top of page
369286.jpg

ยกย่อง "วิทัย รัตนากร”Banker of the Year 2 ปีซ้อน


เครือหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ยกย่อง “วิทัย รัตนากร” รับรางวัล Banker of the Year 2022 คว้ารางวัลเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน จากผลงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนออมสินสู่ “ธนาคารเพื่อสังคม” แก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาในอีกหลากหลายมิติ ขยายความสำเร็จช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยที่เป็นธรรมทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นรวมแล้วกว่า 13 ล้านคนขณะที่ในธุรกิจปกติยังมีผลกำไรเติบโตงดงาม

เครือหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ประกาศยกย่อง “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (Government Savings Bank : GSB) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ Banker of the Year 2022 หรือนักการธนาคารแห่งปี 2565

คณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติเป็นเอกฉันท์ จากการพิจารณาข้อมูลตลอดทั้งปีพบว่า“วิทัย รัตนากร”เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดจากการทำงานอย่างเต็มความสามารถ เข้มแข็งโปร่งใส และมีวิสัยทัศน์ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการได้รับรางวัลครั้งนี้ ทำให้ วิทัย รัตนากร ได้รับรางวัล Banker of the Year จากเครือหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ”เป็นปีที่สองติดต่อกัน

สำหรับผลงานอันโดดเด่นของ วิทัย รัตนากร ในปี 2565เกิดจากวิสัยทัศน์ความต้องการเน้นภารกิจสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน (No Poverty) และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (Reduce Inequality) โดยใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจแบบ Dual Mission ที่มีการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับธุรกิจเชิงสังคม เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้าง Positive Impact ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs Goals) ที่ธนาคารออมสินมุ่งเน้นขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ผลงานของ วิทัย รัตนากร ปรากฏโดดเด่นชัดเจนมากขึ้น เมื่อยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อสังคม มีอายุครบ 2 ปี วิสัยทัศน์ของ วิทัย รัตนากร ที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ช่วยเหลือผู้คนเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งตลอด 2 ปี ธนาคารออมสินได้ดำเนินการช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ กว่า 45 โครงการ มีประชาชนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือจำนวนกว่า 13 ล้านราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อประมาณ 5.7 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เป็นครั้งแรกมากถึง 2.76 ล้านราย ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเป็นเม็ดเงินกว่า 195,000 ล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้กว่า 130,000 ราย

นอกจากนี้ ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ NPLs อีกร่วม 4 ล้านราย โดยส่วนหนึ่งของโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และอีกมากมาย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ โครงการผ่อนปรนภาระหนี้ไม่ให้เสียประวัติการเงิน ตลอดจนการฟื้นฟูและฝึกทักษะอาชีพเพื่อช่วยสร้างรายได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มโครงการใหม่ ที่ช่วยให้คนฐานรากและ SMEs ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม โดยมีผลงานที่โดดเด่นเป็นชิ้นโบแดง ได้แก่

1. การเข้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยกดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% ลงเหลือ 16-18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้คนฐานรากผ่านธุรกิจจำนำทะเบียนที่ธนาคารร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนได้กว่า 1 ล้านราย ไม่นับลูกค้าสินเชื่อจำนำทะเบียนของบริษัทเอกชนต่างๆ ในตลาดที่ธนาคารมีส่วนช่วยให้เกิดการลดดอกเบี้ยในระบบคิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

2. การปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน ในโครงการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ซึ่งสามารถอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลายากลำบากแล้วเป็นวงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จจากโครงการนี้ ทำให้ วิทัย รัตนากร ต่อยอดจัดตั้ง บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด โดยธนาคารออมสินถือหุ้นใหญ่ มีบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบางจาก ร่วมถือหุ้น เพื่อเข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝากที่มีเงื่อนไขการกู้ที่เป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริษัทให้บริการได้ช่วงต้นปี 2566

ในขณะที่การทำยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อสังคม เป็นหนึ่งใน Mission ของ Dual Mission ฝั่งที่ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร หากในฝั่ง Mission ธุรกิจปกติ วิทัย รัตนากร สามารถบริหารจัดการได้อย่างสมดุล โดยดูได้จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 23,997 ล้านบาท และคาดการณ์ผลกำไรทั้งปีอยู่ที่ 27,200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนเงิน 17,349 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

