top of page
358556.jpg

แนะผู้ประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรอย่างเต็มที่

Interview: อ.สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์

ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

เตือนรัวๆ...ในยุคส่งออกซบเซา นำเข้าต้นทุนสูง ผู้ประกอบการต้องใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีอากรอย่างถูกต้องและเต็มที่ เพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด ที่ผ่านมาผู้ส่งออก-นำเข้าไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นอากรสูงเกือบสองแสนล้านบาท ชี้...จุดอ่อนการนำเข้าสินค้าจากจีนคือฟอร์ม E เพื่อขอยกเว้น-คืนอาการ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเจ็บตัวมานักต่อนัก

ช่วยอะไรกันได้บ้างสำหรับผู้ส่งออกในห้วงเวลาที่ยอดการส่งออกลดลง

ตอนนี้วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับผู้ส่งออกก็คือการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรจากความตกลงการค้าระหว่างประเทศให้ดี ทุกวันนี้ ประเทศไทยเป็นสมาชิกกลุ่มการค้าต่างๆ เช่นเป็นสมาชิกของอาเซียน ซึ่งเวลานำเข้าส่งออกสินค้าอาเซียนเขาจะมีการยกเว้นอากรนำเข้าให้ ประเทศไทยมีข้อตกลงกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ที่ลงนาม FTA กัน แล้วก็มีการลงนามในกลุ่มอาเซียนกับจีน กลุ่มอาเซียนกับอินเดีย กลุ่มอาเซียนกับญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียนกับเกาหลีใต้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการรู้จักวิธีการ อย่างเช่น ถ้าเรานำวัตถุดิบและสินค้ามาจากมาเลเซีย ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ชำระอากรนำเข้าอย่างเช่น 5% 10% ของราคาสินค้า ต้นทุนเราก็จะสูงขึ้น แต่ถ้าเราใช้แบบฟอร์ม D เราก็ขอให้ทางมาเลเซียที่เราซื้อเข้ามา ส่งแบบฟอร์มให้เรา เราก็เอาแบบฟอร์มนี้ไปดำเนินพิธีการศุลกากร แล้วก็ยกเว้นอากรนำเข้าได้ อากรนำเข้าแต่ละครั้งไม่ใช่บาทสองบาท เป็นหมื่นเป็นแสนบาท บางทีเป็นล้านเลย ตรงนี้คือประเด็นที่หนึ่งเวลานำเข้า

ขณะเดียวกัน ถ้าเราส่งออก เราก็ต้องเอาแบบฟอร์มของเรา อย่างเช่นในอาเซียน เราก็ไปขอแบบฟอร์ม D ที่กรมการค้าต่างประเทศ ส่งไปให้ผู้ซื้อในอาเซียน เขาก็ไปยกเว้นอากรที่บ้านเขา แต่ถ้าเราเอาแบบฟอร์มนี้ไปให้เขาไม่ได้ เขาก็ไม่ซื้อจากเรา เขาไปซื้อกับคนอื่น ตรงนี้คือเรื่องเบื้องต้น ยกเว้นอากรนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ จากการนำเข้าและส่งออก

เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ในเรื่องอากรนำเข้าส่งออก ผู้ประกอบการสามารถที่จะไปยื่นด้วยตัวเองทันที

ในกรณีของการส่งออกเราจะต้องไปขอแบบฟอร์มที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่สนามบินน้ำ โดยยื่นขอในระบบออนไลน์ไปตามหน่วยงานที่เขาไปตั้งอยู่ที่กรมการค้าต่างประเทศที่ถนนรัชดาภิเษก เวลาที่เราไปยื่นก็จะต้องมีรายละเอียดแบบฟอร์มต่างๆกรอกไปให้ถูกต้อง จากการประเมินของทีดีอาร์ไอเมื่อปี 2555 เขาสำรวจพบว่าประเทศไทยเราโดยเฉพาะผู้ส่งออก ไม่ได้ใช้สิทธิในการยกเว้นอากรนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศสูงถึง 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งน่าเสียดายว่าทำไมเราไม่ใช้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ให้เต็มที่ในเมื่อประเทศต่างๆเขามีข้อตกลงให้กับเรา

ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ถ้าผู้ส่งออกจะส่งออกสินค้าไปอาเซียน ก็จะทำได้ 2 แบบ คือ ผู้ซื้อในอาเซียน เขากำหนดเงื่อนไขมาเลยว่า ถ้าเราจะส่งสินค้าให้เขา เราจะต้องไปหาแบบฟอร์ม D จากกระทรวงพาณิชย์มาให้เขา ส่งเฉพาะเอกสารที่เก็บเงินผ่านธนาคาร ในกรณีนี้ทางผู้ซื้อจากเราไปก็จะนำแบบฟอร์มไปยกเว้นอากรขาเข้าบ้านเขา แต่ถ้าเราซื้อมาจากจีน ซึ่งตอนนี้จีนมีปัญหากับเรา คือแบบฟอร์มที่มาจากจีน เรียกว่าฟอร์ม E ปรากฏว่าถ้าเราจะนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ถ้าเราเอาฟอร์ม E มาจากจีน แล้วฟอร์ม E ถูกต้องเราก็สามารถยกเว้นอากรนำเข้าได้ แต่ปรากฏว่าแบบฟอร์มที่มาจากจีน ซึ่งยิ่งใหญ่มากเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่เมื่อพูดถึงระบบพวกเอกสารต่างๆ มีปัญหาแบบฟอร์ม E มาก เพราะมักจะส่งมาผิด เช่น ชื่อสินค้าผิด พิกัดอัตราศุลกากรผิด ส่วนผสมของวัตถุดิบผิด พอเป็นอย่างนี้ ทางผู้ประกอบการที่ได้แบบฟอร์ม E มาจากจีน ก็ไปใช้ยกเว้นอากรไม่ได้ ก็ต้องชำระภาษีอากรไป ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง ตรงนี้คือปัญหามากๆ ของแบบฟอร์ม E จากจีน

การที่ผู้ประกอบการไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร แสดงว่ามีอะไรมากกว่าที่เขาไม่รู้หรือไม่

คือมีส่วนที่ใช้กับไม่ได้ใช้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ส่วนหนึ่งก็คือพวกวัตถุดิบทั้งหลาย ส่วนมากไม่เข้าใจ คิดว่าไม่ได้ใช้ก็เลยไม่ได้ไปทำเรื่องขอใช้ แต่ส่วนที่ใช้ ใช้แล้วแต่ใช้ผิดตรงนี้มันน่าเสียดาย อย่างเช่นตามแบบฟอร์มที่มาจากจีน เรียกว่าฟอร์ม E ไม่ได้ตรวจสอบ พอไม่ได้ตรวจสอบ ไปยื่นศุลกากรก็มีความผิด ว่าไปทำการขอยกเว้นอากร ก็คือขอชำระอากร คือเวลานำเข้าจากต่างประเทศจะมีภาษีกับอากรที่ต้องชำระ อากรจากการนำเข้าสินค้าเขาเรียกอากรนำเข้า ส่วนภาษีก็คือภาษีภาคต้นซึ่งต้องชำระไม่มีการยกเว้น

ทีนี้ผู้ประกอบการเวลาได้ฟอร์ม E มาจากจีน ก็มักให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยไม่ได้ตรวจก่อนว่าชื่อสินค้าถูกต้องหรือไม่ พิกัดอัตราศุลกากรถูกต้องหรือไม่ แหล่งกำเนิดถูกต้องหรือไม่ แหล่งกำเนิดก็คือสินค้าที่มาจากจีน จะต้องเป็นแหล่งกำเนิดที่ใช้วัตถุดิบในจีนไม่ต่ำกว่า 40% ของราคาสินค้า เพราะฉะนั้นเวลาที่ไปใช้ พอใช้ผิดก็โดนจับ มีความผิด นอกจากยกเว้นอากรไม่ได้ยังโดนจับอีก หรือไม่อย่างนั้นก็คือเจ้าหน้าที่บอกให้คุณไปแก้ไขมาใหม่ ก็ต้องไปแก้ไขมาใหม่ และกว่าจะแก้ไขใหม่มาจากจีนเวลาที่ส่งฟอร์ม E มาผิด ส่งเอกสารต่างๆมาผิด เราบอกให้จีนแก้ไข ทางจีนจะไม่ยอมแก้ไข และยังใช้เวลานานมาก ฉะนั้นทางผู้ประกอบการก็ต้องชำระอากรไปก่อน สมมติชำระอาการตีว่าแสนนึง ในแสนนึงกลายเป็นว่าจะได้คืนก็ต่อเมื่อจะต้องเอาแบบฟอร์มที่ถูกต้องไปให้ศุลกากร แต่ปรากฏว่าบางทีก็ลืมไปขอแบบฟอร์มที่ถูกต้องให้กับจีน คือจีนไม่ได้ส่งมา ทางโน้นก็ลืม ก็เลยไม่ได้ไปขอคืนอากร พอไม่ได้ขอคืนอากร เรื่องก็จมอยู่ที่ศุลกากร พอนานๆไปเงินก้อนนี้ก็หายไป เพราะตัวเองไม่ได้ไปขอคืน ต้นทุนแทนว่าจะได้แสนนึง ก็กลายเป็นว่าหายไปแสนนึง สินค้าก็แพงขึ้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก

มีอะไรมากกว่านี้ไหม เช่นบางทีเด็กมาบอกว่าอันนี้ขอคืนภาษีได้ ยกตัวอย่าง 2 หมื่น แต่ก็เกรงว่าเขาจะมารื้อดูภาษีของเรา

คือมันแตกต่างกัน อันนั้นเป็นเรื่องสรรพากรตรวจย้อนหลัง แต่ถ้ากรณีของศุลกากรมันมีตรวจภาษีอากรหลายอย่าง มีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเกิดขึ้นระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศมาจากฟอร์ม D ที่มาจากอาเซียน เกิดขึ้นจากฟอร์ม FTA ที่มาจากข้อตกลง AFTA ในกรณีที่เราใช้แบบฟอร์มไปแล้ว แล้วเราก็มายกเว้นอากรนำเข้า ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำเข้าทุจริต จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ อย่างเช่นนำสินค้าเข้ามา สมมติว่าเป็นวิทยุ พอเปิดดูสินค้ากลายเป็นโทรทัศน์อย่างนี้โดนจับแน่นอน ถือว่าเป็นการสำแดงเท็จ

แต่สิ่งที่อยากจะเตือนผู้ประกอบการคือ ตอนนี้เรากำลังอบรมอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าควรระมัดระวังเรื่องแบบฟอร์มอย่างไร ฟอร์ม E ที่จะเอาเข้ามาจากจีน ฟอร์ม D ที่จะเอามาจากอาเซียน และในอนาคตจะมีการเลิกใช้ฟอร์ม D ในอาเซียน แต่จะใช้ระบบการรับรองแหล่งสินค้าด้วยตัวเอง และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ครม.มีมติเรื่องเกี่ยวกับ Back-to-Back ฟอร์ม D Third Country Invoicing ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญขนาดครม.อนุมัติออกมาเลย เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์การนำเข้าสินค้าในอาเซียนกับจีนนั้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องฟอร์ม E ที่เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เราค้าขายกับจีนมากรองจากอาเซียน แล้วเราใช้ฟอร์ม E จากจีนมาก ทั้งการส่งออกไปให้เขาแล้วรับจากเขามาเพื่อมายกเว้นอากรในบ้านเรา

สิ่งที่อยากจะเตือนผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกก็คือ ก่อนที่จะให้จีนส่งแบบฟอร์มมา เราควรจะให้เขาสแกน วีแชท คือจีนต้องใช้วีแชท เขาไม่ใช้ไลน์ เพื่อให้เขาส่งแบบฟอร์มที่เขาจะส่งมาให้เรา มาให้เราดูก่อนว่าเขาทำถูกต้องไหม ถ้าทำถูกต้องแล้ว ค่อยให้เขาส่งตัวจริงมาให้เรา ถ้าไม่ทำแบบนี้ เผื่อเราไปยื่นแล้วอาจโดนจับเพราะทำผิด ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วต้องดูรายละเอียดของชื่อสินค้าก่อน ว่าชื่อสินค้าในอินวอยซ์และสินค้าในแบบฟอร์มตรงกันหรือไม่ พิกัดอัตราศุลกากรตรงกันไหม ต้องดูตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน ก่อนที่จะให้จีนส่งแบบฟอร์ม E มาให้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เวลาที่เราไปยื่นแบบฟอร์มที่ศุลกากร ทางศุลกากรก็บอกว่า อันนี้ยกเว้นให้ไม่ได้ ต้องไปแก้มาก่อน ถ้าไม่แก้มา คุณก็ต้องชำระอากรไปก่อนเลย แล้วค่อยมาขอคืนทีหลัง ซึ่งตรงนี้ตามประสบการณ์ส่วนมากร้อยละ 90 ไม่ได้ไปยื่นขอคืน ก็เลยกลายเป็นว่าอากรที่ควรได้ยกเว้น กลายมาเป็นต้นทุนของสินค้าทันที

จะมีการอบรมที่ไหนบ้าง

อบรมไปแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่โรงแรมแอมบาสเดอร์สุขุมวิท 11 เกี่ยวกับมติครม.ที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม เกี่ยวกับเรื่องการใช้แบบฟอร์ม D แบบฟอร์ม E แล้วใช้แบบฟอร์มอย่างไรให้ถูกต้องไม่โดนจับ และถ้าโดนจับจะแก้ปัญหาอย่างไร แบบไหน โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศุลกากร อดีตเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาบรรยายให้ฟัง ซึ่งส่วนตัวก็ได้บรรยายด้วย

23 views
bottom of page