพันธบัตรรัฐบาล
คือจริงๆ แล้วเวลาที่ต่างชาติดูเขาก็คงมองผสมกัน เพราะตัวดอกเบี้ยพันธบัตรเราไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นพันธบัตร 10 ปียังไม่ถึง 2% แล้วต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐตั้งเกือบ 2% กว่าด้วยซ้ำ ของเขา 4% กว่า ของเรายังไม่ถึง 2% แต่จริงๆ ที่ต่างชาติมองคือเงินเฟ้อเราต่ำ เพราะฉะนั้นตัวอัตราดอกเบี้ยจริงก็อาจจะยังถือว่าใช้ได้อยู่ เพราะเงินเฟ้อเรายังแค่ 1% แล้วก็บวกกับที่เขาเข้ามา คือมุมมองในเรื่องของค่าเงินด้วยเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เขาก็จะได้กำไรจากตัวค่าเงินด้วยส่วนหนึ่ง เขาไม่ได้มองเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก
ถ้าสมมุติว่า กนง.มีการประชุมอีกแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยอีก จะมีผลอย่างไรบ้างในเชิงของการลงทุนในตลาดพันธบัตร
อย่างที่บอกว่านักลงทุนต่างชาติก็คงจะดูเรื่องขององค์ประกอบอย่างอื่นด้วย เพราะระดับของอัตราดอกเบี้ยจริงๆ ของเราถ้าเทียบกับพันธบัตรมาเลเซีย 10 ปี ดอกเบี้ยเขาสูงกว่าเราเยอะ ดังนั้น ไม่ได้มีผลมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็คงมีผลอยู่บ้าง เพราะบางช่วงเวลาเราจะเห็นเงินที่ไหลออกไปค่อนข้างเยอะตอนช่วงพันธบัตรสหรัฐที่ดอกเบี้ยเขาขึ้นแรงๆ ก็จะเห็นเงินที่ออกไปเหมือนกัน แต่ตอนนี้ถ้าดูในเชิงของภาพรวม คือพันธบัตรของรัฐบาลเวลาออกขายมาจริงๆ ไม่ต้องเสนอ จะเห็นว่าดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูง แต่ก็ได้รับการตอบรับจากดีมานด์ในประเทศ คือเราไม่ต้องพึ่งนักลงทุนต่างชาติมากนักเพราะดีมานด์ในประเทศจากคนไทยเองที่ซื้อเยอะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลก็มีความต้องการในเรื่องของการกู้เงินเยอะมากโดยการออกพันธบัตร แล้วก็โชคดีที่ว่าตลาดพันธบัตรของเราใหญ่พอแล้วมีดีมานด์ที่รองรับพอ รัฐบาลเราถึงแม้กู้เงินเยอะแต่เราไม่ต้องไปกู้ต่างประเทศ อย่างช่วงที่ค่าเงินอ่อนบางประเทศเขาจะเดือดร้อนมากเลยเพราะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแพงขึ้นด้วยเพราะกู้เป็นดอลลาร์ แต่ของเราค่าเงินจะเปลี่ยนไปยังไงแต่ว่าเรากู้เป็นเงินบาทเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในแง่ของตัวดอกเบี้ยก็ไม่ได้ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน
แน่นอนว่าภาระหนี้ของรัฐบาลก็เยอะขึ้น แต่อย่างน้อยความจำเป็นในการกู้ของรัฐบาลมีอยู่แล้ว แต่เรายังมีเงินออมของประชาชนในประเทศ มีสภาพคล่องในประเทศจากนักลงทุนสถาบันที่สามารถที่จะรองรับความจำเป็นในการกู้เงินของรัฐบาลได้ แต่ในส่วนของภาคเอกชนแล้วภาคธุรกิจต่างๆ ที่ออกหุ้นกู้ในช่วงเวลาแบบนี้จะกระทบไหม จริงๆ ต้องบอกว่าดอกเบี้ยเริ่มลดลงแล้ว เพราะแนวโน้มของ Bond Yield ปีนี้ลงไปประมาณโดยเฉลี่ย 50 สตางค์ คือพันธบัตรรัฐบาลลงประมาณ 50 สตางค์จากต้นปีแล้ว ต้นทุนดอกเบี้ยดูเหมือนจะอ่อนลง อาจจะดูลดลง แต่ในแง่ของภาคเอกชนภาคธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม แล้วก็ยังมาเจอเรื่องภาษีซ้ำอีก เพราะฉะนั้นก็มีความเหนื่อย แต่จริงๆ แล้วในแง่ของการออกหุ้นกู้เอง ถ้าเราดูภาพใหญ่ๆ อาจจะลดลงจากปีที่แล้วบ้าง แต่เราก็ยังเห็นภาพธุรกิจที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความมั่นคงสูง หรืออย่างธนาคารเวลาที่เขาจะออกหุ้นกู้ระดมทุนก็ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไร ก็ยังได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี และดอกเบี้ยก็ลดลงมาด้วยไม่ได้สูงเท่าปีที่แล้ว
ดูแล้วแนวโน้มของการที่จะออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนตอนนี้ ในเชิงของผู้ออกหุ้นกู้ก็ยังคงจะมากอยู่
