top of page
379208.jpg

กัญชาฟีเวอร์! ดี..แต่ต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม


Interview: ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

กัญชาฟีเวอร์! ดี..แต่ต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม ใช้เป็นยา เป็นส่วนประกอบปรุงรสอาหาร โดยอิงความรู้ภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัยมีคุณภาพ ควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะกับเด็กที่เสี่ยงต่อภาวะจิตเภท ถ้าได้รับสาร THC จากกัญชาที่ออกฤทธิ์กดประสาท พร้อมเผยสูตรเด็ดใบกัญชาชุบแป้งทอด กรอบ อร่อย ดีต่อร่างกายถ้ากินในปริมาณที่พอดี

- มองสังคมไทยขณะนี้ว่าอยู่ในยุคกัญชาฟีเวอร์หรือไม่ คนตื่นเต้นกันมากอยากปลูก อยากเอามาทำอะไรเยอะแยะ

ส่วนหนึ่งก็ดีใจที่เริ่มเห็นกัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาเราไม่รู้จักใช้ประโยชน์นั้น ทำให้ความรู้เดิมๆ ตั้งแต่การปลูก การใช้ประโยชน์ตั้งแต่แง่การเป็นอาหาร แม้ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกซึ่งเป็นการมองในความรื่นรมย์ เป็นอะไรที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยมานาน อย่างที่แคว้นสิบสองปันนาที่ได้มีโอกาสไปเจอคนไท ตามหาความรู้ของคนไท เขาใช้กัญชาซึ่งคนไทก็เรียกกัญชาเหมือนกัน ก็แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การใช้มาอย่างยาวนาน อาจจะมากกว่า 300 ปี ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีการบันทึกไว้ ก่อนนั้นก็อาจจะมีการใช้อยู่ก่อนแล้วก็ได้

ขณะเดียวกันประมาณกว่า 2,000 ปีมาแล้ว จีนห้ามใช้กัญชาในวิถีชีวิต เพราะเห็นว่าทำให้เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ และทุกที่ที่เอากัญชามาใช้ในการสูบหรือเสพเพื่อความรื่นรมย์ก็เกิดอุบัติเหตุ เมาแล้วขับรถ หรือมีอาการเหมือนจิตเภท เพราะฉะนั้นก็เป็นดาบสองคม และเราจะต้องทำงานเพื่อให้ความรู้อย่างถูกต้อง คือสมัยก่อนคิดว่าคนโบราณรู้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไร เช่น กินใบสด ใบสดจะมีสารที่มีฤทธิ์แก้ปวด เหมือนกินเป็นผักซึ่งจะไม่ออกฤทธิ์กดประสาท สารในกัญชาถ้าจะออกฤทธิ์ต้องสูบ ต้องผ่านความร้อน ต้องเอาไปตากแดด หรือเอาไปต้ม ไม่นิยมดองเหล้า ในอดีตที่เขาเอาไปทำยาฝรั่งเขาจะทำเป็นทิงเจอร์ ซึ่งจะสกัดสารออกมาได้เยอะกว่าที่เราต้ม อย่างใส่ในหม้อก๋วยเตี๋ยวหรือหม้อต้มไก่ประมาณ 1-2 ใบ เป็นเรื่องน่าทึ่งถึงภูมิปัญญาที่เราไม่ต้องรับกัญชาเยอะ เรารับแต่พอเหมาะ ถ้าใส่เยอะเราเมา ใส่แค่ 1-2 ใบก็พอ หรือถ้าจะกินก็กินสดเลยแบบผักจิ้ม มันก็บอกถึงภูมิปัญญา

ทั่วๆ ไปเราไม่ได้ใช้ดองเหล้า ยกเว้นทำยาบางอย่างก็จะใช้นิดหน่อย โดยเอาไปดองเหล้าสกัดแล้วเอามาคั่วกับยาตัวอื่น ส่วนใหญ่ใช้การต้มหรือทำผงและการสูบ ซึ่งการสูบก็น่ามหัศจรรย์เพราะถ้าเรากินแบบสกัดน้ำมันหรือกินเข้าไปจะออกฤทธิ์ทางจิตประสาทนาน แต่การสูบโดยการผ่านความร้อนหรือผ่านเส้นเลือดเข้าไปจะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณครึ่งชั่วโมง-2 ชั่วโมง อาจจะจำตัวเลขไม่ได้แน่ชัด ถ้าเราเลือกที่จะใส่ในหม้อต้ม ถ้าเราจะกินด้วยความรู้ด้วยภูมิปัญญาว่าใส่แค่นี้แล้วไม่เมา ทำให้กินข้าวอร่อย ทำให้ทางเดินอาหารปกติ หลับสบาย เพราะฉะนั้นภูมิปัญญาที่จะใช้เป็นอาหาร เช่นใส่ในหม้อต้มก๋วยเตี๋ยวเรารับได้นะ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วโดยยกตัวอย่างปลาปักเป้าในญี่ปุ่น อยากกินปลาปักเป้า แต่ปลาปักเป้ามีพิษ คนที่จะจัดการปลาปักเป้าได้ต้องมีใบประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต

เพราะฉะนั้นกัญชาในมุมหนึ่งมีประโยชน์แน่นอน แต่ขณะเดียวกันในเด็กเล็กถ้าเสพแล้วในรายงานบอกมีโอกาสเกิดจิตเภทสูงถึง 60% เพราะเด็กๆ ไม่ควรได้รับสาร THC ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์กดประสาทที่มีอยู่ในกัญชา เพราะฉะนั้นเรามีโจทย์หลายโจทย์ว่าถ้าเอาไปใส่ในบราวนี่ได้ ใส่ในขนมได้ เราจะป้องกันเด็กเราอย่างไร ซึ่งเรื่องการใช้กัญชาในวิถีชีวิตมีมากมาย เอาไปชุบแป้งทอด ชุบแบบเทมปุระ ทดลองกับอาหารที่ได้รับอนุญาตแล้วรสชาติดีทีเดียว ในมุมอาหารคิดว่าเราสามารถใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ใช้ให้เป็น ต้องมีร้านอาหารที่ได้รับอนุญาต มีการคำนวณหาปริมาณของ THC ซึ่งคิดว่ามีน้อยมาก

ส่วนในเรื่องการเป็นยา แน่นอนคือเรื่องของโรคมะเร็ง ซึ่งยาใช้รักษาโรคมะเร็งมีราคาแพงมากมาย ถ้าใช้กัญชาในยารักษามะเร็งจะต้องมีศูนย์ติดตามที่เหมาะสม ตอนนี้เรายังไม่รู้ขนาดที่แน่ชัด เราต้องหาขนาดที่แน่ชัด และหาวิธีการที่เรียกว่าปลูกแบบไม่แพง ถ้าเราไปปลูกแบบฝรั่งซึ่งไม่มีแดดอย่างเรา เขาต้องทำโรงเรือนเพื่อสร้างแดด ของเราต้องหาวิธีปลูกที่ไม่แพงและสามารถทำเป็นยาให้ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง

- เดิมกัญชาถือเป็นยาอยู่แล้วใช่ไหมตั้งแต่อดีต

ในตำรายาไทยเราไม่มีการบันทึก แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการบันทึก ก็กว่า 300 ปี มีตำรับยาที่เข้ากัญชาอยู่ และในภาคประชาชนที่เก็บรวบรวมตำราพื้นบ้าน เช่น ยานอนหลับง่ายๆ กัญชาสมอเทพ รากชะพลู เป็นตำรับพื้นบ้านเอามาต้มกินเพื่อให้นอนหลับ ชาวบ้านทั่วไปสมัย 30 ปีที่แล้วรู้สูตรนี้หมด

- ในฐานะที่เป็นหมอยา ตอนนี้รู้สึกหรือไม่ว่าเป็นสังคมกัญชาฟีเวอร์ มีคนอยากปลูก อยากผลิตแบบรายเล็กรายน้อย จะมีจุดเริ่มต้นหรือความพอดีทำให้สังคมนี้ไม่เมากัญชา ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี

จุดปลดล็อกพอดีคงคิดว่าให้ประชาชนพ้นทุกข์ อยากจะใช้และให้เข้าถึง ก็น่าจะมีศูนย์ให้ประชาชนได้เข้าไปรับบริการ ซึ่งศูนย์กัญชาไม่ใช่เฉพาะตัวยา ต้องสวดมนต์ภาวนาเข้าใจธรรมะด้วย กระจายสิ่งนี้ไปในหลายจุดและให้ประชาชนเข้าถึงได้ และถ้าประชาชนจะปลูกก็มาส่งที่ศูนย์เพื่อการควบคุมคุณภาพ ในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าใจและติดตามให้คำแนะนำ ไม่เสียโอกาส

