top of page
327304.jpg

ธปท.คุมเข้มไฟแนนซ์รถยนต์ ชี้ฉุดยอดขาย-สินเชื่อทรุดทั้งระบบ


มองแบงก์ชาติอาจออกกฎคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หลังบางสถาบันการเงินลักไก่ปล่อยสินเชื่อเงินทอน ชี้ถ้าออกกฎเข้มจัด ให้วางเงินดาวน์ 20-25% ฉุดยอดขายรถหดตัว 2-6% สินเชื่อคงค้างรถยนต์ทั้งระบบโตน้อยลงเหลือ 4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานบทวิเคราะห์กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจออกกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ปัจจุบันมีบางสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในรูปของ “สินเชื่อเงินทอน” ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะหนี้ภาครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ธปท.ออกมาย้ำสัญญาณเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการแข่งขันของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ (ไฟแนนซ์) ร่วมกับค่ายรถยนต์และดีลเลอร์รถบางแห่ง ในรูปแบบการนำเสนอส่วนลดเงินสด และ/หรือสร้างราคาขายสูงกว่าราคาจากบริษัท ซึ่งมีผลให้ลูกค้าบางรายอาจจ่ายเงินดาวน์ในจำนวนที่น้อยมากหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็สามารถซื้อรถได้ และในบางกรณีถึงกับได้รับเงินก้อนคืนเมื่อออกรถ จึงกระตุ้นความต้องการซื้อรถให้สูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ให้สามารถซื้อรถได้เช่นกัน ขณะที่ยอดขายรถในประเทศปี 2561 ถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 1.04 ล้านคัน และยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวม Captive Finance) เพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 1.07 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการส่งสัญญาณเตือนของ ธปท. ในรอบนี้ว่า หลังการสุ่มตรวจสอบเชิงลึกในกระบวนการพิจารณาเครดิตของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง จะให้ภาพความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อมากน้อยเพียงใด และจะนำไปสู่การยกระดับการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เหมือนในกรณีการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งมีผลเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมาหรือไม่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นยอดขายรถและสินเชื่อเช่าซื้อรถ รวมถึงผลกระทบหาก ธปท. ออกมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่รัดกุมยิ่งขึ้นภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยมองว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2561 เร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยับขึ้นเหนือระดับ 1 ล้านคัน ขณะที่สัญญาณหนี้เสียเริ่มขยับขึ้น ซึ่งการเติบโตที่ค่อนข้างร้อนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว มีผลให้สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยับขึ้นเป็น 24% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย (ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) จากเดิมที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 23% ในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถขยับสูงขึ้นมาที่ 1.66% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 1.60% ณ สิ้นปี 2560

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีข้อสังเกตที่พึงติดตามใน 2 ประเด็น คือ สัดส่วนหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อที่ขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก และลักษณะเฉพาะของธุรกิจที่สามารถตัดขายหนี้เสียได้เร็วกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ทำให้แม้สัดส่วน NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อรถจะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 2.04% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นคุณภาพหนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธนาคารพาณิชย์บางรายในจังหวะที่ตลาดรถเพิ่งฟื้นตัวหลังปลดล็อกโครงการรถคันแรก มีส่วนขับเคลื่อนพฤติกรรมที่เข้าข่ายให้สินเชื่อเช่าซื้อรถเกินมูลค่าหลักประกัน เนื่องจากมีลักษณะที่ยอมรับราคาขายรถเกินราคาจริง และ/หรือ ไม่นำส่วนลดเงินสดที่ดีลเลอร์รถให้กับลูกค้ามาหักออกจากยอดขอสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวยังจำกัดวงในผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูก รวมถึงบริษัทลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ (Captive Finance) ยังรักษามาตรฐานการปล่อยกู้ โดยให้สินเชื่อบนยอดราคารถที่ผู้ซื้อต้องชำระจริง ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในตลาดให้เช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่มีการแข่งขันสูง และค่ายรถมักจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อผลักดันยอดขายทั้งในภาพรวมและเพื่อรถเฉพาะรุ่น ขณะที่ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองมีเงื่อนไขการกำหนดวงเงินสินเชื่อที่ใช้ราคากลาง (Red Book) เป็นเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกัน จึงทำให้ความเสี่ยงต่อโอกาสเกิดพฤติกรรมการให้สินเชื่อเช่าซื้อที่เกินมูลค่าหลักประกันดังกล่าวอยู่ในกรอบที่จำกัดกว่า

