top of page
327304.jpg

30 มิ.ย.เส้นตายยื่นยกเว้นภาษี เตือน SME พร้อม 'บัญชีเดียว'


Interview: คุณประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายก สภาวิชาชีพบัญชี และประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการทำบัญชี

IFRS9 เลื่อนบังคับใช้หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ต้องเตรียมพร้อมในเรื่อง ‘บัญชีเดียว’ เพราะเกี่ยวโยงกับเรื่องภาษีและการยื่นกู้เงินจากแบงก์ที่คุมเข้มขึ้น เตือน...การยื่นขอยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ และไม่ต้องรับผิดทางอาญา กรณียื่นภาษีไม่ครบถ้วน กำหนดสิ้นสุด 30 มิ.ย. 62 ควรยื่นแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้ไฟลนก้น

 

- ตอนนี้มีข่าวสถาบันการเงินภาครัฐขอเลื่อนการบังคับใช้ IFRS 9 ออกไปจากที่กำหนดไว้ปี 2563 ได้ข่าวทำนองนี้ไหม

ข่าวนี้ยังไม่ทราบ ยังไม่มีอะไรเข้ามา ที่เข้ามาตอนนี้มีเรื่อง SME ที่กรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์และสภาบัญชี ช่วยกันพิจารณาเรื่อง SME ประเทศเราเรื่อง SME เป็นเรื่องใหญ่มาก ครั้งหนึ่งเคยช่วยไปแล้วก่อนออกพระราชกำหนดกฤษฎีกาเมื่อปี 59 ให้ทำบัญชีเดียวและปรับปรุงให้ถูกต้อง แล้วทางกระทรวงการคลังให้ทางแบงก์ชาติว่า เมื่อทำแล้วต่อไปต้องใช้บัญชีเดียวยื่นให้กระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากร และให้ใช้บัญชีและงบการเงินที่ยื่นต่อกรมสรรพากรในการพิจารณาสินเชื่อ หมายความว่าตั้งแต่ 1 มกราคม 62 เป็นต้นไป สถาบันการเงินจะต้องใช้งบที่ส่งสรรพากรในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งปกติทางผู้ประกอบการจะมีงบการเงินที่ทำขึ้นมาเพื่อขอกู้จากแบงก์ ตรงนี้จะไม่ตรงกับที่ยื่นกับสรรพากร กรมสรรพากรจึงเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขงบแล้วช่วยเรื่องยกเว้นภาษี ปรากฏว่าทางผู้ประกอบการส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่เข้าใจไม่หมด ทุกคนยื่นใช้สิทธิ์หมด พอยื่นไปใกล้ปี 62 ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าแบงก์ต้องใช้งบเดียวในการพิจารณาสินเชื่อ SME ก็ร้องขึ้นมาว่าไม่ไหว พอตัวเองกู้เงินวงเงินสูงกว่ารายได้ที่ต้องแจ้งกับกรมสรรพากร ก็อาจจะต้องลดวงเงินหรือไม่อาจจะต้องเพิ่มดอกเบี้ยหรือไม่

