top of page
379208.jpg

คาดส่งออกปี 2562 โตต่ำ


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมูลค่าส่งออกของไทยปี 2562 อาจโตได้เพียง 1.5% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันดิบไม่ขยับ

ในสองเดือนแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทย (ไม่รวมมูลค่าอาวุธส่งกลับ) หดตัวถึง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเพียง 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มูลค่าส่งออกเฉลี่ย 20,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่โหมดการชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ตัวเลขการส่งออกไทยสองเดือนแรกลดลงอย่างที่เห็น

หากมองภาพการส่งออกทั้งปี 2562 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.5% (ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.3% ณ พฤศจิกายน 2561) แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตได้บ้าง แต่แรงส่งก็ไม่เพียงพอให้ภาพการค้าโลกดีขึ้น อันเกิดจากเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะจากตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงกดดันสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น กอรปกับตลาดยุโรปที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงของ Brexit ที่ค้างคา ด้วยเหตุผลนี้จึงคาดว่าตลาดส่งออกไทยในปีนี้ไม่อาจพึ่งพาตลาดส่งออกหลักได้ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบของไทย พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ลดลงไป 3.1% ยิ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวผู้ประกอบการในประเทศที่นำสินค้าเข้ามาผลิตใช้ในประเทศและผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นช่วงวัฎจักรขาลงของอุตสาหกกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของตลาดในภูมิภาคเอเซีย เป็นอีกปัจจัยที่กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศที่เป็น supply chain

ด้วยตัวเลขและปัจจัยที่ปรากฎดังกล่าว ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 2562 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% คาดว่าตลาดคู่ค้าส่วนใหญ่จะขยายตัวได้น้อยลงกว่าปีก่อน ตลาดที่พอจะหนุนให้การส่งออกขยายตัวได้เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จะขยายตัว 3.4% เท่ากัน รองลงมากเป็นกลุ่มอาเซียนจะขยายตัวได้ 2.6% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดจีนคาดว่าจะหดตัวจากปีก่อน 2%

ด้านสินค้าส่งออกที่สำคัญ พบว่าผลทางปริมาณที่ลดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดจะเติบโตเพียง 2.8% จากปีก่อนที่เติบโตได้ถึง 5.5% ในขณะที่มูลค่าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูปและเหล็ก ที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวมคาดว่าจะหดตัว 1.9 % ต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัว 1.0 % อันเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันโลกที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้

แม้ว่าแนวโน้มการส่งออกจะไม่ได้เป็นดังที่หวัง แต่ก็ยังมีกลุ่มสินค้าที่ยังเติบโตได้ดี เช่น เวชภัณฑ์ต่างๆ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภท ซึ่งท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลที่ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ได้จัดทำขึ้นชื่อ Trade Outlook ตามลิงค์

https://www.tmbbank.com/CAT ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและผู้ที่สนใจสามารถติดตามภาวะการค้าตลาดส่งออกของไทยได้เป็นรายสินค้าและประเทศ ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ที่ไหน ตลาดที่ต้องเร่งปรับตัวแข่งขันอยู่ที่ไหน ราคาสินค้า ราคาวัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยน มีการเคลื่อนไหวอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้วิเคราะห์สถานการณ์ เพิ่มโอกาสในการส่งออกได้ดียิ่งขึ้น

5 views
bottom of page