ใช่ค่ะ โดยเฉพาะจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่ต้องบอกว่าถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ ก็อาจยากหน่อย เมื่อก่อนเวลาตลาดหุ้นกู้ดีๆ ตอนช่วงเศรษฐกิจดีๆ ทุกคนพร้อมลงทุนหมดเลย แต่พอเศรษฐกิจแบบนี้นักลงทุนก็ต้องระมัดระวังแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ การเสนอขายหุ้นกู้ก็อาจจะขายได้น้อย เราก็จะเห็นบางบริษัทเขาก็อาจจะต้องกลับไปหาสินเชื่อธนาคารแทนเพราะการตอบรับจากนักลงทุนไม่ดีเหมือนเมื่อสมัยก่อนแน่นอน เพราะฉะนั้นในภาวะแบบนี้บริษัทที่อาจจะไม่ได้ใหญ่นัก ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก ตอนนี้คงต้องกลับไปพึ่งสินเชื่อธนาคารเป็นหลัก หรืออย่างธุรกิจอสังหาฯ จริงๆ ธุรกิจอสังหาฯ ต้องบอกว่าเขายังมีข้อได้เปรียบเพราะเขามีสินทรัพย์ที่เอาไปเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคารได้ เวลาที่ตลาดหุ้นกู้ปิดคือบริษัทที่ไม่ได้ใหญ่พอแล้วอาจจะขายหุ้นกู้แล้วอาจจะไม่ได้เต็มวงเงินอย่างที่ต้องการ เขาก็มีทางเลือกที่จะกลับไปหาธนาคาร แล้วพอเป็นธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่ก็มีที่ดินมีอะไรต่างๆ อยู่แล้ว ก็เอาไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ จริงๆ เรียกว่าน่าจะยังมีทางเลือกอยู่ถึงแม้ว่าอาจจะมีอย่างที่เราเห็นว่าบริษัทขนาดเล็กหรือแม้แต่ขนาดกลางบางบริษัทด้วยซ้ำไปว่าอาจจะเหนื่อยหน่อยในการขายหุ้นกู้ในปีนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดทางเลือก เพราะเขามีทรัพย์สินของเขาอยู่ สามารถที่จะกลับไปกู้ที่ธนาคารได้อยู่
กรณีการผิดนัดชำระหุ้นกู้อะไรต่างๆ การออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาชดเชยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ หรือการเลื่อนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดออกไป ในปีนี้ถือว่าดูแล้วน่าห่วงกังวลไหม จะหนักหนากว่าเมื่อ 2 ปีก่อนไหม
คือแนวโน้มของการผิดนัดเรายังคิดว่าไม่ได้มากขึ้น คืออาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอาจจะเห็นอยู่ ก็เป็นบริษัทที่ขนาดไม่ได้ใหญ่ถึงแม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนก็ตาม แต่ก็เป็นบริษัทไม่ได้ใหญ่ เป็นบริษัทเล็กๆ แต่เราอาจจะปฏิเสธได้ว่าอาจจะยังเห็นแต่ส่วนเรื่องของแนวโน้มการเลื่อน มีโอกาสการเลื่อนชำระออกไป คือตอนนี้ก็จะเป็นหุ้นกู้ที่เรียกว่าพอครบแล้วอาจจะยังไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืนได้ตามที่หุ้นกู้ครบกำหนด ก็จะไปเจรจาขอยืดอายุออกไป 1-2 ปี โดยจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม แบบนี้เราคิดว่าจะยังเห็นอยู่เพราะหลายบริษัทก็เป็นบริษัทหน้าเดิมๆ ที่เคยเลื่อนมาแล้ว และเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นกลับมา แต่ถึงแม้หลายบริษัทจะเลื่อนการจ่ายคืนแต่ก็มีการทยอยจ่ายเงินต้นเหมือนกัน คืออย่างน้อยก็พยายามจะคืนเงินต้นไปบ้างบางส่วน ทยอยคืนไปเรื่อยๆ แล้วบางบริษัทก็มีการกู้ยืมจากกรรมการหรือพยายามไปขอเพิ่มทุน คือมีความพยายามที่จะบริหารจัดการในสภาพคล่องที่เขามีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็จะเห็นทั้งบริษัทที่มีความพยายามถึงแม้ว่ามีปัญหาสภาพคล่องก็ยังพยายาม คือการที่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป แต่พอที่จะจัดการสภาพคล่องนี้แล้ว เพิ่มทุนได้หรือขายทรัพย์สินได้ เขาก็เอามาคืน อันนี้เราจะเห็น
