ต่ำกว่า 1,650 จุด ให้ "Wait and See"
- Dokbia Online
- May 30, 2019
- 2 min read

ขาลงระยะสั้น !
ในมุมมองของ “นายหมูบิน” ต้องเรียนว่าภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือทิศทางของตลาดหุ้นไทยเริ่มพักตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จาก กกต. ในวันที่ 8 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในทางเทคนิคการที่ SET หลุด S-T Uptrend Line บริเวณ 1,650 จุดลงมา เป็นสัญญาณการพักฐานในระยะสั้น
ทั้งนี้ทิศทางของ SET จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป และการดีดตัวระยะสั้นบริเวณ 1,610 จุด (+/-) ตราบใดที่ยังคงไม่สามารถกับไปปิดเหนือ 1,650 จุดได้อีกครั้ง ยังมองเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เพื่อลงต่อเท่านั้น โดยที่แนวรับต่อไปจะอยู่ที่ 1,580 จุด จนกว่าจะมีความชัดเจนออกมาในส่วนของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เนื่องจากถ้าหวังพึ่งปัจจัยจากต่างประเทศต้องบอกว่ายากมาก หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง 1.90%
ซึ่งปัจจัยกดดันหลักยังคงมาจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐที่อาจลุกลามเป็นวงกว้าง หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมขึ้น Blacklist บริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ 5 รายของจีน (Video Surveillance Firms) ในข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการพิจารณาข้อจำกัดต่อบริษัทเหล่านี้มีความคล้ายกับที่สหรัฐได้กำหนดต่อบริษัท Huawei ซึ่งล่าสุดทางการจีนออกมาระบุชัดเจนว่าการดำเนินการทางด้านการค้าของสหรัฐในระยะนี้กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งถ้าสหรัฐต้องการให้การเจรจาการค้าดำเนินต่อไป สหรัฐจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด หลังจากนั้นการเจรจาจึงจะเกิดขึ้นได้
แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะออกมาระบุว่าข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และอาจนำกรณีของ Huawei ซึ่งถูกสหรัฐขึ้น Blacklist เข้ามารวมในการเจรจาการค้าดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าตลาดจะไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนออกมาจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง 1.88% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มพลังงานที่เป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญที่สุด ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบ (WTI) ที่ปรับตัวลดลงกว่า 5% ต่ำกว่าระดับ 59 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่าการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมัน
ขาดปัจจัยหนุนอย่างแรง : ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี Markit Composite PMI ของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 36 เดือน หลังจากเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.0 ในเดือน เม.ย. 2562 ในทิศทางเดียวกันกับดัชนี Manufacturing PMI อยู่ที่ 50.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 116 เดือน สวนทางกับที่คาดว่าจะขยายตัว 52.5 จากระดับ 52.6 ในเดือน เม.ย. 2562 และดัชนี Services PMI อยู่ที่ 50.9 สวนทางกับที่คาดว่าจะขยายตัว 53.2 จากระดับ 53.0 ในเดือน เม.ย. 2562 ด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่มีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังกังวลกับความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit หลังจากมีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาลอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการผลักดันข้อตกลง Brexit ให้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอังกฤษ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับท่าทีของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดที่แสดงออกมาว่าไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ ส่งผลให้ล่าสุดโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในปีนี้อยู่ที่ 79% เพิ่มขึ้นจาก 74% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่แล้ว และโอกาสในการคงดอกเบี้ยในปีนี้ 21% ลดลงจาก 26% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะที่ Momentum ของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาลงในระยะสั้น สะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงเปลี่ยนแปลง +10.66%, +17.11% และ +7.78% มาอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 5.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 24.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 3.20% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 36.10%
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. ครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club