แม้ว่าในด้านของทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะปรับตัวขึ้น 0.06%, 0.65% และ 0.34% ตามลำดับ แต่ถ้าไปพิจารณาในระหว่างสัปดาห์จะพบว่าตลาดหุ้นโลกมีความผันผวนหนักมาก หลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 1.50% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 1.51% ส่งผลให้ Spread ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 หรือในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งล่าสุด
สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 135.1 ในเดือน ส.ค. 2562 จากระดับ 135.8 ในเดือน ก.ค. 2562 ขณะที่ตัวเลขผู้ขอเข้ารับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claims เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 215,000 ราย จากเดือนก่อนหน้าที่ 211,000 ราย
ขณะที่ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐยังคงไม่แน่นอนสูงต่อไป หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีการตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม แม้ว่าล่าสุดสหรัฐจะออกมาระบุว่าสหรัฐและจีนยังคงต้องเจรจาร่วมกัน และทางสหรัฐกำลังวางแผนที่จะเชิญคณะผู้แทนของจีนให้เดินทางมายังกรุงวอชิงตัน แต่สหรัฐไม่ได้กล่าวอย่างเจาะจงว่าการเจรจาการค้ารอบใหม่ที่วางแผนว่าจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 2562 จะเกิดขึ้นตามแผนหรือไม่ ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าทั้งสองฝ่ายควรสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความคืบหน้าในการเจรจา โดยจีนจะสกัดกั้นไม่ให้สงครามการค้ากับสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าอย่างสงบ
ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านการลงทุนดังกล่าวสะท้อนออกมาจากดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาดหุ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และฮ่องกงปรับตัวขึ้น 7.2% และ 16.3% สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 0.5% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 26.1%
ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 42.2% ขณะที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง 3.5% เนื่องจากสถานการณ์การเมืองของอิตาลีลดความไม่แน่นอนลง หลังจากที่ล่าสุดพรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเดิม และพรรค 5-Star Movement สามารถจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม และจะมีการแต่งตั้ง จูเซปเป คอนเต กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีอีกครั้ง
ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแพงบนปัจจัยพื้นฐานปัจจุบัน : ชัดเจนว่าการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก และไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นราว 2.4% หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงราว 0.34% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่าน และสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ราว 10 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมัน
อย่างไรก็ดีการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนแม้ว่าจะส่งสัญญาณคืบหน้า แต่การที่ยังไม่มีอะไรชัดเจนออกมา อาจทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมาเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบได้อีก และการคาดหวังว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานจะขับเคลื่อนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก และไทยได้อย่างจริงจังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปัจจุบันระดับราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดระดับ P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 18.4 เท่า อยู่เหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 17.0 เท่า หรือคิดเป็น Premium ที่ราว 8% ขณะที่ระดับ P/E Spread ระหว่างดัชนีตลาดหุ้นไทย และดัชนี MSCI Asia ex Japan อยู่ที่ระดับ 4.4 เท่า ซึ่งเคลื่อนไหวเหนือกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีแล้ว
ในด้านของเศรษฐกิจพบว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2562 แม้ว่าจะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.6% YoY แต่โดยรวมยังอยู่ในทิศทางทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยสนับสนุนกําลังซื้อโดยรวมที่แผ่วลง โดยรายได้รวมนอกภาคเกษตรกรรมหดตัว และรายได้ภาคเกษตรชะลอลงจากด้านราคา ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังหดตัวต่อเนื่อง โดยที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.1% YoY ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 6.0% YoY ในส่วนของการส่งออก แม้ว่าจะกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ ตัวเลขการส่งออกยังหดตัว 1.7% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก
ดังนั้นในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือ 1,700 จุด การดีดตัวขึ้นระยะสั้นมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 120 นาที (120 Min)
Source: Wealth Hunters Club