top of page
312345.jpg

เตือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเฟดลด QE & ขึ้นดอกเบี้ย...ทำค่าเงินปั่นป่วน กระทบไทย


ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


คาดเฟดจะทยอยลด QE เริ่มที่การลด QE เพื่อซื้อทรัพย์สินเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ส่วนนโยบายดอกเบี้ยจะคงไว้อีกระยะหนึ่งเพื่อรอดูแนวโน้มเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจว่าดีขึ้นจริงแค่ไหน แม้ดัชนีชี้วัดหลายตัวจะดีขึ้น แต่เป็นการดีจากการคลายล็อกดาวน์หลังจากทุกอย่างแทบนิ่งสนิทก่อนหน้านี้ กำลังซื้อของคนอเมริกันยังไม่มากพอที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนค่าเงินดอลลาร์จะเริ่มทรงตัวไม่แข็งค่าหวือหวาเหมือน 2-3 เดือนที่ผ่านมา ด้านดัชนีตลาดหุ้นอเมริกายังอยู่แนวบวกโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นสุขภาพ แต่ปลายปีตลาดหุ้นอเมริกาจะไม่ดีเหมือนเดิมถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น ประเมิน...หลังเฟดลด QE ถ้าเงินดอลลาร์แข็งค่า จะทำให้ค่าเงินบาทปั่นป่วน เมื่อรวมกับปัญหาวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาลและนโยบายการเงินของแบงก์ชาติที่ไม่ทันเกม รวมถึงภาพลวงกับดัก NPL ที่ส่อเค้าเลวร้าย จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจมปลัก ยากที่จะฟื้นตัว


ได้ติดตามพาวเวลประธานเฟดพูดในการพูดประจำปีที่แจ็กสัน โฮล ปีนี้ไหม

มีแรงกดดันเยอะพอสมควรว่าเฟดจะทำอย่างไรกับนโยบายมาตรการการเงิน เพราะดอกเบี้ยก็ต่ำมานานแล้วและสภาพคล่องที่ปล่อยมาโดย QE ก็สูง โดยเฉพาะช่วงหลังมีโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พอมีการกระตุ้นทางการคลังบ้าง ราคาสินค้าสูงขึ้นบ้าง เริ่มมีกดดันขึ้นมาว่าเฟดจะเริ่มดำเนินการวางแผนเมื่อไหร่ จะมีการประกาศล่วงหน้าเมื่อไหร่ จะทำจริงๆ เมื่อไหร่ แต่คุณพาวเวลพูดออกมาค่อนข้างชัดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะทำอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก คือรอดูสถานการณ์ไปก่อน

แต่การคาดคะเนของหลายคนยังคิดว่าในท้ายสุดต้องมีการปรับนโยบายการเงินอยู่ดี เพียงแต่ว่ารวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ประเมินว่ากันยายนจะเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าจะทำอะไร ปีหน้าคงต้องเริ่มจะลด QE หรือขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนตัวผมเองประเมินว่าพาวเวลคงมองได้ดีว่าขณะนี้ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมันไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนสมัยเรแกน คงไม่ใช่แบบนั้น คือกำลังซื้อยังต่ำอยู่และสัญญาณเรื่องเงินเฟ้อเป็นสัญญาณที่ไม่ได้ยืนยาว

สิ่งที่พาวเวลพูดไว้ดีมากคือ ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงไม่ได้เพิ่มตาม แปลว่าอาจเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว ราคาสินค้าอาจจะลงในอนาคต ส่วนค่าแรงที่ยังไม่ขึ้นแปลว่าความตึงตัวในเรื่องของความต้องการใช้เชิงเศรษฐกิจยังมีไม่มาก ซึ่งก็จริง อย่างราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนนึงเพราะการผลิตน้ำมันในสหรัฐก็น้อยลงตั้งแต่มีโควิดมา ยังไม่เพิ่มขึ้นมากพอ ราคาวัตถุดิบต่างๆ ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคาสินค้าขั้นสุดท้ายถึงมือผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่วนนึงคิดว่าการเป็นหนี้สินของประชาชนสูงอยู่ คิดว่าประชาชนชั้นกลางจนลงเนื่องจากการทำมาหากินในช่วงมีโควิดยากลำบาก รายได้ไม่มาก ถึงรายจ่ายไม่มากก็จริงแต่รายได้น้อย ตรงนี้ทำให้ภาวะหนี้สินต่างๆ ยังอยู่

ประเด็นว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน สถานการณ์น่าจะเป็นอย่างไร จะขึ้นดอกเบี้ยไหม หรือจะลด QE ผมคิดว่าน่าจะลด QE ก่อน ดอกเบี้ยคงยืนไประยะนึงเพื่อให้เกิดความมั่นใจจริงๆ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐมันฟื้นแน่ๆ ไม่ฟื้นชั่วคราว เพราะมีการล็อกดาวน์แล้วกลับมาแรงๆ ก็มองว่าลด QE ก่อน ไม่ทำพร้อมกัน ทีนี้ทำไมถึงต้องลด QE ก่อน คิดว่าส่วนนึงมีกรณีคนจะกู้เพราะดอกเบี้ยถูก เพราะมีความต้องการบ้านมากขึ้น ทีนี้ QE เป็นการไปซื้อหนี้บ้าน ก็เป็นตัวแรงกดดันให้เกิดฟองสบู่ขึ้นในตลาดบ้าน ตรงนี้เป็นไปได้ว่าถ้าเฟดดำเนินนโยบายใหม่คงปรับตรงนี้ก่อนเพื่อไม่ให้ราคาสินค้า บ้าน วัสดุก่อสร้าง พุ่งกระฉูดเพราะเดี๋ยวจะมีปัญหา ก็จะถอน QE ในส่วนเกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยก่อน

ภาพรวมคือนโยบายการเงินของสหรัฐ ยังดำเนินแบบเดิมสักระยะนึงและเขาคงสร้างความมั่นใจแน่ๆ ว่ามันดีจริง ถ้าเงินเฟ้อถ้ามันวิ่งไปที่ 2.5-2.7% คงไม่ปรับดอกเบี้ยอะไรมาก ถ้ายังอยู่ประมาณนี้ เขายอมให้สูงขึ้นในระดับที่เขาอยากได้สักระยะนึงเพื่อดูให้มั่นใจก่อนจะขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่จะลด QE


สื่อต่างชาติมองว่าพาวเวลล้มเหลว ถ้าเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่กลัวพังตั้งแต่สมัยแรก ถึงต้องรอพูดสมัยสอง ต้องมีการเริ่มต้นปีหน้า เขาคงอยากเป็นประธานเฟดต่อใช่ไหม

ก็ไม่ได้ง่าย เพราะเขามีกลุ่มเขาอยู่แล้ว ในเฟดส่วนใหญ่เป็นของเดโมแครต และรัฐมนตรีคลังใหม่ก็รู้อยู่ว่าเขามีสายของเขาอยู่ที่จะขึ้นมาแทนพาวเวล แต่แรงกดดันจะเกิดขึ้นเพราะคนห่วงว่าถ้าสหรัฐใช้นโยบายการเงินดอกเบี้ยต่ำนานๆ เข้าจะเกิดฟองสบู่ไหม เกิดสถานการณ์ขึ้นมาจะถอนทันไหม ถอน QE ขึ้นดอกเบี้ย คิดว่าตัวนี้ยังไม่เท่าไหร่ ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐคิดว่าดีมันก็ดีชั่วคราว ยังไม่ชัดว่าระยะยาวจะดีจริงๆ


แต่ดัชนีออกมาดีหมดเลย ทั้งดัชนีผู้บริโภค ความต้องการซื้อ

มันดีจากสถานการณ์ผันผวนจากการถูกฟรีซไว้เพราะคนอยู่กับบ้าน ไม่ออกเดินทางทำอะไรเลย พออยู่ๆ ออกมาก็เยอะขึ้น ถ้าดูค่าแรงยังไม่ขึ้นแปลว่ายังไม่ตึงตัว ค่าแรงไม่ขึ้นเพราะคนยังไม่อยากทำงานในสถานการณ์ที่มีโควิดแบบนี้ คนเริ่มรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนอาชีพ อยากอยู่ต่างจังหวัด ไม่อยากอยู่ในเมือง อยากซื้อบ้านใหม่ เสพสุขมากขึ้น ทำงานน้อยลงแบบพออยู่พอกิน