พอเกิดปัญหาเรื่องก็มาที่ สนช. ทางกรมสรรพากรก็เข้ามาพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และสภาวิชาชีพบัญชี เพราะถ้า SME ไปไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ทุกคนก็ห่วงใยกัน ก็มีการเสนอขึ้นมา ทางกรมสรรพากรก็เสนอพระราชบัญญัติช่วย SME ครั้งที่ 2 ในปี 62 เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากรและรับผิดทางอาญา คือยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มและความรับผิดทางอาญา ไม่ยกเว้นตัวภาษี เช่น รายได้ 100 บาท ลงบัญชี 50 บาท ก็ปรับให้เรียบร้อยแล้วไปยื่นภาษีส่วนที่ขาด เบี้ยปรับเงินเพิ่มไม่คิด อันนี้เป็นสิ่งที่สรรพากรช่วย คือช่วยปรับตอนนี้ให้เรียบร้อยให้หมด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เข้าสู่ระบบภาษี ช่วย SME กู้เงินได้โดยอาศัยบัญชีเดียว และเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการจัดเก็บภาษีอากร หมายความว่าถ้าฐานภาษีอากรถูกต้อง SME โตขึ้น ภาษีก็จะเก็บได้มากขึ้น พอเก็บมากขึ้นรายได้ก็จะมากขึ้น เพราะถ้าฐานกว้างขึ้นมาภาษีก็จะดีขึ้น ครั้งที่แล้วให้มีการปรับแก้ส่วนหนึ่งก็มีการปรับกัน ฐานก็ใหญ่ขึ้น ภาษีก็เข้าเป้า SME ก็มีโอกาสกู้เงินได้ หลายธุรกิจที่สภาฯออกไปบรรยายกันแล้วได้ข้อมูลกลับมา เขาก็อยากเสียภาษีถูกต้องเหมือนกัน แต่บางครั้งเขาไปเจอขาหนึ่ง เช่นไปซื้อของ แต่คนขายไม่ออกบิลให้ ขาหนึ่งเขาไม่รู้ว่าจะออกบิลยังไง จึงเกิดปัญหา แต่ตอนนี้ทุกคนพยายามเข้าระบบเพราะสรรพากรมีมาตรการตรวจสอบ

จากพระราชบัญญัติกิจการที่จะได้สิทธิ์ตามภาษีตรงนี้คือบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคล ยกเว้นกิจการที่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินจากกรมสรรพากร หรือได้รับหนังสือให้ไปเสียภาษีเพิ่มเติมอาการแล้ว อันนี้ไม่ยกเว้นค่าปรับให้

- เบี้ยปรับแพงไหม

เป็นเบี้ยปรับกับเงินเพิ่ม เบี้ยปรับทั่วไปก็เท่าหนึ่งของภาษี อาจจะลดหย่อนได้ตามประมวลฯ อนุญาตให้ 20% ขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรอนุมัติ ส่วนเงินเพิ่มก็ 1.5% ต่อเดือน ก็ประมาณ 18% ทางสนช.ก็บ่นกันว่าค่าปรับนี้แพง ดอกเบี้ยแบงก์แค่กว่า 6% MLR แต่โดนค่าปรับเงินเพิ่ม 18% ต่อปี ภาษีที่ยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและไม่ต้องรับผิดอาญาไม่ต้องเสียเบี้ยปรับคือภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีปลายปีก็มีภ.ง.ด. 51 และ ภ.ง.ด. 50 คำนวณผิดก็ไปดำเนินการได้ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าเสียผิดก็ไปเสียเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะอันนี้คือพวกที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น พวกธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ อากรแสตมป์ เป็นประเภทที่ยกเว้นกันไม่ต้องเสียค่าปรับ ไม่เสียเงินเพิ่มและไม่รับผิดทางอาญา

- จะยกเว้นภาษียังไง

ก็จะมีเงื่อนไข คุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องมีขนาดไหน คือบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือ นิติบุคคล ที่ไม่เกิน 500 ล้านบาท และให้ดูเกณฑ์รายได้ตามประเมินกรมสรรพากร ดูจากบัญชีรอบ 12 เดือนสิ้นสุดหรือก่อน 30 กันยายน 2561 ส่วนใหญ่จะเป็น 31 ธันวาคม ถ้าเป็น 31 ธันวาคมก็จะเป็นปี 2560 ทีนี้งบไม่ตรงปีก็มี เขาเขยิบให้คนไม่ตรงปีให้ถึง 30 กันยายน 2561 อันนี้เป็นฐานคำนวณ 500 ล้าน ว่าเกินหรือไม่ ไม่ได้เอาทุกปีมา เอาเฉพาะล่าสุด เพราะฉะนั้นใครที่มีงบ 31 ธันวาคม ก็คือปี 2560 นั่นเอง แต่ถ้าใครมีงบเหลื่อม ปิดบัญชีไม่เกิน 30 กันยายน 2561