ขณะเดียวกัน แม้เผชิญความเสี่ยงจากการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก ธนาคารกลับยังสามารถรักษาความแข็งแกร่ง ด้วยขนาดสินทรัพย์ราว 3 ล้านล้านบาท เงินฝาก 2.57 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 2.23 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระดับต่ำเพียง 2.71% มีตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในระดับสูง 168.86% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) และเงินสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มเงินกันสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ณ ตุลาคม 2565 จำนวน 44,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 39,988 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีเงินสำรอง 4,075 ล้านบาท ซึ่งการตั้งสำรองเป็นจำนวนมาก ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เพื่อรองรับการดำเนินยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อสังคม หากการตั้งสำรองสูงไม่ส่งผลกระทบต่อผลกำไร ถือเป็นการบริหารจัดการให้ทุกด้านดำเนินไปอย่างสมดุลและชาญฉลาดของ วิทัย รัตนากร

แม้ได้รับผลสำเร็จจากยุทธศาสตร์ ธนาคารประชาชน แล้วอย่างมากมาย หากผู้อำนวยการธนาคารออมสินมองว่ายังไม่เพียงพอ โดยหลังจากนี้ ธนาคารจะยกระดับขยายผลให้ทุกมิติที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการดำเนินงานหลัก หรือด้านผลิตภัณฑ์และบริการ จะต้องมีการนำปัจจัยด้านสังคมเข้ามาบูรณาการทุกด้าน หรือ Social Mission Integration ซึ่งจะทำให้เกิด (1) ความลึกลงในการปฏิบัติงาน (Embedded in Core Business Process) (2) ความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคม (Sustainability) และ (3) ผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง (Broaden Positive Impact) เช่น การบูรณาการปัจจัยด้านสังคมลงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การบริหารจัดการทรัพยากร การปรับวิธีการประเมินผลสำเร็จของงาน หรือในการจัดทำโครงการต่างๆ เป็นต้น รวมถึงเน้นการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง การลดต้นทุนบริหารจัดการและการควบคุมค่าใช้จ่ายยังเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถทำกำไรและนำกำไรบางส่วนไปสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคม

ส่วนทางด้านการพัฒนาช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์สังคมยุค New Normal ตลอดปี 2565 วิทัย รัตนากร ได้ร่วมกับทีมงานด้านไอทีของธนาคารในการพัฒนายกระดับบริการ Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน MyMo ให้สามารถปล่อยสินเชื่อ Digital Lending ทำให้มาตรการช่วยเหลือและโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ของธนาคารสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากถึง 1.6 ล้านราย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 5.4 แสนราย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยที่ลูกค้าประชาชนไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา

นอกจากนี้ยังมีการคิดการณ์ไกล วางแผน “ธนาคารเพื่อสังคมผ่านช่องทางดิจิทัล” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่อ MyMo-My Credit แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่เป็นแรงงานนอกระบบ และมนุษย์เงินเดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ และอนุมัติเร็วผ่านแอป โดยไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ และไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ธนาคารจะใช้ข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้า (Financial Transaction) มาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ แทนการวิเคราะห์รายได้ เรียกว่า Alternative Credit Score ลูกค้าสามารถขอกู้ได้รายละ 10,000-30,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 ราย ด้วยวงเงินปล่อยกู้ในช่วงเริ่มต้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และจะขยายต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนเตรียมตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าทำธุรกิจ Non Bank ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (P-Loan) ให้บริการผ่านออนไลน์ หรือ Digital 100% เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อเร่งด่วนสำหรับลูกค้าบุคคล ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธุรกิจ Non Bank รายอื่นราว 5% จากปัจจุบันคิดดอกเบี้ยที่ประมาณ 25%เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจ Non Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวไตรมาส 3 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2566

ทางด้านการดำเนินงานตามกรอบ ESG ((E-Environment) สังคม (S-Social) และธรรมาภิบาล (G-Governance)) นอกจากการใช้ ESG Score เพื่อคัดเลือกการรับสินเชื่อของภาคธุรกิจ ในการดำเนินการตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในส่วนของธนาคารออมสิน ได้เปิดตัว โครงการสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับธุรกิจที่มีการบริหารจัดการตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยนิติบุคคลไม่จำกัดวงเงินกู้ และบุคคลธรรมดา ให้วงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก เริ่มต้นที่ 3.99% ปลอดชำระเงินต้นนาน 2 ปี และผ่อนได้นานสูงสุด 10 ปี

ตามแนวทาง ESG วิทัย รัตนากร มีความภาคภูมิใจในการประกาศความสำเร็จจากการเป็นธนาคารของรัฐแห่งแรกที่ออกขาย Social Bond มูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยออกในประเทศไทย เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปดำเนินการโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน ให้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นธรรม ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประสบภัย เพื่อพัฒนาชนบท และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

