top of page
379208.jpg

รอยืนในกรอบ 1,680-1,700 จุดได้ค่อยทยอยซื้อ


ท่าทีของเฟดเป็นปัจจัยลบ !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกถูกดดันอย่างหนัก โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก และดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง 1.68% และ 1.67% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึง Sentiment เชิงลบของนักลงทุนอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะได้รับปัจจัยบวกจาก บริษัทจำนวนมากกว่า 50% ของดัชนี S&P 500 ได้ประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งในจำนวนดังกล่าวราว 75% ได้รายงานตัวเลขกำไรสูงกว่าคาด (Positive Earnings Surprise) แต่ไม่สามารถสกัดกั้นความผิดหวังจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติ 8-2 เสียง (2 เสียงไม่เห็นด้วยในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย)ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมตามคาด ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ ธ.ค.2551 โดยธนาคารกลางสหรัฐระบุว่าความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ เป็นสาเหตุสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ดีการที่ Jerome Powell กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจและเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ต่อเป้าหมายทั้งหมดของเฟด ส่งผลให้ตลาดผิดหวังเนื่องจากคำแถลงการณ์ไม่ได้ให้การรับประกันว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐยังประกาศแผนการที่จะยุติการลดขนาดงบดุล 3.8 พันล้านดอลลาร์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 2 เดือน ดังนั้นจากการที่ถ้อยคำแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐบอกเป็นนัยได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นการจับตาดูสภาพเศรษฐกิจเพื่อปรับทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่าอาจไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้แนวโน้มของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐในระยะสั้นยังคงมีโอกาสพักตัวต่อไป โดยเฉพาะหลังจากที่ล่าสุดในเชิงเทคนิคดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx 50 ของยุโรป และ Nikkei ของญี่ปุ่น ต่างปรับตัวลงเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วันทั้งหมดแล้ว

จีนและสหรัฐคู่ปรับป่วน (ตลาดหุ้น) โลก : ในส่วนของปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไป คงต้องโฟกัสไปที่ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นไปอีก หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump ออกมาระบุว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 10% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 ขณะที่ประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีนได้ออกมาระบุว่าจะยุติการจำหน่ายยา Fentanyl ให้แก่สหรัฐ

สอดคล้องกับการที่เจ้าหน้าที่สหรัฐรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่จีนปฏิเสธในเรื่องของการปรับปรุงข้อกฎหมายในเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรเพิ่มเติมจนกว่าสหรัฐจะมีการตกลงการค้าที่ครอบคลุม โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐและจีน มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงราว 8%

ในส่วนของตลาดหุ้นดัชนี VIX Index ของสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงกลับมาเคลื่อนไหวเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ส่งผลให้ในภาพรวมของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2551 รวมถึงธนาคารกลางบราซิลปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ลงสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่ที่ 6.00% จากระดับ 6.50% ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างมากเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2561 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา และสกัดกั้นเงินเฟ้อไม่ให้ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายมากเกินไป ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.25%

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2562 และ 2563 พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นสำหรับปี 2562 และ ปี 2564 ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ให้คงนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ -0.1% และสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward guidance) สำหรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งบ่งชี้ว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไปอีก

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

9 views
bottom of page