ทีนี้ที่บอกว่ายื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบบัญชีตามข้อหนึ่งไว้แล้วก่อนพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ถ้าเราบอก 31 ธันวาคม 60 แปลว่าเราต้องไปยื่นภาษีเงินได้แล้ว เพราะต้องยื่น 31 พฤษภาคม 61 ต้องเป็นผู้ยื่นรายการนี้ไปแล้วก่อนพ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เรื่องการออกใบกำกับภาษีปลอมก็ไม่ได้รับการยกเว้นแล้ว ไม่ให้ผู้ที่ออกใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ด้วย พวกนี้ไม่เว้น เพราะพวกนี้มีการขายใบกำกับภาษีกัน กรมสรรพากรต้องกันพวกนี้ไว้ ทีนี้เขาบอกว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับการยกเว้นภาษีอันนี้ ก็คือสรรพากรจะให้มีการลงทะเบียนกับกรมสรรพากรเหมือนครั้งที่แล้ว โดยให้ลงทะเบียนกันภายใน 30 มิถุนายน 62 ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดซึ่งจะออกกฎหมายลูกมาให้ อันนี้จะได้รู้ว่า 30 มิถุนายน 62 ก็ต้องไปยื่นก่อนเพื่อจะใช้สิทธิ์อันนี้ เสร็จแล้วต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียภาษีอากรเป็นตัวเงินพร้อมชำระภาษีให้ครบถ้วนภายใน 30 มิถุนายน 62 แปลว่าทุกอย่างทะเบียนลงได้สิ้นสุด 30 มิถุนายน 62 ภาษีที่ขาดตอนต้องยื่นให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 62 เช่นกัน

หมายความว่าพอประกาศออกมาใช้ตามราชกิจจานุเบกษาก็ไปลงทะเบียนได้แล้ว ซึ่งต้องก่อน 30 มิถุนายน 62 บ้านเราส่วนใหญ่ชอบลงทะเบียนในวันสุดท้าย ซึ่งอาจจะไม่ทันเพราะเราต้องยื่นภาษีด้วย ต้องแยกด้วยตัวภาษีเงินได้ รอบระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 59-31 ธันวาคม 2560 หมายความว่าเราสามารถขอปรับแก้ภาษีรอบ 1 มกราคม 59 กับปี 60 ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ปรับได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 59 ถึงก่อนเดือนภาษีที่พ.ร.บ.บังคับใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาได้เพราะสมมุติเราบอกว่าปี 62 ถ้าเกิดว่ายอดขายเขาลดน้อยลง เขามีโอกาสปรับปี 62 ให้เป็นความจริงได้แล้ว เพราะฉะนั้นเปิดโอกาสให้ก่อนพ.ร.บ.นี้บังคับใช้

หมายความว่าประกาศเดือนพฤษภาคมก็ปรับได้ถึงเดือนเมษายน ขณะที่เรื่องอากรแสตมป์มี 2 อย่าง ซื้ออากรมาแปะกับอากรที่ไปชำระที่สรรพากรเป็นตัวเงิน อันนี้กฎหมายจะเว้นเฉพาะอากรแสตมป์ที่เป็นตัวเงิน ที่ไปซื้อมาแปะไม่รับเพราะคุมไม่ได้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้เหมือนกัน ก็จะเป็นเกณฑ์ใช้เหมือนกัน

