ปัญหาภัยแล้งกลางฤดูฝนที่กำลังถล่มประเทศไทยอยู่ในช่วงนี้ จากผลพวงของสภาวะโลกร้อนภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ภาคการเกษตรเสียหายรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือนตั้งแต่ยังไม่เข้าฤดูฝน พืชเศรษฐกิจอย่างข้าวนาปีกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งอยู่ในช่วงเพาะปลูกข้าวนาปีการผลิต 2562
ดังนั้น โครงการประกันภัยข้าวนาปี 2562 ที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยเป็นหนึ่งในองคาพยพของโครงการ จึงต้องลุ้นหนักว่าปีนี้จะแบกภาระหนักจากการจ่ายสินไหมนาข้าวเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเท่าไร เมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับรายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่าปัญหาภัยแล้งในฤดูฝนปีนั้ จะสร้างผลกระทบความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปี ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ประเมินว่าจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เฉพาะพื้นที่ปลูกในภาคอีสาน คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด 46% และที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเรื่องวิกฤตภัยแล้งสาหัสมากกว่าทุกภาคของประเทศเป็นประจำทุกปี
ก่อนหน้านั้น โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2559 และ 2560 โดย ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (15 ธ.ค. 2561) มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย 1.92 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 27.60 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ คิดเป็น 47% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 18 ก.พ. 2562 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 1,740.60 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณเพื่อทำโครงการจากปีการผลิต 2561 จำนวน 164.25 ล้านบาททำให้เสนอของบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1,576.35 ล้านบาท หลังจากโครงการนี้เมื่อปี 2561 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2559 และ 2560 ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.92 ล้านราย มีจำนวนพื้นที่เข้าโครงการ 27.60 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 92% ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ และคิดเป็น 47% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ
ดังนั้นเพื่อให้โครงการอย่างต่อเนื่องและช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาปลูกข้าวนาปีทั้งฤดูกาลผลิตจากความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยให้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 ผ่านมา
การทำประภัยข้าวนาปีนี้ยังกำหนดพื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การรับประกันภัยพื้นฐาน หรือเทียร์ 1 ที่ให้พื้นที่รับประกันสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.ไม่เกิน 28 ล้านไร่ กลุ่มเกษตรทั่วไป ไม่เกิน 2 ล้านไร่อัตราดอกเบี้ยเท่ากันทุกพื้นที่ 85 บาท/ไร่ (ไม่รวม VAT และอากรแสตมป์) โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกัน 58.02 บาท และ ธ.ก.ส.อุดหนุน 34 บาท รวมเป็นค่าเบี้ยประกันภัยทั้งหมด 92.02 บาท/ไร่ ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส.ต้องเอง 34 บาท กำหนดระยะเวลาโครงการเพาะปลูกทุกภาค (ยกเว้นภาคใต้) ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิต-30 มิ.ย. 2562 ส่วนภาคใต้ถึง 15 ธ.ค. 2562
ความคุ้มครองในโครงการประกันภัยข้าวนาปีทั้งหมด ต้องเกิดจากสาเหตุ 7 ภัยธรรมชาติ คือ 1. น้ำท่วม/ฝนตกหนัก 2. ฝนทิ้งช่วง 3. ลมพายุ/ไต้ฝุ่น 4. อากาศหนาว 5. ลูกเห็บ 6. ไฟไหม้ และ 7. ศัตรูพืช/โรคระบาด
การรับประกันภัยในระดับเทียร์ 2 กำหนดพื้นที่รับประกันภัย ไม่เกิน 5 ล้านไร่ โดยอัตราเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูก วงเงินคุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติ 240 บาท/ไร่ และจากภัยศัตรูพืช 120 บาท/ไร่
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่าตัวเลขการจ่ายสินไหมทดแทนโครงการประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่เริ่มในปี 2554-2561 มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันกว่า 5,790 ล้านบาท สะท้อนถึงประโยชน์จากการมีโครงการประกันภัยข้าวนาปีที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสามารถช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วยเพราะบริษัทประกันวินาศภัยกว่า 20 แห่งที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมโครงการรับประกันภัย ต้องเฉลี่ยการจ่ายค่าสินไหมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของโครงการ
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ตั้งโครงการนี้มา 7 ปี บริษัทประกันภัยไม่เคยมีกำไร เพราะมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการและต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติทุกปี มากน้อยต่างกันไปตามภาวะฟ้าฝนและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่าในปีการผลิต 2560 พบว่าสมาคมประกันวินาศภัยไทย จ่ายเคลมสินไหมข้าวนาปี 1,915 ล้านบาท คิดเป็นพื้นที่ 1.52 ล้านไร่ จากจำนวนพื้นที่รับประกันภัยข้าวนาปีทั่วประเทศ 26.1 ล้านไร่ โดยภาคอีสานมีการจ่ายสินไหมมากที่สุดกว่า 1.05 ล้านไร่ จากพื้นที่รับประกันภัย 16.66 ล้านไร่
ปี 2561 สมาคมประกันวินาศภัย คาดว่าโครงการประกันภัยข้าวนาปีจะได้รับความเสียหายประมาณ 1.5 ล้านไร่ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือ 1,260 บาท/ไร่ ภารอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดของประเทศ คิดเป็น สัดส่วน 46% ของประเทศ
สรุปแล้วตัวเลขการจ่ายสินไหมทดแทนโครงการประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่เริ่มในปี 2554 ถึงปี 2561 มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 จนถึงปัจจุบันกว่า 5,790 ล้านบาท สะท้อนถึงประโยชน์จากการมีโครงการประกันภัยข้าวนาปีที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสามารถช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ทว่าปีนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกูรูในแวดวงคาดการณ์ว่าวิกฤตนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ส.ค. จากนั้นน่าจะเกิดพายุฝนฟ้าถล่มเข้ามา ซึ่งถ้าปริมาณน้ำฝนมากเกินไปอีก ก็จะมีผลต่อแนวโน้มน้ำท่วม เมื่อเป็นเหตุการณ์ภัยแล้งสลับภัยน้ำท่วมเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อโครงการประกันภัยข้าวนาปี เพราะต้นข้าวกำลังจะยืนตายซาก เข้าเงื่อนไข 1 ใน 7 ความคุ้มครองบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการได้แต่ทำใจและปลอบใจตัวเองว่าเป็นโครงการเพื่อสังคม ตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ขอความร่วมมือมาแต่แรก
ส่วนในระยะถัดไป บรรดาสารพัดโครงการประกันภัยพืชผลที่จะทยอยออกมาเรื่อยๆอีก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพืชผลทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจประกันภัยคงมโนภาพกันล่วงหน้าไว้ว่าทำมาค้ากำไรไม่ได้แน่นอน อย่างเก่งคงได้แค่เสมอตัว
ล่าสุด การประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) โดยมี บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) และ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ ร่วมรับประกันภัย โดยกรมธรรม์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ม.ค. 2562-29 ม.ค. 2565 ซึ่งเบื้องต้นบริษัทเริ่มรับประกันภัยใน 24 อำเภอ ของ จ.เชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 1 แสนไร่ (จากพื้นที่เพาะปลูกในเชียงใหม่ทั้งหมดประมาณ 3 แสนไร่) โดยเริ่มขายกรมธรรม์ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. 2562 เป็นระยะแรก เพื่อให้ความคุ้มครองภัยภาวะฝนแล้งที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชลำไยในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-เม.ย. 2562 เพราะลำไยเป็นพืชผลยืนต้น ต้องการน้ำในช่วงของการออกดอกเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะปลูกลำไยที่กู้เงินจากธ.ก.ส.ที่มีวงเงินกู้ทุกๆ 10,000 บาท สามารถขอเอาประกันภัยได้ 1 หน่วย โดยมีเบี้ยประกันภัย 299 บาท ต่อการให้ความคุ้มครอง 1 หน่วย ให้ความคุ้มครองสูงสุด 2,100 บาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าดัชนีฝนแล้ง จะได้รับเงินชดเชย 900 บาท และกรณีการเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าค่าดัชนีฝนแล้งขั้นสูง จะได้รับเงินชดเชย 1,200 บาท ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะไม่เกิน 2,100 บาท
หากพื้นที่เอาประกันภัยเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง หมายถึงมีจำนวนวันที่ฝนไม่ตกหรือฝนตกน้อยกว่า 1 มิลลิเมตรต่อวันติดต่อกันมากกว่าจำนวนวันที่กำหนดเป็นดัชนีฝนแล้งหรือดัชนีฝนแล้งขั้นสูง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผ่านบัญชี ธ.ก.ส.
ปัจจุบัน ทั้ง 2 บริษัทที่ร่วมรับประกันภัยในโครงการนี้ สัดส่วนฝ่ายละ 50% จ่ายสินไหมไปแล้วเรียบร้อย โดยไม่มีรายงานตัวเลขจากสำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีโครงการนี้เผยแพร่ออกมา ไม่เหมือนวันงานแถลงเปิดโครงการอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา