ประชุม APEC งานระดับโลกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แต่คนไทยรู้เรื่องน้อยมาก การประชุมครั้งนี้ไทยชูประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มีผลโดยตรงต่อการส่งออก-นำเข้าของไทยในโลกยุคใหม่ที่เน้นการรักษ์โลก หลังการประชุมต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รับรู้และเข้าใจ ปรับตัวค้าขายบนเวทีโลกที่มีมูลค่าการค้าเกือบ 2 หมื่นล้านล้านบาทได้อย่างถูกต้องทันเกม ส่วนผลพลอยได้ระยะยาวคือการฟื้นฟูความสัมพันธ์การค้าการลงทุนกับซาอุฯ ที่มกุฎราชกุมารของซาอุฯ ในฐานะนายกฯ ซาอุฯ มาร่วมประชุม APEC ด้วยตัวเอง รวมทั้งโอกาสในการปัดฝุ่นการเจรจากับนายกฯ ฮุนเซนในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่มีมูลค่าก๊าซและน้ำมันทางทะเลสูงถึง 5 ล้านล้านบาท
Interview : คุณสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (EBCI) และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ (ICB Logistics)
มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมเอเปคในเมืองไทย
เป็นช่วงจังหวะที่ดีมาก เพียงแต่สงสัยว่างบประมาณมีน้อยไป ประชาชนไม่ค่อยรู้ ก็เลยไม่เข้าถึงเอเปคสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะประกาศทางด้านของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green-Economy Model หรือ BCG ออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกติดตามสนใจกันอยู่ จริงๆ รัฐบาลน่าจะขยายอธิบายคำว่า BCG ให้มากขึ้นว่าแล้วรากหญ้ามีส่วนกับเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร ส่วนตัวเห็นโฆษณาที่ออกมา ซึ่งเข้าใจว่างบประมาณสั้นไปหน่อย คือพูดแต่เรื่องกว้างๆ จนกระทั่งประชาชนทั่วๆ ไปเขาอาจจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับเขาสักเท่าไหร่ เป็นเรื่องไกลตัวเขา
สำหรับเรื่องที่น่าสนใจของการประชุมเอเปคครั้งนี้ ก็คือเรื่อง BCG เป็นเรื่องที่เป็นการสร้างแนวความคิด หรือใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในนวัตกรรมนักวิทยาศาสตร์มาปรับแต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านการเกษตร พืช แม้กระทั่งเรื่องของ Circular Economy หรือ Green Economy ทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับส่งออกนำเข้า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาเตรียมตัวให้พร้อมเลย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ใช้บริการทางด้านโลจิสติกส์ บริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ต้องเกี่ยวข้องหมด ประชุม 3 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของงาน น่าจะลงมือลงไม้ผ่านงาน ผ่านประชาสัมพันธ์ผ่านกรมประชาสัมพันธ์ หรือว่าผ่านสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วม
ส่วนตัวมีประเด็นที่อยากฝากกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการที่มีการจัดประชุมเอเปค 2022 ในประเทศไทย เราน่าจะใช้ประโยชน์จากการประชุมนี้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินไปประมาณ 3 พันล้านบาท และใช้คนทำงานประมาณ 600 คน โดยคนที่มาร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ณ วันนี้ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าถึงยอดเขตบรรลุความตกลงในเรื่อง FTAAP ได้ ก็เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มการค้าระหว่างประเทศที่มีประชากรเกือบ 2.9 พันล้านคน หรือประมาณ 38% ของโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกัน 17,800 ล้านล้านบาท คือมีจำนวนมากเหลือเกิน หรือ 62% ของจีดีพีโลก
ประโยชน์อื่นที่ไทยจะได้มีอะไรอีกบ้าง
