top of page
312345.jpg

การพักตัวระยะสั้นยังไม่น่ากังวล


ปัจจัยหนุนภายนอก !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวขึ้นได้ตาม Momentum ที่ “นายหมูบิน” ได้มองไว้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นถึง 2.09% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2562 ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 17.48% YTD โดยที่ตลาดหุ้นกลุ่มนำ หรือ Leader ได้แก่ตลาดหุ้นชั้นนำของโลก อย่างตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 2.42%, 2.81% และ 2.35% ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลก หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับปัจจัยเชิงบวกจากความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่สองฝ่ายจะเริ่มการเจรจาการค้าอีกครั้งบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและความเคารพซึ่งกันและกัน โดยสหรัฐและจีนจะไม่เก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าที่เหลือของจีนมูลค่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะไม่ยกเลิกภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว แต่สหรัฐจะอนุญาตให้บริษัท Huawei สามารถซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์สหรัฐ และบริษัทสหรัฐสามารถขายอุปกรณ์ให้กับ Huawei โดยจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามแนวโน้มของผลการเจรจายังมีความไม่แน่นอน โดยมีความแตกต่างกันในเรื่องจุดยืนอยู่หลายประเด็นซึ่งมีความสำคัญ เช่นเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีน เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการสนับสนุนภาคธุรกิจโดยรัฐบาล รวมไปถึงเรื่องเงื่อนไขในการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับปัจจัยเชิงบวกจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ อาทิ JP Morgan, Goldman Sachs และ Bank of America ปรับตัวขึ้น หลังผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และได้รับอนุมัติให้เพิ่มเงินปันผล และโครงการซื้อคืนหุ้น ซึ่งผลการทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 18 แห่งในสหรัฐบ่งชี้ว่า ธนาคารแต่ละแห่งมีเงินทุนเพียงพอที่จะเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและทำการซื้อหุ้นคืน

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่มองว่าทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 3.57% มาอยู่ที่ 33.16% เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่มองว่าทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังจะกลับมาเป็นขาลง หรือ Bearish ลดลง 6.01% มาอยู่ที่ 32.35%

สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญราว 17.51%, 13.16% และ 16.02% ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันทั้งหมดแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า Momentum ของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคยังคงเป็นขาขึ้นชัดเจน

แรงกดดันในประเทศยังไม่น่ากังวล : Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกจะยังคงดำเนินต่อไปอีกได้ในระยะสั้นหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐหลายรายการถูกประกาศออกมาชะลอตัว ยกตัวอย่างเช่นตัวเลข ISM Non-Manufacturing PMI สหรัฐลดลงแตะระดับ 55.1 ในเดือน มิ.ย. 2562 จากระดับ 56.9 ในเดือน พ.ค. 2562 โดยปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 56.1 นอกจากนี้ในส่วนของตลาดแรงงาน ตัวเลข Initial Jobless Claims ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 221,000 ราย ลดลงจากระดับ 229,000 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลข ADP Nonfarm Employment เพิ่มขึ้นเพียง 102,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2% อยู่ที่ 1.96% (แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 8 เดือน) ซึ่งสะท้อนว่าตลาดกำลังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตได้ สอดคล้องกับทิศทางของ Fed Fund Futures ซึ่งพบว่ามีโอกาสอยู่ที่ระดับ 74% ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุม 30-31 ก.ค. 2562 จากระดับ 2.5% สู่ระดับ 2. 25% ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปลายเดือนนี้ (30-31 ก.ค. 2562)

ดังนั้นแม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะเริ่มถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรในระยะสั้นออกมา หลังจากที่ในเชิงของ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ที่ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ P/E Spread เมื่อเทียบระหว่างดัชนีตลาดหุ้นไทย และดัชนี MSCI Asia ex Japan ที่ระดับ 4.09 เท่า หรือเคลื่อนไหวเหนือกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 3.39% รวมถึง ขณะที่มีปัจจัยลบจากหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าเข้ามากดดันด้วย หลังจากมีเอกสารเผยแพร่ผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่ารัฐจะต้องถือหุ้นกิจการโรงไฟฟ้าอย่างน้อย 51% เป็นเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2562 และผู้ตรวจการแผ่นดินได้แนะนำให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน รวมไปถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของภาครัฐ 50% ในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า

แต่ในเชิงของแนวโน้มในเชิงเทคนิคในระยะไม่เกิน 1 เดือน ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาปิดต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด อีกครั้งทิศทางของตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นขาขึ้นต่อไปได้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

18 views
bottom of page