ยังหวังไม่ได้มาก !
แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวขึ้นราว 2.10% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดหุ้นสำคัญที่เคยปรับตัวลงจากปัจจัยเฉพาะตัวในช่วงก่อนหน้าอย่างตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้น 2.44%, 2.97%, 3.57% และ 3.04% ตามลำดับ
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ และไทยปรับตัวขึ้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก โดยปรับตัวขึ้นเพียง 1.76% และ 1.87% ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ปรับตัวลดลง 15.92%, 11.91% และ 11.80% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง กลับมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย SMA 25 วันทั้งหมดแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง
อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโลกจะยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากจีน และสหรัฐเริ่มบังคับใช้มาตรการตอบโต้ด้านภาษีศุลกากร โดยสหรัฐได้เริ่มเก็บภาษี 15% จากสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนเริ่มเก็บภาษี 5% จากการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐ
นอกจากนี้ตัวเลข ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐยังคงปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2559 และลดลงจากระดับ 51.2 ในเดือน ก.ค. 2562 ทั้งนี้การที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงในเดือน ส.ค. 2562 แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณบวกขึ้นมาบ้างจากการที่รองนายกรัฐมนตรีจีนได้สนทนาทางโทรศัพท์กับผู้แทนการค้าสหรัฐ และรมว.คลังสหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเกี่ยวกับการจัดการเจรจาการค้ารอบต่อไปที่กรุงวอชิงตันในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2562 พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนจะปรึกษาหารือกันในช่วงกลางเดือนนี้เพื่อเตรียมการประชุมดังกล่าว แต่ประเด็นดังกล่าวยังคงไม่มีความชัดเจนเพียงพอ และนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกมองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐเดินมาไกลเกินกว่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่ายได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ขณะที่ตลาดหุ้นโลกยังคงมีปัจจัยกดดันที่ดูเหมือนจะเป็นระเบิดเวลารออยู่จากประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit หลังจากการเจรจาหายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยที่ล่าสุดการที่สภาสามัญชนของอังกฤษให้การอนุมัติร่างกฎหมายป้องกันการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง หรือ No-Deal Brexit กดดันให้ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ร้องขอต่อสหภาพยุโรป (EU) เพื่อขยายกำหนดเส้นตายในการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU เป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากเดิมวันที่ 31 ต.ค. 2562 ขณะที่ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศแก้เกมด้วยการเตรียมเสนอเลือกตั้งใหม่ในเดือน ต.ค. 2562 เพื่อให้ประชาชนอังกฤษเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด (คาดว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 15 ต.ค. 2562) ซึ่งแผนการยุบสภาเลือกตั้งใหม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบของรัฐสภาเช่นกันด้วยเสียงโหวต 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมด 650 คน
นักลงทุนยังกังวลทิศทางในระยะกลาง : ทั้งนี้ความกังวลของนักลงทุนต่อทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะกลาง สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้นเพียง 2.47% มาอยู่ที่ 26.80% ซึ่งยังคงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่แม้จะลดลง 2.71% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีสัดส่วนที่สูงกว่าอยู่ที่ 39.50%
ขณะที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี US Dollar Index จะอ่อนค่า 0.09% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การที่ค่าเงินเอเชีย ที่สะท้อนผ่านดัชนี Asian Dollar Index อ่อนค่าลงมากกว่าที่ 0.23% สอดคล้องกับการที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว บ่งบอกชัดเจนว่าตลาดหุ้นเอเชีย และไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของกระแสเงินทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ระดับราคาในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง โดยที่ระดับ P/E Ratio ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 18.78 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 17.00 เท่า หรือคิดเป็น Premium ราว 10.47% ขณะที่ปัจจัยในเชิงพื้นฐานที่จะช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดตัวเลข Headline CPI เดือน ส.ค. 2562 หดตัว 0.19% จากเดือน ก.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.87%
ทั้งนี้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลง 1.7% นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 2562 ที่รายงานออกมาที่ 73.6 ลดลงจาก 75.0 จากเดือน ก.ค. 2562 และถือเป็นการลดลง 6 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน
มีความเป็นไปได้ว่าความมั่นใจของนักลงทุนกับภาวะเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป หลังจากตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส นอกจากนี้ยังกังวลกับปัญหาภัยแล้ง, ความมั่นคงของรัฐบาล และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยืดเยื้อ ประกอบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง ซึ่งเป็นลบต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก, รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club