top of page
358556.jpg

ปัจจัยภายนอกสดใสกว่าปัจจัยในประเทศ


ตลาดหุ้นโลกหนุน!

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น บนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศสำคัญของโลกจะกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น (Monetary Easing) อีกครั้ง และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือ Outperform มากที่สุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.95% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจ Caixin Manufacturing PMI อยู่ที่ระดับ 50.8 ในเดือน มี.ค. 2562 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.9 ในเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน

ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 50.5 ในเดือน มี.ค. 2562 เพิ่มขึ้นจาก 49.2 ในเดือน ก.พ. 2562

นอกจากนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ หลังจากที่รองประธานบริหารฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของหอการค้าสหรัฐออกมาระบุว่ากว่า 90% ของการเจรจาได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม 10% ที่เหลือเป็นส่วนที่ยากที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน (Trade Off) กันทั้งสองฝ่าย แต่สัญญาณบวกของการเจรจาการค้าได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก Initial Jobless Claims ของสหรัฐที่ลดลงสู่ระดับ 202,000 ราย สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มไปสู่ระดับ 216,000 ราย ซึ่งครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 212,000 ราย

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังคงอยู่ในเส้นทางของการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนต่างมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับการจัดการเจรจาการค้ารอบล่าสุดที่สหรัฐระหว่างผู้แทนจีนและสหรัฐ นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรยังออกมาดีกว่าคาดด้วย โดย Markit Composite PMI และ Services PMI ออกมาอยู่ที่ระดับ 51.6 และ 53.3 ตามลำดับ มากกว่าที่คาดที่ระดับ 51.3 และ 52.7 ตามลำดับ โดยเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 51.3 และ 52.7 ตามลำดับ รวมถึง Retail Sales ขยายตัวอยู่ที่ 0.4% มากกว่าที่คาดที่ขยายตัวเพียง 0.2%

อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องในเชิง Momentum ของตลาดหุ้นยุโรปยังคงขึ้นอยู่กับกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้ Momentum ที่ยังคงเป็นบวกของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคได้รับการสนับสนุนจากทิศทางทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 5.89%, 14.54% และ 0.45% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 1.82% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 35.02%

ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 1.07% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 28.27%

ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยหนุนเฉพาะตัว : ทั้งนี้แม้ว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะยังคงเป็นขาขึ้น แต่ตลาดหุ้นภูมิภาคโดยเฉพาะ ASEAN กลับมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจน้อยกว่า เนื่องจากนักลงทุนในตลาดเริ่มหันไปให้ความสนใจกับสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset กลุ่มอื่นๆมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบ และทองคำ โดยที่สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.77% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 7.238 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ มากกว่าที่คาดว่าจะลด 0.425 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ หลังจากที่มีรายงานการสู้รบระหว่างรัฐบาล และกลุ่มกบฏในลิเบีย รวมทั้งความพยายามอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปกที่จะลดปริมาณน้ำมัน

ขณะที่ราคาทองคำโลกได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มปริมาณสำรองทองคำอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยธนาคารกลางจีนได้เพิ่มสำรองทองคำในเดือน มี.ค. 2562 เป็น 60.62 ล้านออนซ์ จากระดับ 60.26 ล้านออนซ์ในเดือน ก.พ. 2562 สะท้อนให้เห็นว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิต และใช้ทองคำจำนวนมากได้กลับมาเพิ่มสำรองทองคำอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นสำหรับตลาดหุ้นไทย แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากทิศทางของตลาดหุ้นโลก แต่ “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันในทางเทคนิคว่าในช่วงหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 กรอบแนวต้าน 1,670-1,700 จุดของ SET มีความแข็งแกร่งมาก โดยที่บริเวณดังกล่าวจริงๆ ถ้า SET ปรับตัวขึ้นไปถึงเป็นโอกาสในการขายออกมาก่อนด้วยซ้ำ จากความอ่อนแอในเชิงพื้นฐาน หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงเหลือ 3.7-4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-4.3% เหตุผลหลักมาจากการปรับลดภาคการส่งออกลงเหลือ 3-5% จากเดิมคาด 5-7% จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

การปรับลดประมาณการดังกล่าวยังไม่นำปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจนเข้าพิจารณาด้วยซ้ำ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น มี.ค. 2562 ปรับลดลงครั้งแรกรอบ 3 เดือน: โดยอยู่ที่ระดับ 80.6 เหตุผลหลักมาจากผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ รวมถึงกังวลเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว และราคาเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

12 views
bottom of page