ทิศทางของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2562 มีแนวโน้มที่จะทรงต่อไปในกรอบแคบๆ เนื่องจากทั้งตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยเองยังคงขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงคลุมเครือขึ้นเรื่อยๆ หลังจากไม่มีความคืบหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งสหรัฐ และจีนอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกภายในปีนี้ ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสที่สหรัฐจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 15% รวม 1.6 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นลบต่อทิศทางการลงทุนโดยรวม
นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเกิดความกังวลขึ้นมากไปอีก มาจากวุฒิสภาของสหรัฐได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการผ่านร่างกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) ซึ่งการผ่านกฎหมายในครั้งนี้นับเป็นการผ่านร่างกฎหมายครั้งที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ต้องส่งรายงานยืนยันสถานะการปกครองตนเองของฮ่องกงเป็นประจำทุกปี ส่วนร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ที่ผ่านการลงมติ ได้กำหนดให้มีการยกเลิกการส่งออกอาวุธและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนไปฮ่องกง ซึ่งทางจีนชี้ว่าพฤติกรรมของสหรัฐเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การเจรจาการค้าชะงักไป
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกต่อไปในปีหน้า ไม่เว้นแม้แต่กับจีน ส่งผลให้ล่าสุดธนาคารกลางจีนยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) อีก 0.05% สู่ระดับ 4.15% นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วในปีนี้ และเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ที่ระดับ 4.35% การปรับลดดังกล่าวเป็นไปเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากขึ้นให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดต้นทุนช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและสงครามการค้าที่เกิดขึ้น
การคาดการณ์เกี่ยวกับการซบเซาของตลาดหุ้นโลก และไทยในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2562 ได้รับการสนับสนุนจากการที่ดัชนี VIX Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่เป็นลบ หรือมี Negative Correlation กับตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.61% และ 5.28% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ขณะที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 6.48% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 34.24% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 4.21% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 29.03%
Downside ของโลกจำกัด แต่หุ้นไทยไม่เด่น : ตลาดหุ้นโลกยังคงมีปัจจัยที่พอจะจำกัด Downside Risk ได้อยู่บ้าง จากการที่ Donald Trump ได้หารือกับ Jerome Powell ประธานธนาคารสหรัฐ หรือเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเรื่องประเด็นเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย และการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งหลังจากการหารือกัน Donald Trump ทวีตข้อความระบุว่าการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี และดูจะเป็นไปในทางทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า ซึ่งความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลข Initial Jobless Claims ของเพิ่มขึ้น 227,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2562 สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 219,000 ราย ขณะที่ดัชนี US Dollar Index ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่า 0.81%
อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยยังคงมีโอกาสที่จะ Underperform ต่อเนื่อง หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3 ออกมาเติบโตเพียง 2.4% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2.8% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ GDP ของไทยเติบโตเพียงแค่ 2.5% เท่านั้น ในไตรมาสนี้ผลกระทบหลักคือการบริโภคจากภาคเอกชนเติบโตนั้นลดลง สำหรับตัวเลขการส่งออกไตรมาสนี้ลดลง 0.4% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนโต 4.2% ลดลงจากไตรมาส 2 ที่เติบโต 4.6% ขณะที่การส่งออกหดตัวที่ -1.0% จากไตรมาสก่อนหน้าติดลบ -7.9%
นอกจากนี้รายได้ของภาคการเกษตรนั้นกลับมาโต 3.5% หลังจากที่ไตรมาส 2 นั้นติดลบ ทั้งนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ในช่วงประมาณ 2.6% ซึ่งปรับลดลงกว่าเดิมจากไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.7-3.2% ด้วยซ้ำ ขณะที่คาดการณ์มูลค่าการส่งออกจะลดลง 2.0% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 4.3% และ 2.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2% ของ GDP โดยคาดว่าจะได้ปัจจัยสำคัญคือตัวเลขการลงทุนจากภาครัฐในปีถัดไป หลังจากที่เม็ดเงินของงบประมาณปี 2563 เข้าสู่เศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงมากจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้านั้นเติบโตได้น้อย ขณะเดียวกันเรื่องของภัยแล้วก็เป็นปัจจัยที่ สศช. กังวลด้วยเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ของไทยต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2560
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