top of page
379208.jpg

ยังคงไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่จริงจัง


ในเชิงเทคนิคการที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx 50 ของยุโรป และ Nikkei ของญี่ปุ่น ต่างปรับตัวลงเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วันทั้งหมดแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐในระยะสั้นยังคงมีโอกาสพักตัวต่อไป สอดคล้องกับการที่ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงกลับมาเคลื่อนไหวเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25 วัน) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ต่อเนื่องจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงอีกครั้งถึง 1.52% ทั้งนี้แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลดลงเพียง 0.52% แต่ไม่สามารถหักล้างกับการปรับตัวลงอย่างหนักของตลาดหุ้นยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, เอเชีย และไทยที่ปรับตัวลดลง 3.35%, 4.38%, 3.53%, 4.37% และ 2.04% ตามลำดับได้ โดยประเด็นกดดันสำคัญยังคงเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ หลังประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 ขณะที่จีนดำเนินมาตรการตอบโต้โดยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ที่ระดับต่ำกว่า 7 หยวน ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด และทำให้สหรัฐออกมาประกาศว่าจีนกำลังแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่ามูลค่าที่แท้จริง

นอกจากนี้จีนยังประกาศระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ โดยคณะกรรมการภาษีศุลกากรของสภาแห่งรัฐของจีนไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐที่จีนได้ซื้อมาหลังจากวันที่ 3 ส.ค. 2562 ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และจีนดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี โดยปัญหาใหญ่ที่สุดนั้นคือผู้นำจากทั้งสองชาติต่างคิดว่าอีกฝ่ายไม่จริงจังกับการเจรจาการค้า

ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 24.1% มาอยู่ที่ 48.2% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในขาขึ้น หรือ Bullish ที่ลดลง 16.8% มาอยู่ที่ 21.7%

ขณะที่สถานการณ์การค้าระหว่างจีน และสหรัฐดูเหมือนว่าจะยังไม่จบง่ายๆ โดยที่รายงานของ Goldman Sachs ออกมาระบุว่าสงครามการค้าจะไม่จบจนกว่าจะถึงเลือกตั้งปีหน้าของสหรัฐ ทำให้ความหวังว่าเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นได้จากการจับมือของทั้งสองฝั่งลดน้อยลงไปเรื่อยๆ โดย Goldman Sachs ระบุว่าการปล่อยค่าเงินให้อ่อนของจีน เป็นเหมือนสัญญาณสำคัญที่จีนได้ส่งให้สหรัฐทราบว่า พวกเขาพร้อมที่จะยุติการเจรจา และจะต่อสู้กับสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบในการรบกันทางการค้าครั้งนี้ เพราะการปล่อยให้เงินอ่อนน่าจะผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว ทำให้คงไม่มีการย้อนความคิดกลับไปง่ายๆ

นอกจากนี้สหรัฐไม่สามารถปล่อยให้ปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนได้เหมือนสกุลเงินหยวน เพราะการจะลดค่าเงินแบบนั้นจะทำให้มูลค่าหนี้ของสหรัฐสูงขึ้นไปด้วย

ดอกเบี้ยลดในสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบ : ทั้งนี้แม้ว่าในส่วนของภาพรวมของธนาคารกลางทั่วโลก จะยังคงเป็นแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีแน่นอน แต่การปรับลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นการปรับลดพร้อมกับการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งส่งผลในด้านลบมากกว่าบวกต่อทิศทางการลงทุน

ล่าสุดธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (OCR) 0.50% สู่ระดับ 1.00% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ซึ่งธนาคารกลางนิวซีแลนด์ยังส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.35% สู่ระดับ 5.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2553 อีกทั้งธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงในช่วงปี 2562-2563 ลงสู่ระดับ 6.9% จากระดับ 7% และยังคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ จะอยู่ที่ระดับ 3.1% ในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2563 ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2563 นั้น คาดว่าดัชนี CPI จะอยู่ในกรอบ 3.5-3.7%

นอกจากนี้ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้มุมมองด้านลบต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลก สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง 2.61% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงเพียง 1.01 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ ลดลงน้อยกว่าที่คาดว่าจะลดลง 2.96 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ อีกทั้ง EIA ลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบและเชื้อเพลิงเหลวของสหรัฐและลดคาดการณ์การอุปโภคน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงเหลวทั่วโลก 0.1% สำหรับปี 2562 และ 2563

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

5 views
bottom of page