เผยผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 (ม.ค.-มี.ค. 62) มีรายได้รวม 4,003.8ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 322.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้สายเอทานอลโตสุด 55% สายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โต 20% ส่วนผลงานรอบ 6เดือนมีรายได้รวม 6,802.9 ล้านบาท พร้อมรุกโปรเจคท์ใหม่รับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม ผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย กำลังผลิต 50 ตันต่อวัน มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 (มกราคม –มีนาคม 2562) กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 4,003.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 322.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น271.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 86.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการเติบโตสูงได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น55% และธุรกิจไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยมีรายได้ลดลง 19.3% และสายธุรกิจอ้อยและน้ำตาลมีรายได้ลดลง 16.8% เนื่องจากทั้งปริมาณและราคาขายน้ำตาลทรายลดลง
“ถึงแม้ว่าราคาขายน้ำตาลที่ลดลงจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทฯ แต่ก็ทำให้ต้นทุนขายของบริษัทฯ ลดลงด้วย ส่งผลให้กำไรสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนขายน้ำตาลนี้เป็นต้นทุนหลักของบริษัทฯ” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 (ตุลาคม 2561-มีนาคม2562) กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 6,802.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3.9% และมีกำไรสุทธิ 126.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 131.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 407.8 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจน้ำตาลอยู่ที่ 60.8% และสายธุรกิจชีวภาพอยู่ที่ 39.2%
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS เปิดเผยด้วยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการร่วมลงทุนในโครงการโรงงานผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย กับ บริษัท ยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย อีกทั้งยังเป็นผู้จัดจำหน่ายภาชนะจากเยื่อชานอ้อยในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อว่า บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด ที่ถือหุ้น 85% โดยบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดย KTIS 100%) และบริษัทยูเรเซียฯ จากจีนถือหุ้น 15%
ทั้งนี้ มูลค่าโครงการที่ตั้งไว้ 1,300 ล้านบาท จะเป็นเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย รวม650 ล้านบาท และจากเงินกู้ยืมอีก 650 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดตั้งโรงงานและซื้อเครื่องจักร ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน โดยภาชนะจากเยื่อชานอ้อยที่สามารถผลิตได้นั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ถ้วย ชามหลุม กล่อง เป็นต้น
“โครงการนี้เรามั่นใจว่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันกระแสรักสิ่งแวดล้อมหรือรักษ์โลกแผ่กว้างออกไปเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ลดใช้พลาสติกในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ภาชนะที่จะเข้ามาแทนพลาสติกและโฟมจึงต้องผลิตจากวัสดุธรรมชาติ อย่างชานอ้อยที่ปัจจุบันกลุ่ม KTIS ก็ได้ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย 100% ซึ่งมีคุณภาพสูง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่แล้ว นอกจากนั้น ผู้ร่วมทุนในโครงการนี้ยังจะเป็นผู้ทำตลาดในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่มากอีกด้วย” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว