top of page
327304.jpg

ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มเดิม


ปัจจัยหนุนภายนอก!

ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นนะครับ สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการที่แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา IMF จะออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ลงสู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่ระดับ 3.5% รวมถึงคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกที่ปรับลดลงเหลือ 3.4% จากเดิม 4% ที่เคยประมาณการไว้เดิมในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือน ม.ค.2562 โดยมองว่าความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้า, เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใน และเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยเฉพาะในหลายประเทศสมาชิก รวมทั้งความไม่แน่นอนจาก Brexit และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัว จะยังคงส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

แต่ตลาดหุ้นโลกยังคงปรับขึ้นต่อได้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 0.27% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น 0.31% โดยได้ปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุม FOMC ที่ระบุว่าจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเงินทั่วโลก รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง สมาชิก FOMC จึงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรใช้ความอดทนในการพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562

นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรือ Core CPI ของสหรัฐที่ออกมาน้อยกว่าคาด ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นถึงโอกาสในการอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป ขณะที่ในฝั่งของตลาดหุ้นยุโรปแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) คิดเป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้การที่ EU ใช้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินคู่แข่งของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ แต่ดูเหมือนตลาดจะให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกจากการที่ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และระบุว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่า ECB จะยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการปล่อยเงินกู้รีไฟแนนซ์ระยะยาวรายไตรมาสครั้งที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดจับตาดูอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ “นายหมูบิน” ยังคงมองตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อไปได้ จาก Momentum ที่ยังคงมีลักษณะของการแกว่งตัวขึ้นชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และยุโรปที่ปรับตัวลดลง 4.12% และ 11.59% ตามลำดับ ส่งผลให้ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และยุโรปยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วัน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 5.30% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 40.30% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 7.90% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 20.40%

ดังนั้นในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Euro Stoxx 50 ของยุโรป และ NIKKEI ของญี่ปุ่นยังคงแกว่งตัวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นได้อย่างต่อเนื่อง ทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป

จุดหมุนอยู่ที่ 1,630 จุด : ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยในเทคนิค “นายหมูบิน” มองว่า SET ในระยะสั้นๆไม่เกิน 1 เดือน ก็น่าจะยังคงอยู่ในแนวโน้มเดิมก่อนวันเลือกตั้งไปก่อน คือปรับตัวขึ้นต่อไปได้ตามหลักการของ Momentum Effect โดยมี 1,630 จุดซึ่งเส้นแนวโน้มขาขึ้นระยะสั้น หรือ S-T Uptrend Line เป็นจุดหมุน และ Cut Loss เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากเครื่องมือทางการเงินอย่าง CDS Spread ซึ่งในด้านการลงทุนสะท้อนความเสี่ยงด้านการลงทุนของประเทศได้ในระดับหนึ่ง จะพบว่าระดับ CDS Spread อายุ 3 ปีของไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง จากระดับ 30.32 bps ในวันที่ 22 มี.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 25.00 bps ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะมีมุมมองต่อความเสี่ยงด้านการลงทุนลดลงชัดเจนหลังการเลือกตั้ง หรือพูดง่ายๆคือไม่ได้กลัวอะไรมากมาย สอดคล้องกับการที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเข้ามาในตลาดหุ้นไทยราว 5.19 พันล้านบาทในเดือน เม.ย.2562 (สิ้นสุด 12 เม.ย. 2562)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแนวโน้มหลักระดับ 3-6 เดือน SET จะเปลี่ยนแนวโน้มจากลงเป็นขึ้นได้ SET จำเป็นต้องขึ้นยืนเหนือ 1,700 จุดก่อนในเบื้องต้น เพื่อยืนยันการเปลี่ยนแนวโน้ม ซึ่ง “นายหมูบิน” มองว่าการปรับตัวขึ้นไปเหนือ 1,700 จุดของ SET ในระยะสั้นค่อนข้างยาก ด้วย 2 เหตุผลคือการที่ตลาดหุ้นเอเชียไม่ใช่เป้าหมายต้นของ Foreign Fund Flows ในรอบนี้ สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีกระแส Foreign Fund Flows ตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ EM ราว 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดหุ้นในกลุ่ม Asia ex China and Japan กลับมี Foreign Fund Flows ไหลออกราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการที่พื้นฐานของตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อย สะท้อนออกมาจากการที่ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา กำไรปกติของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 11% YoY ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 Consensus ประเมินว่ากำไรปกติของตลาดหุ้นไทยจะยังคงปรับตัวลดลงอีก 16% YoY

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง

สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

13 views
bottom of page