top of page
369286.jpg

การดีดตัวขึ้นในระยะสั้นมีความเสี่ยง


แรงกดดันจากสหรัฐและจีน !

ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกและภูมิภาคในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดภาวะ Sell-off หลังจากที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% รวมทั้งจะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3.25 แสนล้านดอลลาร์ในอัตรา 25% ในไม่ช้า

สาเหตุที่ทำให้สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเนื่องจากจีนไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้ในระหว่างการเจรจาการค้าร่วมกับสหรัฐ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ทั้งนี้แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จีนจะออกมายืนยันว่าพร้อมรับมือความเป็นไปได้ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และจีนพร้อมตอบโต้สหรัฐหากมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน แต่ก็ยังไม่อาจคลายความกังวลของตลาดหุ้นโลกได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ถูกดันอย่างหนัก โดยปรับตัวลดลงถึง 8.01% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นสหรัฐได้รับผลกระทบน้อยกว่า หรือ Outperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยปรับตัวลดลงเพียง 1.60% เทียบกับดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง 2.26% หลังจากที่สหรัฐเริ่มมีปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคแรงงานของสหรัฐ

ตัวอย่างเช่นตัวเลข Nonfarm Payroll ที่เพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าระดับ 189,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 2562 ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.6% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% ขณะเดียวกันตัวเลขด้านการจ้างงานที่สำคัญต่อการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด อย่างตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย หรือ Average Hourly Earnings เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน มี.ค. 2562 สอดคล้องกับทิศทางของตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ลดลงสู่ระดับ 228,000 ราย จาก 230,000 รายในครั้งก่อนหน้า

ทิศทางในระยะสั้นคือพักตัว : อย่างไรก็ดีประเด็นความกังวลเกี่ยวกับทิศทางของตลาดหุ้นโลก คือการที่ในเชิงเทคนิคดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ, Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป และ NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลับมาเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันอีกครั้ง สะท้อนว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับมาอยู่ในแนวโน้มขาลงในระยะ 1 เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับปัจจัยในเชิง Momentum ที่ยังคงมีลักษณะของการพักตัวลงชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.45%, 39.78% และ 64.27% ตามลำดับ ส่งผลให้ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง กลับมาเคลื่อนไหวอยู่เหนือกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วัน ขณะที่การลงทุนในประเทศไทย ความระมัดระวังต่อความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนในประเทศไทย สะท้อนออกมาจากดัชนี Total Return Index ซึ่งเป็นดัชนีสำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับของพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีของพันธบัตรไทยช่วงอายุ 1-3 ปี และช่วงอายุ 7-10ปี เพิ่มขึ้น 0.05% และ 0.08% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าดัชนีของพันธบัตรไทยช่วงอายุ 3-7 ปี ที่เพิ่มขึ้น 0.13%

ขณะที่ Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสารของกลุ่ม Emerging Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทั้งนี้การซื้อ CDS เปรียบเสมือนการทำประกันการผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงของราคานั้น แสดงถึงระดับความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อคู่สัญญานั้นๆ ซึ่งถ้าหากมีความเชื่อมั่นที่สูง ค่า CDS ก็จะปรับตัวต่ำลง และถ้าหากเชื่อมั่นต่ำ ค่า CDS ก็จะสูงขึ้น

ทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่เริ่มพักตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จาก กกต. ในวันที่ 8 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ในทางเทคนิคการที่ SET หลุด S-T Uptrend Line บริเวณ 1,650 จุดลงมา เป็นสัญญาณการพักฐานในระยะสั้น โดยที่แนวรับต่อไปจะอยู่ที่ 1,610 และ 1,580 จุดตามลำดับ ซึ่งทิศทางของ SET จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป และการดีดตัวระยะสั้นเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เพื่อลงต่อเท่านั้น

จนกว่าจะมีความชัดเจนออกมาในส่วนของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 60 นาที (60 Mins)

Source: Wealth Hunters Club

11 views
bottom of page