top of page
379208.jpg

หวั่น 'ทุนจีน' เหมากินรวบทั้งระบบ


Interview: คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เทคโนโลยีดิจิทัล Trade War ค่าบาทแข็ง ถูกตัดสิทธิ GSP ปมปัญหาใหญ่ของ อุตฯ และการส่งออกของไทย ทำให้โรงงานปิดตัวระนาวหรือย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเพื่อนบ้าน ที่เหลือต้องทู่ซี้กัดฟันสู้ต่อ แต่ในวิกฤตมีโอกาส พบมีโรงงานใหม่ทยอยเปิดตัวมากขึ้น รวมทั้งหวังพึ่งต่างชาติมาลงทุนใน EEC แต่แรงงานไทยต้องเตรียมพร้อม เพิ่มทักษะ ความรู้ด้าน IT และ Hi-Tech ไม่เช่นนั้นจะถูกนักลงทุนจากจีนกินรวบทั้งระบบ เตือน Trade War จะลากยาว ขยายวงกว้าง ไทยต้องรับมือด้วยการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทุกด้าน รวมถึงต้องพึ่งพาส่งออกให้น้อยลง กระตุ้นการผลิต-การบริโภคในประเทศให้มากขึ้น

สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยที่โรงงานทยอยปิดไปน่าเป็นห่วงไหม

ในทุกการเปลี่ยนแปลงหรือมีวิกฤตการณ์จะมีการปรับตัวเสมอ ครั้งนี้อุตสาหกรรมเรามีความท้าทาย 2-3 เรื่อง

เรื่องแรกคือเทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัล ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนแปลง ใน 45 กลุ่มของสภาอุตสาหกรรมเราระวังเรื่องนี้มาหลายปีหลังจากที่เราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมาแรง ในต่างประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบไปหมด เพียงแต่ใครได้รับผลกระทบก่อน ท้ายสุดได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นในเรื่องการปรับตัวเราเตรียมตัวมาพอสมควร

แต่ในตัวท้าทายตัวที่ 2 ซึ่งในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่อง Trade War สหรัฐกับจีน เรื่องนี้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากไปทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย สหรัฐและจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก เมื่อทั้งสองประเทศมีปัญหากันย่อมส่งผลให้ประเทศที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย

ใน 2 เรื่องนี้เป็นความท้าทายที่เห็นได้ชัดและเป็นต้นเหตุทำให้ระบบต่างๆมีการปรับตัวมาก ประเทศไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของ GDP ให้นึกภาพว่าเราค้าขายได้เงินตราต่างประเทศ เมื่อต่างประเทศมีปัญหาและทำให้ซบเซา บรรยากาศของโลกจะเห็นการค้าการขายวุ่นวายและซบเซาไปหมดและอยู่ในช่วงการปรับตัว

ประเทศไทยเรามีคู่ค้าอันดับ 1 คือจีน เราส่งออกไปจีน เป็นยอด 12% ของยอดการส่งออกไทยทั้งหมด ส่วนส่งออกไปสหรัฐอยู่อันดับ 3 ประมาณ 10% ใน 2 ประเทศนี้มีมูลค่าการส่งออกรวมกัน 22-23% ของมูลค่าการส่งออกหรือ 1 ใน 4 ทีนี้บังเอิญเราใน global supply chain ในจีนมากหน่อย จีนส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนหรือปฐมภูมิเพื่อนำไปผลิตและประกอบต่อเพื่อการส่งออก ถ้าสินค้าใดที่อยู่ในห่วงโซ่ซึ่งไทยส่งไปจีน แล้วจีนผลิตส่งอเมริกา และเป็นสินที่สหรัฐขึ้นภาษีใน Trade War นี้ พวกนี้จะได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาในหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไอทีที่นำไปผลิตต่อเพื่อส่งไปยังสหรัฐพวกนี้ได้รับผลกระทบในเชิงลบ ก็ต้องมีการปรับตัว

นั่นคือเรื่องความท้าทายหลักที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีแถมมาอีกหน่อยเรื่องการตัดสิทธิ์ GSP ที่สหรัฐตัด 573 รายการของไทย อันนี้ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแปรรูป แม้ว่าเป็นเงินไม่มาก คือในวงเงินทั้งหมดประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินไทยประมาณ 40,000 ล้านบาท หลายคนเข้าใจผิดนึกว่าเราเสียหาย 1,300 ล้านเหรียญ มันไม่ใช่ ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 50 ล้านเหรียญ หรือ 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น แต่บางมุมเป็นเรื่องกำลังใจที่รู้สึกว่าปัญหาต่างๆเข้ามาเยอะ