สำหรับประเด็นที่เราน่าจะใช้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้คือ 1. ทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น 2. เป็นเรื่องที่ดีที่นำแนวคิด Bio-Circular-Green-Economy Model หรือ BCG มาเป็นธีมหรือมาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ และเก็บประเด็นเก่ามาใช้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนประโยชน์ต่อมาก็คือว่า จะมีการประชุมเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง FTAAP ซึ่งเอเปคเขาตั้งไว้ว่าจะต้องเจรจาให้สำเร็จภายในปี 2040 ปรากฏว่ามีหัวข้อเรื่องนี้อยู่ด้วยในการประชุมครั้งนี้ และการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 29 ประเทศไทยก็ถือโอกาสฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ ของกรอบต่างๆ ประเทศ 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวคุยกับสหรัฐอเมริกาในปีหน้า เพราะปีหน้าสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะพยายามให้จบก่อนปี 2040 ก็ได้ อาจจะมีแนวคิดในการที่จะออกไปล็อบบี้คนที่มาประชุมอีก 21 เขตเศรษฐกิจ ถ้ามีสิ่งที่สหรัฐอเมริกาพยายามเสนอ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสหรัฐอเมริกาจะพยายามเสนออะไรก็ตามที่มันทำให้จีนเจ็บเล็กน้อย อย่างเช่นเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องอะไรต่อมิอะไรที่จีนไม่ยอมพูดถึงเช่น เรื่องฮ่องกง ไต้หวัน ก็อาจจะบรรจุเรื่องพวกนี้เข้าไปอยู่ในประเด็นได้ในการประชุมที่สหรัฐอเมริกา FTAAP ปีหน้าที่สหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศไทยกลัวว่า ถ้าเกิดมีแนวคิดแบบนั้น หรือมีการบรรจุแนวทางแบบนั้น เราจะได้ตั้งหลักได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดีก็ต้องชมกระทรวงการต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าเก่ง ที่สามารถดึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสมาได้ และยังดึงสมเด็จฮุนเซนมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ถือว่าทั้ง 3 ท่านนี้เข้ามาร่วมประชุม ทำให้เกิดสีสันเพิ่มมากขึ้น และหากท่านสี จิ้นผิง มาด้วย และทางปูตินมา ก็จะมีดาวฤกษ์หลายดวงในการประชุมครั้งนี้ และนายกรัฐมนตรีเราก็จะเป็นดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งที่ฉายแสงท่านต่อดาวเคราะห์ทั้งหลาย คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้ เราก็น่าถือโอกาสร่างญัตติอีอีซี คิดว่าลักษณะนี้อีอีซีเป็นผู้ที่ลงทุนที่ดีที่สุดในอาเซียน ถือเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจมากที่สุดในอาเซียน ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ภาษีอากร ทางด้านโลเกชันในอาเซียน ดังนั้น ถ้าเราสามารถทำให้รัฐบาลเอาอีอีซีไปแจกในที่ประชุม ตีปี๊บ มีคลิปเกี่ยวกับอีอีซี ซึ่งควรที่จะทำเพื่อประชาสัมพันธ์อีอีซีไปทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ตามที่ท่านเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มา เราก็น่าจะถือโอกาสคุยนอกรอบเรื่องการค้าการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของแรงงาน ว่าเราน่าจะส่งแม่ทัพแรงงานไปทำงานหารายได้เข้าประเทศที่ซาอุดีอาระเบีย ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และส่วนตัวทราบข่าวมาว่าทางซาอุดีอาระเบียมีกองทัพนักลงทุนมาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ตรงนี้ต้องพยายามจับให้อยู่ ให้เป็นเรื่องที่เราจะสนองตอบความต้องการด้านการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีคนคิดอยู่แล้ว แต่คิดว่าเรื่องนี้เราควรคิดอย่างจริงจัง
ส่วนเรื่องต่อมา เราน่าจะถือโอกาสนี้ ส่งทีมงานที่คิดว่าคุยกับท่านฮุนเซนได้ ยอมเดินหน้าเกี่ยวกับ Join Technical Committee ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเจรจากันมา 20 ปีได้แล้ว และก็หยุดหายไปตั้งแต่ปี 2549 ตอนนี้ในที่สุดก็มีมติตั้งคณะไปเจรจาโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าทีม คิดว่าถ้าเราสามารถที่จะคุยกับเขา และเขาคุยกับเรา ก็จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปได้ เรื่องนี้ไปพูดตรงๆ ไม่ได้ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่น่าจะใช้กลไก Join Technical Committee ในการที่จะดูแลเรื่องนี้
Comments