top of page
312345.jpg

ศึกหนักไม้ยางพาราไทย...500 โรงพึ่งลำแข้งตัวเอง


Interview: คุณนิกร ลิขิตหวังพาณิชย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย

ปัญหารุมเร้าธุรกิจ ‘ไม้ยางพาราไทย’ ทั้งผลกระทบจาก Trade War ที่ทำให้ออร์เดอร์ลด ทั้งจากเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สู้คู่แข่งอย่างเวียดนาม-มาเลย์ไม่ได้ แถมล่าสุด ‘ทุนจีน’ ฮุบกิจการโรงงานไม้ยางพาราไทย แทรกแซงเรื่องราคาซื้อขาย กดราคาซื้อจนต่ำเกินจริง ขณะที่ตลาดผู้ซื้อหลักคือจีนมีปัญหา แนะผู้ประกอบการต้องเปิดตลาดใหม่ ที่เล็งไว้คืออินเดีย แต่มีปัญหาคืออินเดียซื้อไม้ยางพาราจากมาเลย์มากว่า 20 ปี การไปตีตลาดในอินเดียจำเป็นต้องพึ่งภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยพึ่งพาตัวเอง 100% ปัจจุบันโรงงานไม้ยางพาราในไทยมีกว่า 500 โรง แต่ส่วนใหญ่เริ่มลดกำลังการผลิต และมีหลายรายถึงขั้นต้องปิดกิจการหนีปัญหา

ภาพรวมธุรกิจไม้ยางพาราของไทยเป็นอย่างไร

ในปัจจุบันภาพรวมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากเกิดสภาวะ Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่ง และอีกเรื่องคืออัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทที่แข็งค่ามาก อีกส่วนหนึ่งคือการส่งเริมจากภาครัฐทั้งจากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการจะให้หาตลาดใหม่ๆ นอกจากตลาดจีนที่เราพึ่งพา 100%

จีนคือตลาดหลักของเรา ตลาดใหม่ที่ต้องหามาทดแทนจะหาง่ายหรือไม่

ตลาดอื่นๆก็มี คือตลาดอินเดีย แต่ว่าเขาใช้ไม้มาเลเซีย และเนื่องจากว่าเรามีภาษีที่แพง และขาดการโปรโมตจากทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอินเดียเขาใช้ไม้ยางพารา 100% และพึ่งพาทางมาเลเซียอยู่ เราก็พยายามจะมุ่งเน้นตลาดอินเดียอยู่

คือเราต้องออกแรงไปตีตลาดอื่นๆที่มีเจ้าของอยู่แล้ว

ใช่ ดังนั้นทางการก็ควรจะช่วยด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งที่ตลาดอินเดีย เรามีกรมการค้าต่างประเทศอยู่ อย่างน้อยก็ติดต่อผู้ซื้อผู้ขายได้โดยตรง ซึ่งอินเดียเขารู้จักไม้ยางพาราในนามไม้มาเลเซีย วู้ด ไม่ใช่ในนามไม้ยางพารา โดยมาเลเซียทำตลาดไม้ยางพาราที่อินเดียมากว่า 20 ปีแล้ว

สถานการณ์การส่งออกไม้ยางพาราของไทยเป็นอย่างไร

ปีหนึ่งตกอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้ารวมค่าตั๋วปีหนึ่งประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเราต้องพึ่งพาตัวเอง 100% ดังนั้นเมื่อผู้ซื้อหลักคือจีนมีสงครามการค้า ทุกคนก็รัดเข็มขัด แต่ตอนนี้น่าจะมีข่าวดีจากประเทศจีน จากที่เกิดสงครามการค้าขึ้น เศรษฐกิจจีนไม่ดี เขาเลยมีการอนุญาตให้สร้างคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น หลังจากช่วง 2 ปีก่อนไม่อนุญาต ซึ่งเมื่อมีการสร้างบ้านเกิดขึ้น มันก็มีความต้องการต่างๆตามมาโดยปริยาย ตรงนี้ทำให้เกิดกำลังซื้อของยางพาราไทยเรา

ขณะเดียวกัน สิ่งที่แย่ในช่วงที่ผ่านมา ทราบมาว่าในธุรกิจยางพารามีคนจีนมาเทกโอเวอร์โรงงาน ที่ผ่านมา เราอนุญาตให้คนจีนมาตั้งโรงงานไม้ยางพาราได้ เมื่อคนจีนมาตั้งโรงงานได้ เขาก็ควบคุมภายในของเรา เขาก็จะกดราคาเรา และทำให้เราต้องเดือดร้อน ดังนั้น อยากให้หามาตรการว่าจะทำอย่างไรในการให้ต่างชาติหรือคนจีนมาลงทุนธุรกิจตรงนี้