แต่บางบริษัทเราต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วเราต้องกลับมาดูเรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัทบ้านเราเหมือนกัน บางบริษัทก็อาจจะยังไม่ได้เห็นความพยายามของผู้บริหารตรงนี้มากพอ ก็มีเหมือนกัน ในแง่ของนักลงทุนก็ต้องระมัดระวังในการลงทุนด้วย คือเวลาเราลงทุนอย่างพันธบัตรเราไม่ต้องห่วงเรื่องของความเสี่ยงในการผิดนัดเพราะมันไม่มี ขณะที่หุ้นกู้บริษัทใหญ่ๆ เราก็ไม่ต้องห่วง ยิ่งธนาคารเรายิ่งแข็งแกร่งมาก ออกหุ้นกู้มาแต่ดอกเบี้ยจะต่ำหน่อยอย่างนี้เราก็ไม่ได้ห่วง บริษัทใหญ่ๆ เรตติ้งสูงๆ อันนี้ก็ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางเลือกของการลงทุนได้ แต่พอเป็นบริษัทเล็กๆ เราต้องพิจารณาแล้วถึงแม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ตาม คือจะบอกว่าอย่างเวลาเราพูดถึงธุรกิจอสังหาฯ ต้องบอกว่าธุรกิจอสังหาฯ ที่ดีมีเป็นจำนวนมาก แล้วมีความมั่นคงสูงมีเป็นจำนวนมาก แต่บางทีก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารมีธรรมาภิบาลมากน้อยแค่ไหนด้วย เพราะบางบริษัทที่อาจจะมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นแต่บางบริษัทเราก็จะเห็นเรื่องของการที่จัดการเรื่องของตรงนี้ได้ค่อนข้างดี
ตอนนี้ถ้าให้จับสังเกตอย่างหนึ่งคือสำนักงาน ก.ล.ต.ก็จะมาออกประกาศบอกว่าให้ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทนี้ บริษัทนั้น ไปประชุม เป็นข้อสังเกตดูเหมือนมีความกังวลแล้วก็มีเยอะขึ้นมากๆ ด้วยคำเตือนเหล่านี้เป็นสัญญาณอะไรไหม
คือ ก.ล.ต.ก็จะเน้นในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้วว่าเมื่อไหร่ที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ส่วนใหญ่จะเกิดการขอเลื่อนอายุ ขอยืดอายุ การครบกำหนดของหุ้นกู้ออกไป เพราะฉะนั้น ก.ล.ต.เจตนาดี คืออย่างน้อยเตือนให้ลงทุนไปอ่านข้อมูลก่อนว่าจะโหวต Yes ไหม จะยอมให้เขาเลื่อนไหม เงื่อนไขดีพอหรือเปล่า ถ้าเงื่อนไขเขาไม่ดีพอ คือนักลงทุนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ถึงกับจะปฏิเสธการที่เขามาเจรจาอยู่แล้ว แต่บางทีก็ต้องดูว่าเงื่อนไข เช่นยืดออกไปในเวลาที่สมเหตุสมผลไหม เช่น ดอกเบี้ยมีการเพิ่มไหม หรือบางแห่งมีการจ่ายคืนเงินต้นบางส่วนบ้างหรือเปล่า แล้วก็ยอมว่าถ้าอย่างนั้นถ้าเกิดเงื่อนไขดีแล้วเห็นความจริงใจว่าเขาจะเสนอแผนในการชำระหนี้ออกมาอย่างสมเหตุสมผล นักลงทุนก็จะโหวด Yes บ้าง ส่วนใหญ่เราก็จะเห็นแบบนั้น
เจตนาของ ก.ล.ต.คืออย่างน้อยให้คุณไปศึกษาข้อมูลก่อนว่ามันสมเหตุสมผลหรือเปล่าก่อนที่จะไปโหวต ไม่ใช่ว่าไปถึงก็โหวตอย่างเดียว โหวต Yes อย่างเดียว แต่บางบริษัทซึ่งเป็นส่วนน้อยที่เราก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อย่างนี้ก็มีเป็นบางส่วน แต่อย่างน้อยพลังนักลงทุนเองก็สามารถที่จะเปลี่ยนได้ เพราะเราก็เห็นบ้างเหมือนกันที่เขาก็โหวต No จนกว่าบริษัทจะเสนอแผนชำระหนี้ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
สรุปว่าคนที่จะลงทุนในหุ้นกู้จากนี้ยังต้องระมัดระวัง ซึ่งจะใช้สูตรในการดูเลือกหุ้นกู้แบบเดิมๆ อยู่ได้ไหม
คือต้องบอกว่าตอนนี้พอเศรษฐกิจชะลอตัวและเราได้รับผลกระทบจากเรื่องของภาษีทรัมป์ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนเหมือนกันว่ามันจะกระทบหนักมากแค่ไหน การลงทุนก็ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น แล้วจริงๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรา คือกระจายความเสี่ยงของการลงทุน คือไม่ได้แปลว่าอย่างหุ้นกู้ High Yield ลงไม่ได้เลย แต่การลงทุนตอนนี้เราควรจะต้องแบ่งสันปันส่วนของการลงทุน กระจายให้ดีในแต่ละเซกเตอร์ แล้วก็ไม่ได้ทุ่มหมดลงไปในตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการกระจายการลงทุนยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะในตลาดตราสารหนี้ แต่หมายถึงจัดสรรสินทรัพย์ต่างๆ ด้วย แต่ละสินทรัพย์เองก็ต้องแบ่งสันปันส่วน เช่นอาจกระจายการลงทุนในแต่ละกลุ่ม แต่ละเซกเตอร์ให้มันสมดุล
Comentários