top of page
312345.jpg

การเมืองและการค้าโลกยังคงป่วนตลาดหุ้น


สงครามการค้ายังไม่นิ่ง !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลดลง บนปัจจัยเสี่ยงหลักจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยความคืบหน้าล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงการค้ากับจีน ส่งผลให้จีนอาจใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการต่อรองสงครามการค้ากับสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐนำเข้าแร่ตัวนี้จากจีนเพียงแห่งเดียวถึง 80% เพื่อใช้ในด้านเทคโนโลยีและอาวุธ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนหลังจากที่ล่าสุดจีนระงับการสั่งซื้อถั่วเหลืองของสหรัฐ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จีนให้คำมั่นว่าจะมีการนำเข้าถั่วเหลืองมากขึ้น

ทั้งนี้จากความตึงเครียดทางการค้าที่มีมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหมุนเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสู่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงราว 0.2% สู่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 2562 เพียงเดือนเดียว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงไปแล้วราว0.3% ซึ่งหากดู Gap ระหว่าง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี พบว่าปรับตัวลดลงที่ระดับ -0.16% สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐมากขึ้น

นอกจากนี้ภาพบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกอาจถูกประเด็นกดดันเพิ่มเติมจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกในอัตรา 5% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2562 ทั้งนี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตือนว่าภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายจะได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกอาจจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 25% ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ

ความเสี่ยงดังกล่าวสะท้อนออกมาจากดัชนี VIX Index ของสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.29% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ เคลื่อนไหวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย EMA 25 วัน สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 24.80% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 4.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 40.10%

มองแค่ Technical Rebound ก่อน : ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยการปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยจริงๆ แต่เกือบทั้งหมดได้รับผลปัจจัยเชิงบวกจากการที่ MSCI ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมาอย่างแน่ชัด หากมีความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลออกมาจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดปรับตัวขึ้นไปได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นรอความชัดเจนของปัจจัยดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ

นอกเหนือจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนแล้ว ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีประเด็นใดที่เข้ามาเป็นปัจจัยบวกใหม่ ที่จะช่วยให้ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ และโลกเปลี่ยนจากลงเป็นขึ้นได้ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐในไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวที่ระดับ 3.1% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ระดับ 3.2% ขณะที่ Consumer Spending ซึ่งคิดเป็นส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.3% ยังคงชะลอตัวหลังจากเพิ่มขึ้น 2.5% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว

สอดคล้องกับตัวเลข Initial Jobless Claim เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลต่อเนื่องให้ล่าสุด Fed Fund Futures ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อยู่ที่ 91% เพิ่มขึ้นจาก 79% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่แล้ว และโอกาสในการคงดอกเบี้ยในปีนี้ 9% ลดลงจาก 21% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่โอกาสปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ ก็เพิ่มมากขึ้นมากกว่า 50% แล้ว

ดังนั้นในเชิงของกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือ 1,670 จุดได้ การปรับตัวขึ้นมายังคงเป็นแค่ Technical Rebound เท่านั้น และเป็นโอกาสขายมากกว่าซื้อเพิ่ม

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

7 views
bottom of page