top of page
312345.jpg

ต่ำกว่า 1,750 จุด ยังมองพักตัวต่อไป


ทิศทางของตลาดหุ้นโลกอยู่ในภาวะพักฐานในระยะสั้นชัดเจน โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงต้นสัปดาห์ถูกกดดันจากตัวเลข Nonfarm payroll ที่ออกมาแข็งแกร่งส่งผลให้ตลาดเกิดความลังเลว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามที่คาดการณ์หรือไม่ แม้ว่าในช่วงกลางสัปดาห์ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเน้นย้ำปัจจัยลบหลายประการ เช่น ความตึงเครียดทางการค้าและความวิตกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นกำลังถ่วงแนวโน้มเศรษฐกิจ

ส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจในสหรัฐได้ชะลอตัวลงในระยะนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าอัตราการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนผ่านทาง Nonfarm payroll ที่เพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า จะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง หลังขยายตัวเพียง 72,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2562

อย่างไรก็ตามยังคงไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะนำเศรษฐกิจไปสู่จุดสมดุล เนื่องจากระดับการปรับขึ้นของราคาโดยรวมยังคง “ต่ำ” และการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างยังคงต่ำซึ่งยังส่งผล PPI ของสหรัฐยังชะลอตัว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ระดับ 2%

ทั้งนี้สถานการณ์กลับมาแย่ลงอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วงปลายสัปดาห์ Headline CPI ของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.1% YoY และ 0.1% MOM ในเดือน มิ.ย.2562 ขยายตัวมากกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 2.0% และ 0.2% ตามลำดับ หลังจากเพิ่มขึ้น 2.0%YoY และ 0.1% MoM ในเดือน พ.ค.2562 ขณะที่ Core CPI เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน มิ.ย.2562 ขยายตัวมากกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 0.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ติดต่อกัน 4 เดือน

นอกจากนี้ Initial jobless claim ลดลง สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 223,000 ราย ส่งผลให้ความคาดหวังของตลาดว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 50bps ลดลง โดย Fed fund futures บ่งชี้ว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 50bps สู่ระดับ 2% จาก 15% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

ยังพอมีปัจจัยให้จำกัด Downside Risk : ในส่วนของทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงเป็นขาพักตัว ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือ 1,750 จุด โดยมีปัจจัยกดดันจากการคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวและเงินเฟ้อของยูโรโซน โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจรายไตรมาส EC ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 1.2% ในปีนี้ โดยชะลอตัวจากระดับ 1.9% ในปีที่แล้ว และคาดว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัว 1.4% ในปีหน้า ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.5% ขณะเดียวกัน EC ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในยูโรโซน สู่ระดับ 1.3% ในปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่ระดับ 1.4% สำหรับทั้งสองปี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้ "อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2%"

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐ หลังรัฐบาลฝรั่งเศสเปิดเผยว่า จะเรียกเก็บภาษี 3% ต่อรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสของบริษัทเทคโนโลยีราว 30 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทสหรัฐ โดยภาษีดังกล่าวจะมีการเรียกเก็บต่อบริษัทที่มีรายได้จากการให้บริการด้านดิจิทัลทั่วโลกอย่างต่ำ 750 ล้านยูโร (845 ล้านดอลลาร์) โดย 25 ล้านยูโร (28 ล้านดอลลาร์) เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยความคืบหน้าล่าสุดสหรัฐกำลังตรวจสอบกรณีที่ฝรั่งเศสเตรียมเรียกเก็บภาษีรายได้จากบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ขณะที่ VIX หรือดัชนีความกลัว เป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนีความกลัวของสหรัฐ และยุโรปเปลี่ยนแปลง +2.86% และ +6.03% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดัชนี MSCI ACWI โดยปัจจุบัน VIX ของสหรัฐ ยุโรปและฮ่องกงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25)

โดยดัชนีความกลัวที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ Potential Downside จะจำกัดไม่ต่ำกว่า 1,680 จุด เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนมีความคืบหน้า หลัง Liu He รองนายกรัฐมนตรีจีนได้หารือทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของสหรัฐ ซึ่งนับเป็นการติดต่อกันเป็นครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูง หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐและประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน ได้ตกลงกันเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าจะเริ่มเจรจาการค้าครั้งใหม่ แต่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีประเด็นกดดันอยู่บ้างหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ตำหนิจีนว่ายังคงไม่ได้เพิ่มการซื้อผลิตภัณฑ์ฟาร์มของอเมริกันตามที่สัญญาไว้ในการประชุม G20 อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ทิ้งท้ายไว้ว่าหวังว่าจีนจะเริ่มดำเนินการซื้อเพิ่มเติมในไม่ช้านี้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

16 views
bottom of page