- ประเมินได้ไหมเรื่อง IFRS9 ว่าสมมุติเลื่อนจริง จะมีผลหรือไม่มีผลอย่างไร

ฉบับ 9 ถ้าเป็นกิจการใหญ่ เวลาเรามองมาตรฐานทางบัญชี เรามอง 2 ส่วน ส่วนแรก เรื่องของ how to หมายความว่าฉบับ 9 ทำยาก เพราะเป็นเรื่องของพยากรณ์ ต้องมีโมเดล รายละเอียดไส้ในเยอะมาก แต่ทางสภาวิชาชีพบัญชีพยายามช่วยสำหรับ SME ทำแบบง่าย ไม่ถึงขนาดต้องโมเดลแบบบริษัทใหญ่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เบาไปเยอะ อันนี้ก็จะง่ายกว่าเดิมที่เคยมี สมัยก่อนค้าง 3-6 เดือนยังใช้เวลาเป็นตัวเกณฑ์ได้ แต่ของใหม่ให้มองไปข้างหน้า ถ้าถามว่าบริษัทใหญ่พร้อมไหม เช่น ธนาคารนั้นความพร้อมมีแล้วเรื่อง how to คือทำได้ไหม พร้อมที่จะทำไหม SME ถึงจะง่ายจะยากก็ทำยาก พูดถึงบริษัทย่อยพูดถึงบุคลากร ทั้งกำลังเงินกำลังทรัพย์ ทางสภาก็มองเรื่องนี้อยู่ว่าจะหาวิธีทางทำได้ไหม ก็จะเปิดสอนกันให้เข้าใจเรื่องพวกนี้ ซึ่งเหมือนราคาโอนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ทางสภาฯกำลังดูเรื่องนี้และทำให้มันง่ายและขอความช่วยเหลือจากกรมสรรพากรร่วมกันเพื่อทำโมเดลให้เข้าใจโดยไม่ต้องเสียเงินเยอะๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัททั้งหลาย

เรื่องที่ 2 คือผลกระทบรุนแรงแค่ไหน ตอนนี้ผมเข้าใจว่าทาง กกบ.ให้มหาวิทยาลัยหอการค้าวิเคราะห์ผลกระทบว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งตรงนั้นยังไม่เห็นผลวิเคราะห์ ก็คงตอบยาก เพราะเป็นเรื่องพยากรณ์ คิดว่าเลื่อนไหมในแง่ของ regulator คงไม่อยากให้เลื่อน

ทางสภาฯเราจะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือที่ออกมาตรฐานที่เราต้องทำตามมาตรฐานสากล แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองอยู่ ที่ผมเป็นประธานอยู่ก็พยายามดูว่าเมืองนอกที่เขาทำมาแล้วดูผลทำแล้วออกมาเป็นยังไง ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนก็จะเห็นภาพว่าตัวเขาเองจะไหวไหม ถ้าไม่ไหวจะคิดยังไงต่อ

ส่วนที่สอง คือการประเมินว่าจะมีผลกระทบยังไง ตรงนี้ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะมาบอกให้ทราบ ทาง regulator ก็อยากให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์สากล ตามมาตรฐานบัญชี เราก็เหมือนกัน ก็ต้องเดินตามข้อตกลงที่มี เราก็เปิดตามช่องหนึ่งไว้สำหรับช่องบัญชีด้านทำบัญชีและสอบบัญชี ก็จะดูว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมไหม ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะมีโลว์คอสต์ออกมาได้ไหม ก็มองตรงนี้ไว้เหมือนกันว่าทำไม่ได้จริงท่านจะช่วยเราได้ไหม สมมุติบอกประเทศเราร้อน เมืองนอกใส่สูท เราก็คงไม่ไหว เอาเป็นว่าเราใส่ซาฟารี เราก็แจ้งเขาไป เมืองนอกรับฟังเราก็โอเค ส่วนพวกนี้เราจะใช้เวลากี่ปีที่จะมากำหนดกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำเพื่อผู้ประกอบการ ก็ต้องพยายามดูตัวเองว่าถ้ามีมาตรฐานอะไรออกมาตัวเองจะรู้ผลกระทบก็รีบบอกมา แล้วสภาฯก็มีนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์เคยรู้ผลกระทบจริง ผู้ประกอบการก็ต้องช่วยกัน ซึ่งวันนี้เขาก็ตื่นตัวแล้ว เราพยายามบอกทุกคอร์สที่สอนมาให้ดูตรงนี้เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง ท่านถูกกำกับแล้วอยู่ไม่ไหว มาบอกตอนท้ายแล้วมันยุ่ง คือ บ้านเราเสียอย่าง พอทำประชาพิจารณ์ไม่พูดกัน ไม่ออกความคิดเห็น แต่พอไปห้องน้ำพูดกันใหญ่เลย ทำให้แก้ปัญหายาก ถ้า SME เกิน 500 ล้าน ควรรีบลงทะเบียนแล้วไปปรับแก้ให้เรียบร้อย ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร และสภาฯ จะออกเดินสายไปชี้แจงให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด

44 views
bottom of page