อย่างมะเร็งหลายตัวในปัจจุบันมีรายงานการศึกษาว่ากัญชาสามารถทำให้อัตรารอดชีพยาวนานขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องไม่เสียโอกาสในการรักษา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการติดตามการใช้เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้นขยายเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้ประโยชน์ของกัญชามากขึ้น ส่วนเรื่องของการใช้เพื่อการรื่นรมย์ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะรู้ว่าขนาดต้องเป็นเท่าไหร่ และต้องมีกระบวนการป้องกันที่ไม่ทำให้มีการนำไใช้ในเด็กที่ทำให้เกิดผลเสีย แต่ก็รู้สึกว่าบุหรี่เหล้าก็มีอันตรายไม่น้อยกว่ากัน เพราะฉะนั้นตัวกัญชาเราไม่น่าเกินความสามารถที่จะหาทางควบคุม อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวมีกัญชาแต่ต้องมีใบอนุญาต มีการควบคุม มีการรายงาน มีความรับผิดชอบว่าไม่ได้ใช้ในทางที่ผิด เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะมาเมืองไทย แต่เราต้องควบคุมสาร THC ให้ดีว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ และให้ความรู้ประชาชนเป็นหลักด้วย

สมัยก่อนกัญชาอยู่คู่สังคมไทยมานาน ยังอยู่กันได้เลย เพราะคนไทยรู้ว่าถ้าดองเหล้ากินเมื่อไหร่เมาแน่ ต้องกินแบบไหน กินใบสดได้เลยไม่มีอาการเมา เพราะฉะนั้นปู่ย่าตายายเราตั้งแต่รบทัพจับศึก อย่างการขุดถ้ำขุนตาลมีรายงานว่าในถ้ำขุนตาลมีอากาศน้อยๆ ต้องใช้คนสูบกัญชาเข้าไปขุด แต่ถ้าแบกหามขุดดินตากแดดต้องใช้คนสูบใบกระท่อม อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่ามา คิดว่าความรู้ของคนและการตระหนักเป็นเรื่องที่สำคัญในการที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันในฐานะเภสัชกรเราก็อดที่จะห่วงไม่ได้ เสรีหมดก็ไม่เห็นด้วย เรียกว่าไม่มีองค์ความรู้ที่จะต่อยอด เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องมีการจัดทำศูนย์ มีการจัดการความรู้ มีการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในการรักษา มีการดูแลป้องกันเรื่องผลข้างเคียงหรือเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่ ในเรื่องการนันทนาการก็ใช้กรณีปลาปักเป้าโมเดลก็ได้

- เวลานี้หลายชาติในโลกเริ่มใช้ประโยชน์จากกัญชากันแล้ว เช่น อุรุกวัย แคนาดา หรือ L.A. ของอเมริกา มีการศึกษาไหมว่าของเขาทำแล้วเป็นยังไง

ของเขาทำแล้วคิดว่าก็เริ่มเห็นผลเสียบ้าง เช่นเกิดอุบัติเหตุทางรถมากขึ้น มีคนแกล้งปวดเพื่อขอใช้กัญชาบ้างเพราะติดกัญชาอยู่แล้วก็มี มันก็มีปัญหาแทรกซ้อน ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าเราจะหาทางป้องกันสิ่งเหล่านี้อย่างไร คิดว่าความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ คิดว่าเรื่องผลดีผลเสียต่อสุขภาพถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ก็อาจจะต้องเอามาก่อน แต่ในเรื่องการเปิดเสรีขนาดเท่าไหร่ในการควบคุมนั้น คิดว่าไม่น่าจะแย่เกินไป แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รับรู้เลย เรารับรู้แล้วมาช่วยหามาตรการว่าเราจะป้องกันผลเสียนั้นอย่างไร

- ตอนนี้มีสินค้าแบรนด์ดังในโลกอย่างกาแฟมีกัญชาผสมอยู่ด้วยแล้วขายดี ไทยเรามีโอกาสอย่างนั้นไหม

มีโอกาส และน่าจะดี เพราะสังคมตอนนี้เครียดและร่างกายเรามีสารกัญชาอยู่แล้ว สารกัญชาก็มีหลายตัว แต่เนื่องจากกัญชาถูกตีตราเป็นยาเสพติด ทำให้การพัฒนากัญชาหยุดชะงัก ทั้งที่กัญชาถูกใช้ประโยชน์ 4,000-5,000 ปีมาแล้ว อยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะฉะนั้นในอนาคตเราหวังว่ากัญชาซึ่งเป็นสมุนไพร เรียกว่าเป็นโรงงานสังเคราะห์สารเคมีที่ดีที่สุดตัวหนึ่งที่ให้แก่โลกนี้ จะได้ถูกกลับมาใช้ประโยชน์และใช้เหมือนในอดีต ซึ่งในอดีตทำไมสังคมถึงอยู่ได้ทั้งที่กัญชาอยู่กับเรา เพราะสังคมมีความรู้ อย่างทำไมสูบ คือสูบนิดหน่อยก็หายปวดแล้ว เราไม่ได้กินกัญชาจากการสกัดเป็นดองเหล้า แต่เราใช้สูบ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

458 views
bottom of page