เห็นว่านักธุรกิจจีนมาซื้อโรงงานไม้ยางพาราจากคนไทยไป 2 โรงงาน จากที่เดิมคนไทยเป็นเจ้าของอยู่ 5 โรงงาน โรงงานที่จีนซื้อไปเป็นโรงงานแบบไหน

ตอนนี้คนจีนมาลงทุนสร้างโรงงานเอง และขายเอง กำหนดราคาเอง ควบคุมราคาเอง เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ต้นทุนเท่าไหร่ ก็จะควบคุมราคาของเรา ขณะที่เขามาเทกโอเวอร์โรงงาน 2 โรง เป็นโรงงานผลิตยางพารา เป็นกระบวนการต้นน้ำ ซึ่งการที่เขามาเทกโอเวอร์ มาสร้างโรงงานเองในไทย ในความเป็นจริงก็มีกฎหมายที่ห้าม แต่เขาก็หาช่องทาง หาเป็นนอมินี ตอนนี้ก็มีพอประมาณ

ต่อไปเราก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะจีนซื้อเอง ขายเอง ส่งออกเอง คนไทยก็ต้องตกงานไป

ในส่วนสวนยางพาราไทยสมัยก่อนไม้ยางพารามีถึง 20 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่เยอะสุดในโลก มีความต้องการมากที่สุดในโลก ความต้องการยังมีอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับไม้แอ๊ก ซึ่งแพงกว่าเราเกือบ 100 เท่า ไม้ยางพาราในอนาคตยังมีอยู่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เรามีมาตรการในการควบคุมช่วยเหลือ เพื่อความยั่งยืนในธุรกิจของไม้ยางพาราไทย

ยางพาราที่ราคาตกลงมาเยอะ แล้วมีการโค่นไม้ยางพารา ตรงนี้จะกระทบในอนาคตข้างหน้าหรือไม่

ไม่หรอก เนื่องจากเรามีถึง 20 ล้านไร่ ต่อให้ไม่ได้ปลูกใหม่ ภายใน 10 ปีจากนี้ยังโค่นไม่หมดเลย ซึ่งในเรื่องวัตถุดิบถือว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราอยากให้อยู่ที่ 35 หรือ 38 บาท เนื่องจากเราสู้กับทางเวียดนามหรือมาเลเซียไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องค่าแรงไม่ว่าจะ 300 หรือ 400 บาท ก็ขอให้มีคุณภาพ ความคุ้มค่ากับงาน แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ แค่คนกวาดพื้น ค่าแรงก็ขึ้นไปแล้ว จะไปสู้ใครเขาได้ ซึ่งหากค่าแรงขึ้น 400 บาท เชื่อว่าจะมีคนเดือดร้อนแน่นอน

ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตไม้ยางพาราไทย มีกี่โรง

มีกว่า 500 โรง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่โซนทางภาคใต้และโซนภาคตะวันออก ทุกวันนี้โรงงานขนาดเล็กมีการชะลอกำลังการผลิต และเริ่มหยุดดำเนินการไปก็มี เพราะเขาสู้ไม่ไหวกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ แต่โรงงานไหนมีการตลาดที่ดี ก็ยังพอไปได้อยู่ แต่ก็เหนื่อยมาก ซึ่งจังหวัดที่มีโรงงานไม้ยางพาราก็จะมีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง

ในส่วนของแบงก์เรื่องการปล่อยสินเชื่อ

อยากวิงวอนทางภาคธนาคารด้วย ธุรกิจไม้ยางพาราเป็นธุรกิจที่ดีมาก ที่ธุรกิจวันนี้มีดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็มีคนเหมารวมว่าไม่ดีหมด ก็อยากจะให้ยืดหยุ่นกันบ้าง ถือว่าธุรกิจไม้ยางพารายังมีอนาคตที่สดใสอยู่ข้างหน้าตราบใดที่คนยังใช้เฟอร์นิเจอร์อยู่

เราก็โดนเฟอร์นิเจอร์นอกตีแรงด้วยหรือไม่

ไม่ใช่ เฟอร์นิเจอร์ของบ้านเราเป็นเฟอร์นิเจอร์อานิสงส์จาก Trade War ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ออเดอร์เข้ามายังเวียดนาม เข้ามายังมาเลเซีย เข้ามาทางบ้านเรา เราจะได้ผลประโยชน์จากด้านนี้ ซึ่งถ้ารัฐบาลช่วยออกนโยบายส่งเสริมด้านบีโอไอ บีโอไอที่ผ่านมาเขาช่วยลดภาษีเครื่องจักรเท่านั้นเอง อยากให้ช่วยเหลือด้านภาษีนิติบุคคล 5 ปี ดูอย่างคนต่างชาติมาสร้างโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยยังส่งเสริมดอกเบี้ยในราคาถูกเลย

78 views
bottom of page