ส่วนผลงานด้านการสนองนโยบายภาครัฐ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในส่วนของสินเชื่อ “สร้างงานสร้างอาชีพ” เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือประชาชนนำไปตั้งต้นประกอบอาชีพใหม่ ภายใต้ โครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ธนาคารได้เดินหน้าแนะนำ ให้ทักษะ และเป็นแหล่งทุน โดยได้อนุมัติสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อไปเริ่มต้นอาชีพใหม่รวมจำนวนกว่า 130,000 ราย ครบวงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธนาคารประสบความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อโครงการ “สินเชื่อห่วงใย (เพื่อสู้ภัยโควิด-19)” ครบวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการของธนาคารออมสินเองโดยการสนับสนุนของรัฐบาล สามารถช่วยเหลือประชาชน จำนวน 1 ล้านราย ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้สอย เพิ่มสภาพคล่องในครอบครัว โดยเป็นการปล่อยสินเชื่อผ่าน แอปพลิเคชัน MyMo ทั้งหมด ลูกค้าไม่ต้องไปติดต่อสาขา ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ประชาชนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนนอกเหนือทางด้านสินเชื่อเพื่อสังคมแล้ว ในพันธกิจ ธนาคารออมสินสถาบันเพื่อการออม วิทัย รัตนากร ยังได้มีการออกผลิตภัณฑ์เพื่อการออมที่เรียกร้องความสนใจจากผู้ฝากเงินได้อย่างล้นหลามในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ อาทิ การเปิดผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อการเกษียณไปหลายผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยที่ถูกจองสิทธิ์การฝากหมดลงอย่างรวดเร็ว การโปรโมชันเงินฝากเพื่อฉลองครบ 109 ปี ธนาคาร ด้วยเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 109 อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได สูงสุด 10.90% และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับลูกค้าประชาชน ได้มีการจัดโปรดักต์แคมเปญเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าและเฉลิมฉลองปีใหม่ 2566 ด้วยการเพิ่มรางวัลสลากออมสินพิเศษ 2 ปี ทั้งแบบใบสลากและสลากออมสินดิจิทัล โดยเพิ่มเงินรางวัลพิเศษจำนวน 24 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 24 ล้านบาทเป็นต้น

สำหรับการส่งเสริมการออมผ่านช่องทางดิจิทัล ได้มีการเปิดตัว Application "CoachAom โค้ชออม" มีการเปิดตัวธนาคารเสมือนจริง “ออมสินเมตาเวิร์ส : GSB METAVERSE” ซึ่งนับเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าบุกเบิกเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าบนโลกเสมือนจริง

นอกจากยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมในตัวเองอยู่แล้ว (CSR) วิทัย รัตนากร ยังนำพาธนาคารออมสินเข้าร่วมในโครงการ CSR อื่นๆ โดยได้ริเริ่มเปิดตัวโครงการเพื่อสังคมโปรเจกต์ใหม่ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development คัดเลือก 5 หมู่บ้านของพื้นที่ห่างไกลในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา 9 ด้าน ครอบคลุมมิติคุณภาพชีวิต และมิติเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการแนวคิดเชิงสังคมลงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ : Social Mission Integration เพื่อขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ธนาคารเพื่อสังคม โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการต้นแบบฯ ครั้งนี้ ทั้งประชากรของ 5 หมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (Signing Ceremony of Partnership) กับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อร่วมกันส่งเสริมการบูรณาการการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการจัดการขยะมูลฝอยในระดับชุมชน อันเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายที่สุด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญสู่ความร่วมมือระยะยาวระหว่างโครงการพัฒนาแห่งชาติและธนาคารออมสิน เพื่อร่วมกันสร้างแนวทางแก้ปัญหารับมือในด้านสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้น อีกทั้งปรับปรุงเมืองให้ยั่งยืนและน่าอยู่ ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเทศไทย

จากผลงานของ “ธนาคารเพื่อสังคม” ซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือมากมายมหาศาลเมื่อบวกด้วยผลงานการสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ ทั้งยังมีการดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ...

...วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงเหมาะสมอย่างที่สุดแล้วสำหรับการได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ Banker of the Year 2022 หรือ นักการธนาคารแห่งปี 2565 และเหมาะสมแล้วสำหรับการเป็น Banker of the Year อีกสมัย

อนึ่ง ผลงานของ วิทัย รัตนากร ที่ส่งผลให้ได้รับรางวัลตามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการสรุปส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับรายละเอียดของผลงานเต็มๆ สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร “ดอกเบี้ย” ที่จะออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้

108 views

Comments


bottom of page