ทั้งนี้ หาก ธปท. ออกมาตรการบังคับใช้เกณฑ์การให้สินเชื่อที่เข้มข้นขึ้น อาจมีผลกระทบต่อยอดขายรถ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ช่วยดูแลประเด็นเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว ซึ่งแม้พฤติกรรมการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่ลูกค้าไม่ต้องใช้เงินออมของตนเอง จะไม่ได้ปรากฏในวงกว้าง และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั้ง Captive Finance และสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ ยังรักษากติกาและมาตรฐานการปล่อยกู้ที่ระมัดระวังไว้ เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตโดยรวม แต่การที่มีผู้ประกอบการบางส่วนในตลาดหย่อนเกณฑ์การให้สินเชื่อ มีส่วนสนับสนุนพฤติกรรมการก่อหนี้ในระดับครัวเรือน และลดทอนแรงจูงใจในการออมก่อนการก่อหนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบระยะยาวต่อภาคครัวเรือน ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ตลอดจนเสถียรภาพของระบบการเงินตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2561 มีผลทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยับขึ้นมามีสัดส่วนประมาณ 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่มีสัดส่วนประมาณ 14% ของหนี้ครัวเรือนในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ดังนั้น หาก ธปท.ออกมาตรการดูแลมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จริง ก็คงจะมุ่งล้อมกรอบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระดับครัวเรือนและระดับประเทศในระยะกลางถึงยาว

สำหรับผลกระทบต่อตลาดรถยนต์และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศ ขึ้นกับระดับความเข้มข้นของมาตรการที่ ธปท.จะเลือกใช้ โดยมาตรการที่จะมีผลกระทบมาก ได้แก่ การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการวางเงินดาวน์ของผู้ซื้อรถยนต์ เนื่องจากจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างไปยังทุกสถาบันการเงินทั้งที่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว และที่ไม่มีปัญหา (ครั้งล่าสุดที่มีการบังคับใช้มาตรการลักษณะดังกล่าว คือ ปี 2538-2539 ที่มีการกำหนดอัตราการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 25% ของราคารถ และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 48 งวด) ขณะที่มาตรการที่มีผลกระทบน้อยกว่า อาจออกมาในรูปการย้ำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสถาบันการเงินที่มีส่วนในปัญหาการให้สินเชื่อเกินมูลค่าหลักประกัน โดยผสมผสานกับกลไกการสุ่มตรวจสอบเชิงลึกที่เตรียมดำเนินการ และการให้จัดทำรายงานชี้แจงในกรณีที่ไฟแนนซ์ยอมผ่อนผันเกณฑ์เพื่อให้ดีลเลอร์รถส่งลูกค้าให้ตน อันจะเป็นผลดีต่อระบบโดยช่วยลดการแข่งขันที่รุนแรงและลดความสูญเสียจากปัญหาหนี้เสียลง

อย่างไรก็ดี หากทางการโน้มเอียงไปสู่การออกเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เข้มข้นขึ้นด้วยการวางเงินดาวน์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ควรมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามระดับความสามารถในการชำระหนี้ร่วมด้วยในลักษณะเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งยังไม่กระทบต่อธุรกิจรถยนต์เป็นการทั่วไปทั้งระบบ เนื่องจากเกณฑ์เดียวแต่ใช้ทั้งระบบดังมาตรการปี 2538 อาจไม่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันที่ตลาดรถยนต์เผชิญหลายปัจจัยท้าทายมากขึ้น และโครงสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการในตลาดมีความซับซ้อนมากขึ้น

ส่วนคาดการณ์ผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2562 จำแนกออกเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีที่ ธปท.เลือกมาตรการในลักษณะประนีประนอมและมีผลกระทบในวงจำกัด ปัจจัยลบอื่นๆ ที่มีในตลาดอยู่แล้ว เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปในปีนี้ และความไม่แน่นอนทางการเมือง น่าจะส่งผลให้ทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 อยู่ในภาวะทรงตัวไปจนถึงหดตัวเล็กน้อยที่ 3% คิดเป็นจำนวนรถยนต์ 1,010,000 ถึง 1,040,000 คัน จากปี 2561 ที่ทำได้ 1,041,739 คัน โดยมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาดอยู่บ้างจากการโหมทำการตลาดของค่ายรถที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และจากการลงทุนภาครัฐที่ยังมีโอกาสขยายตัว

2. กรณีการตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการวางเงินดาวน์ของผู้ซื้อรถยนต์ โดยอาจเป็นที่ 20-25% ประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี 2562 ให้หดตัวลงในกรอบ 2-5% และ 3-6% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการออกมาตรการกำหนดวงเงินดาวน์ขั้นต่ำยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ระยะเวลาการผ่อนปรนก่อนใช้จริง เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่ามีกำหนดการผ่อนปรนเป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน ดังเช่นมาตรการ LTV ในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจจะเกิดสถานการณ์การโหมออกโปรโมชันทางการตลาดจากทั้งค่ายรถ ดีลเลอร์ และสถาบันการเงินเพื่อเร่งให้เกิดการตัดสินใจซื้อรถยนต์ก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งก็อาจจะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยลงกว่าที่คาดไว้ได้ จากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากผลของการเร่งซื้อดังกล่าว

สำหรับประเภทรถยนต์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากการที่ ธปท.เริ่มเพ่งเล็งการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อเงินทอนรถยนต์นั้น ในระยะแรกรถยนต์ที่ไม่ใช่รุ่นยอดนิยมในตลาด และมีสต็อกสินค้าเหลืออยู่มากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากโดยปกติรถยนต์กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ดีลเลอร์ขายออกไปได้ยากอยู่แล้ว ถ้าหากไม่มีโปรโมชันที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ง่ายหรือได้รับอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายก็จะเป็นภาระตกลงมาที่ดีลเลอร์รถยนต์ที่มีสต็อกสินค้ารถยนต์ประเภทดังกล่าวมากที่สุด ขณะที่กลุ่มรถยนต์ที่จะได้รับผลกระทบตามมา คือ รถยนต์ที่มีระดับราคาไม่สูงนัก ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีระดับรายได้ไม่มั่นคงมาก เช่น กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนทำงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด เป็นต้น และมีโอกาสจะทำให้เกิดหนี้เสียได้สูง ซึ่งสถาบันการเงินจะไปเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น โดยรถยนต์ที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถกระบะตอนเดียว (Single Cab) หรือ รถกระบะตอนครึ่ง (Space Cab) เป็นต้น

ด้านผลกระทบต่อสินเชื่อเช่าซื้อในประเทศปี 2562 หาก ธปท. ดำเนินมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถเพิ่มขึ้นผ่านเกณฑ์การวางเงินดาวน์ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ ให้ชะลอลงกว่าประมาณการในปัจจุบันที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5% (กรอบ 4.5-6.5%) หรือคิดเป็นยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถที่ 1.129 ล้านล้านบาท โดยอาจขยายตัวในอัตรา 4.0-4.5% บนสมมติฐานที่ยอดขายรถถูกกระทบจากการมาตรการกำหนดเงินดาวน์ที่ 20-25%

อย่างไรก็ตาม การที่ ธปท. ส่งสัญญาณเข้าตรวจสอบมาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะช่วยให้กลไกการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านสินเชื่อครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นรถยนต์ทั้งระบบ ตั้งแต่ตลาดแรกที่เชื่อมผู้บริโภคและผู้ผลิตรถ ไปจนถึงตลาดรอง ทั้งสินเชื่อรถมือสอง และการนำรถยนต์กลับมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อใหม่ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการทยอยออกกฎหมายและหลักเกณฑ์การดูแลการให้สินเชื่อ อาทิ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา พ.ศ. 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และการกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันเป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาต ทำให้กลไกสินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์มีมาตรฐาน ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ และไม่เพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบให้กับภาคการเงินเกินจำเป็น โดยมีกระบวนการที่คัดกรองความสามารถในการก่อหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นสูง และสะสมความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

44 views
bottom of page