อุตสาหกรรมก็ไม่อยากจ้างเพิ่มด้วย ถ้าอยากจ้างก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย

ขณะนี้ธุรกิจทั่วๆ ไปทำระบบออนไลน์หมด คือเริ่มห่วงว่าถ้าจ้างคนมาแล้วมีปัญหาโรคระบาดอีกเขาจะสู้ไหวไหม จะโละคนอย่างไร จะจ่ายเงินเดือนอย่างไร คนก็เริ่มคิดเริ่มทำดิจิทัลมากขึ้น คิดว่าค่าแรงคงขึ้นยาก คนมีกำลังซื้อน้อย กำลังซื้อจะไปอยู่ที่บริษัทพวกแอปเปิลพวกบริษัทใหญ่สบายขึ้น แต่ภาคการผลิตโดยทั่วไป รายเล็กรายน้อย ประชาชนทั่วไปจะไม่มีกำลังซื้อ กำลังซื้อคนชั้นกลางจะน้อย โอกาสที่จะดันให้เศรษฐกิจดีมันยาก ถ้ามองแบบนี้นัยคือค่าเงินดอลลาร์จะแข็งขึ้นในอนาคต แต่จะไม่แข็งมากเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดูดีจริง โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก ค่าเงินดอลลาร์คงไม่วิ่งแบบ 2-3 เดือนนี้ ขณะนี้มันขึ้นมาพอสมควร แต่คิดว่าต่อไปคงไม่ขึ้นมากแล้ว เริ่มทรงตัว เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐดีถึงขั้นต้องขึ้นดอกเบี้ย ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งคงยาก แต่ถ้าขึ้นมันก็เป็นแบบค่อยๆ ปรับขึ้นเรื่อยๆ


ตลาดหุ้นที่ดีขึ้นมา จะเป็นฟองสบู่ไหม

ตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังขึ้นได้อยู่เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกมาก เงินมีเยอะแยะแต่ไม่รู้จะไปไหน มันก็เข้าไปที่กองทุนอสังหาฯ กองทุนเกี่ยวกับหุ้นทั้งหลาย แต่พวกหุ้นส่วนใหญ่ไปอยู่สายเทคฯ เยอะ ทำให้ในหุ้นเทคโนโลยีเยอะ ทำให้หุ้นเทคโนโลยีขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนหุ้นสุขภาพก็มาเยอะ ก็อาจจะไปได้บ้างในบางตัวเพราะโรคระบาดยังคงอยู่ และคนจำนวนมากก็ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลในช่วงโรคระบาดเพราะกลัวโควิด คนอยู่บ้านเป็นอะไรก็ไม่ไปหาหมอ พวกฟาร์มาซียังพอไปได้อยู่หลังจากโควิดหมด คือคนจะกลับมารักษาโรคเหมือนเดิมมากขึ้น จากเดิมคนกลัวโควิดไม่ไปโรงพยาบาลกัน แต่ตัวอื่นที่จะปรับได้เร็วคือพวกเกี่ยวข้องโควิดที่มันโดนกดไว้แรงมากๆ พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ดีขึ้นมาบ้าง

เฉลี่ยการประเมินทั่วไปยังมองว่าราคาหุ้นในสหรัฐยังไปต่อได้อีกนิดหน่อย แต่ประมาณปลายปีน่าจะหมดแล้วเพราะจะเริ่มฉีดเข็ม 3 แล้ว ปีหน้าจะเริ่มมีวัคซีนเวอร์ชันใหม่แล้ว ไม่แน่ปีหน้าจะเป็นปีสุดท้ายที่ฉีดวัคซีนกันเพราะคนเริ่มปรับตัว ต่อมน้ำเหลืองเริ่มปรับตัว ก็ต้องศึกษาใหม่ว่าจะบอกได้ไหมคนจะต้องฉีดวัคซีนทุกปีไหม ปีหน้าจะเริ่มเห็นภาพชัดแล้วว่าการฉีดวัคซีนจะมีดีมานด์ต่อเนื่องแค่ไหน หรือจะมีดีมานด์แค่ปีหน้าแล้วจบ อันนี้ต้องรอดูเพราะยังมีความไม่แน่นอน แต่ราคาหุ้นสหรัฐยังไปได้อยู่


มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าดอกเบี้ยใกล้จะขึ้นได้เต็มที หรือการทำ QE ขณะนี้ที่อเมริกาเป็นหัวโจกใหญ่จ่ายไปเดือนละแสนล้าน

มันต้องลง แต่จะลงเมื่อไหร่ นโยบายการเงินที่ผิดปกติ คนจำนวนมากทำให้มันปกติมากขึ้น ผมมองว่าคงต้องลด QE ก่อนเพราะช่วงโควิดเพิ่มเข้ามาแรงมาก ตอนนี้ก็ทยอยปรับลงแล้ว


เมื่อธนาคารกลางหลายๆ ชาติเริ่มลด QE ไทยจะได้รับผลกระทบไหม

ไทยจะได้รับผลกระทบกระเทือนถ้าค่าเงินดอลลาร์มันสูงมาก ค่าเงินของเราก็จะปั่นป่วน หมายความว่าอาจจะมีการหันไปลงทุนที่อื่นในเรื่องของ financial asset แต่เรื่องนโยบายการเงินของไทยของเราตอนที่โควิดมาแรงๆ ทุกคนประเมินสถานการณ์ผิด เพราะไม่คิดว่ารัฐบาลจะจองวัคซีนได้แค่นี้ ไม่คาดคิดว่ามันจะหายไปขนาดนั้น ต่างจากตัวเลขที่ให้มาเยอะมากๆ แบงก์ชาติก็ประเมินสถานการณ์ผิดเหมือนกัน ท้ายสุดแทนที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ลด ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ต้องลดดอกเบี้ยตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้ว แต่แบงก์ชาติก็ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ทัน จะมาลดตอนนี้ก็มีปัญหาว่าถ้าฉีดวัคซีนได้เยอะในกรุงเทพฯ มันจำเป็นไหมที่จะลดดอกเบี้ยอีก คล้ายๆ ถึงเวลาจะลดก็ลดไม่ได้ เวลาอยากจะลดก็ลดไม่ได้อีก กลายเป็นว่านโยบายการเงินของไทยในเรื่องดอกเบี้ยก็คงที่ตลอดหลายๆ ปี ไม่ว่าสถานการณ์จะดีเลวอย่างไรผมก็อยู่แบบนี้ เพราะผมปรับไม่ทัน ตอนจะปรับลงก็ไม่ปรับ ตอนจะปรับก็จะเลิกล็อกดาวน์ ทำให้นโยบายการเงินของไทยเหมือนกับเสถียรเกินไป กลายเป็นมองว่าในระยะยาวการฉีดวัคซีนไทยมันล่าช้า การปรับดอกเบี้ยขึ้นน่าจะยาก ต้องใช้เวลา เศรษฐกิจปีหน้าคงจะไม่ดี และตอนนี้ NPL ยังไม่โผล่เพราะยังใช้มาตรการคำนวณจาก NPL แบบไม่นับ เลยไม่รู้ว่า NPL ของไทยควรจะคูณ 2 หรือคูณ 1


ไม่รู้อาการที่แท้จริง

ไม่รู้ อาการซีเรียสจริงๆ อยู่ตรงไหน ตรงไหนไม่ซีเรียส เพราะทุกคนขออยู่ในโครงการหมด โดยที่ซีเรียสหรือไม่ตรงนี้เป็นอะไรที่คลุมเครืออยู่ ช่วงปีหน้าของไทยเป็นช่วงที่เราหวังว่าจะฉีดวัคซีนได้เยอะ และวัคซีนที่รัฐบาลบอกว่าจะมาเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ขอให้มาจริงๆ คือออกข่าวว่าจะมาเยอะ 60 ล้านโดส วัคซีนอะไรก็ไม่รู้ อย่างสปุกนิกก็หายไปไหนไม่รู้ ผมคิดว่าถึงเวลาใกล้ๆ ถึงจะเห็นชัด ความไม่แน่นอนในการประมาณการเศรษฐกิจมันแกว่งตัวเยอะ ขึ้นอยู่กับวัคซีนว่าถึงเวลารัฐบาลเอามาได้จริงหรือไม่ อันนี้ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ ตอนนี้รัฐบาลพยายามไม่ล็อกดาวน์ทุกอย่าง



9 views
bottom of page