top of page
312345.jpg

ตลาดหุ้นโลกขาขึ้นเป็นปัจจัยหนุนหลัก


“นายหมูบิน” มองว่าในทางเทคนิคทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะยังคงอยู่ในแนวโน้มของการแกว่งตัวขึ้นต่อได้ ตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ดัชนี Stocc50 ของตลาดหุ้นยุโรป และดัชนี NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงแกว่งตัวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วันได้ จากการที่สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐและจีนดีขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump พบปะกับประธานาธิบดี Xi Jinping ที่การประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกดังกล่าวมากกว่าปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้ส่งสัญญาณทิศทางของนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายเพิ่มเติม หลังจากนาย Jerome Powell ออกมาระบุเพียงว่าเฟดกำลังประเมินว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และเฟดกำลังจับตาดูสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจในระยะนี้

อย่างไรก็ตามหากดูจาก Fed Fund Futures จะพบว่าโอกาสอยู่ที่ระดับ 80% ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุม 30-31 ก.ค. 2562 จากระดับ 2.5% สู่ระดับ 2.25% เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าความต้องการการกระตุ้นของเศรษฐกิจสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนออกมาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยที่ล่าสุดตัวเลข New Home Sales ลดลง 7.8% ในเดือน พ.ค. 2562 เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 626,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว

สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 680,000 ยูนิต ซึ่งตัวเลข New Home Sales ดังกล่าว ถือเป็นสถิติที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการซื้อที่อยู่อาศัย โดยล่าสุดการที่ตัวเลข New Home Sales ลดลงส่งสัญญาณถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง สอดคล้องกับตัวเลข CB Consumer Confidence ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 121.5 ในเดือน มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2560 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวอยู่ที่ระดับ 131.1 จาก 131.3 ในเดือน พ.ค.2562 ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักที่เฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องมีสูงขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 2.01% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

อีกทั้งด้านของ Goldman Sachs Group Inc. ยังได้ออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีสิ้นปี 2562 ลดลงเหลือ 1.75% ซึ่งแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของตลาดหุ้นด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีแล้ว และในทางเทคนิคตราบใดที่ยังคงไม่สามารถกลับมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันที่ 2.10% ได้ ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐยังคงเป็นขาลง และเป็นปัจจัยหนุนกับทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ และโลกต่อไป

เงินลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาชี้นำตลาดหุ้นไทย : ในส่วนตลาดหุ้นไทยที่ Outperform มากที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับปัจจัยหนุนมาจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่ม Emerging Market ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ +495.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในประเทศภูมิภาคเอเชียอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย (+41.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), ฟิลิปปินส์ (-17.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเกาหลีใต้ (-36.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้วยปัจจัยหนุนจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่องนั้น โดยหลักๆ เป็นผลมาจาก Interest Gap ระหว่างไทย และสหรัฐที่ยังมีส่วนต่างที่ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะลดลง แต่ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่า โดยเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราว 64,982 ล้านบาท มากกว่า +2SD แล้ว และเป็นการไหลเข้าอย่างต่อเนื่องหลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ” โดยคณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

สะท้อนว่าโอกาสที่แบงก์ชาติของไทยจะลดดอกเบี้ยในระยะสั้นๆนี้ มีน้อยว่าโอกาสของฝั่งธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอย่างชัดเจน แม้ว่าในการประชุมครั้งล่าสุด กนง. จะปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงจาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ “มาก” และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก

รวมทั้งประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าถูกปรับลดจาก 3.0% มาอยู่ที่ 0.0% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐ และเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาครัฐถูกปรับประมาณการลงค่อนข้างมากจาก 6.1% เป็น 3.8% ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าลงก็ตาม

ซึ่งประเด็นของเศรษฐกิจในประเทศที่จะชะลอตัวลงจะเป็นปัจจัยลบในระยะกลาง แต่ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะได้ประโยชน์จากทิศทางของเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนข้างหน้ามากกว่า

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 เวลา 15.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

20 views
bottom of page