ท้ายสุดมีอีกปัญหาหนึ่งที่น่าหนักใจของผู้ส่งออกของไทยคือค่าเงินบาทที่แข็งมาก ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นมาเกือบ 20% ถ้าเทียบเฉพาะต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าประมาณ 6% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ผลิตสินค้าเดียวกันในภูมิภาคเรา เท่ากับเงินบาทแข็งค่ามากเป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกเรายิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่ ก็ต้องปรับตัวกันก็

จะเห็นข่าวว่าโรงงานเลิก ซึ่งมันเริ่มจากลดการทำโอที ลดกะการทำงาน ถ้ายังไม่ได้ผลก็ต้องเลิกจ้างลูกจ้างรายวัน ถ้ายังไม่ได้ผลก็เลิกจ้างพวกเหมาจ่าย ถ้าไม่ได้อีกก็เลิกจ้างพวกไม่พ้นโปร 120 วัน ยังไม่ได้อีกก็ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว 2-3 เดือน ไม่ได้อีกก็ต้องหยุดโรงงาน ย้ายฐานการผลิต ก็เป็นมาตรการจากน้อยไปมากแล้วแต่อุตสาหกรรมนั้นๆ

แต่เวลาเดียวกันอย่าตกใจ มันเป็นธรรมดา เรื่องการปรับตัว มีพวกที่ได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันก็มีโรงงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จากตัวเลขที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงมาพบว่าจำนวนที่ปิดก็ปิดไป แต่ที่เปิดใหม่เพิ่มมาเป็นเท่าตัว สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตคือความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยจะทำยังไง เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะค่าแรงถูกกว่า เขาได้ GSP สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยุโรป อเมริกา แต่ประเทศไทยเราเก่ง เราได้ดุลการค้ามากก็เลยโดนตัด GSP อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

อุตสาหกรรมตอนนี้อยู่ในช่วงปรับตัวอย่างมาก ถึงแม้มีแรงงานตกงาน แต่จริงๆแล้วอัตราการว่างงานของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเรายังดีมาก เราอยู่อันดับ 2 ของโลก คือ ว่างงานน้อยที่สุด จากเดิมเราเคยอยู่ 0.7% วันนี้เราขึ้นมาอย่างมากไม่เกิน 1% เพราะฉะนั้นยังพอไปได้อยู่ ไม่ถึงกับแย่ แต่ระยะยาวเมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ฐานการผลิตเวลานี้มีการย้ายฐานซัพพลายเชน มีการปรับตัวกันหมด อย่าง Trade War ครั้งนี้ สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวให้ดีคือการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนจีนหรือต่างประเทศที่ลงทุนในจีนแล้วต้องย้ายฐานออก คงมี 2-3 ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดี คือ 1.เวียดนาม 2.ประเทศไทย ในวิกฤตก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้วมีโอกาสเหมือนกัน

ที่ว่าจะมีนักลงทุนจะเข้ามาทำอะไร

ขณะนี้ที่รัฐบาลไทยกำลังเชิญชวนในโปรเจกต์ใหญ่ คือ EEC ใน 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ เป้าหมายจากเดิมมี 10 อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันเพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรม เป็น 12 อุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งผมคิดว่าจะมีการเข้ามาขอยื่นลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ผ่าน BOI และผ่านคณะทำงาน EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไอทีหรือไอโอทีเข้ามาค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่เรากังวลในอนาคตคือเราจะมีบุคลากรหรือทักษะสูงรองรับเขาได้อย่างไร เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมที่เขามาลงทุนถามว่าเขามาลงทุนในไฮเทคโนโลยีซึ่งเราต้องมีคนไฮทักษะให้เขาด้วย

ไม่อย่างนั้นเขาก็เอาคนของเขาเข้ามาเอง

ใช่ อย่างจีน ในอนาคตคาดว่าน่าจะย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทยมาก แต่พวกจีนส่วนใหญ่ก็เอามาครบเลย ทั้งวิศวกร ผู้จัดการโรงงาน รวมถึงคนงานทุกแผนก อ้างว่าประเทศไทยยังรองรับตรงนี้ไม่ได้ ขณะนี้วิทยาศาสตร์อุดมศึกษาของไทยกำลังรีบเร่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อให้สอดคล้องอุตสาหกรรมใหม่ ทำอย่างไรที่จะเอาแรงงานเดิมมารีสกิลใหม่หรือมาอัปสกิลให้เขาสามารถทำงานได้ดีหรือเก่งกว่านั้น

พวกต่างชาติเข้ามา ประโยชน์ก็ไม่ได้ตกอยู่กับไทยมากเพราะการจ้างงานก็เอาคนจากนอกเข้ามาอย่างจีนมาปักหลักเลยแล้วยังสร้างสังคม สร้างชุมชนของพวกเขาเอง

อันนี้เป็นเรื่องที่เรากังวล ก็ต้องฝากให้คิดด้วยว่าขณะนี้ในสังคมของโลก ทุกประเทศอยู่ในลักษณะของการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์จุดประเด็นเรื่องอเมริกา เป็นเรื่องการปกป้องตัวเอง ต่างคนต่างอยากขายแต่ไม่อยากซื้อ แล้วอยากให้คนของเขาลงทุนในประเทศ ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด

วันนี้ประเทศไทยได้ดุลการค้าสหรัฐปีนึงประมาณ 20,000 ล้าน เป็นประเทศอันดับ 11 ที่ได้ดุลสหรัฐ อันดับ 1 คือ จีน เพราะฉะนั้นพวกที่ได้ดุลสหรัฐจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด การที่จีนหรือประเทศอื่นๆ มาใช้ฐานการผลิตของเราทดแทนฐานเดิมของจีนแล้วส่งไปขายอเมริกามากขึ้นจนเราได้ดุลจาก 20,000 เป็น 30,000-40,000 ล้าน เราอาจโดนอเมริกาตอบโต้ ซึ่งต้องคอยดูว่าผลประโยชน์เล่านี้คุ้มกันไหม ที่สำคัญการที่ให้ต่างชาติมาลงทุนเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกอย่างต้องมีการถ่วงดุลและต้องมองผลประโยชน์ในประเทศด้วยว่าอุตสาหกรรมเราจะอยู่กันยังไง ประเทศไทยท้ายสุดแล้วต้องคัดเลือกอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ ไม่ใช่ว่าเอาสารพิษหรือขยะมาที่ประเทศไทย ก็อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องระมัดระวังและดูแลตรงนี้อย่างใกล้ชิด

เวลานี้ที่บอกโรงงานปิด ถึงขั้นไม่ชำระค่าสมาชิกสภาอุตสาหกรรมมีไหม

ไม่มี สภาอุตสาหกรรมของเรามีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 12,000 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ดี เข้มแข็งพอสมควร เรื่องปัญหาการชำระค่าสมาชิกไม่ค่อยเยอะ ที่ยังไม่ชำระบางทีอาจจะลืมหรือยังไม่ถึงดีล แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา ขณะนี้ที่เราเน้นคือสร้างความเข้มแข็งมากกว่า คือเรื่องการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมให้เป็นคลัสเตอร์ อยากให้ภาครัฐช่วยทบทวนเพราะการพึ่งพาการส่งออก 70% ของ GDP มันไม่แข็งแรง เวลาเราเจอปัญหาภายนอกประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ ประเทศที่เข้มแข็งควรพึ่งพาตลาดในประเทศให้มากขึ้น ต้องมีการตั้งเป้าว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะลดการพึ่งพาจากต่างประเทศเหลือ 60% และในระยะยาวให้เหลือ 50% พึ่งพา GDP 50% ในประเทศ อย่างนี้จะทำให้เราเข้มแข็งและยืนบนขาตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป เวลาเกิดปัญหาจากต่างประเทศเราจะไม่ปวดหัว ไม่ต้องตื่นตระหนก

สมาชิกสภาอุตสาหกรรมตอนนี้เพิ่มขึ้นในอัตราช้าลงไหม

ไม่ ทุกๆปีเรามีเป้า เรามีสายงานรองประธานที่ดูด้านทะเบียน เขาจะชักชวนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ตอนนี้มีอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งเปิดใหม่มารองรับ เช่น อุตสาหกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรม EV รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านอากาศยาน ก็จะมีสมาชิกใหม่เข้ามา แต่ในอุตสาหกรรมเดิมๆอาจจะอืดขึ้นนิดหน่อย สมาชิกไม่ค่อยเพิ่มมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัว แต่อุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะจัดกลุ่มขึ้นมาพวกนี้คึกคักมาก และมีอุตสาหกรรมในอนาคตคืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือ Defense Industry ซึ่งในอนาคตเราอาจจะผลิตพวกนี้เอง และพวกหุ่นยนต์ก็กำลังมาแรงมากเหมือนกัน สมาชิกพวกนี้จะขึ้นมาใหม่เป็นกลุ่มใหม่

แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังปรับตัว กำลังหาทางรักษาสภาพคล่องเพื่อรอให้สงครามการค้าคลี่คลาย เราเองดูว่าสงครามการค้าคงไม่จบง่าย ดูเหมือนน่าจะดีแล้ว แต่นาทีสุดท้ายก็พลิกและมีการต่อรองที่ไม่จบทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายนึงพอได้อย่างนึงได้คืบก็จะเอาศอก อันนี้ก็จะเป็นปัญหาต่อไป คิดว่าสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์หรือในอนาคตเลือกตั้งใหม่เป็นคนใหม่ นโยบายจะยังเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน คือยังมองจีนเป็นภัยคุกคาม เรื่องสงครามการค้ายังขยายตัวไปในด้านเทคโนโลยี สงครามการเงิน สุดท้ายเป็นสงครามตัวแทนต่อไป

20 views
bottom of page