top of page
image.png

ตลาดหุ้นโลกยังโอเค: ภาพรวมไม่เกิน 1 เดือนยังคงเป็นขาขึ้น


แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกในภาพรวมจะยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก อันประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้ว หรือ Developed Market และตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ปรับตัวขึ้น 1.16% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 11.26% YTD

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นจีนราว 6.58% เป็นหลัก โดยที่ปัจจัยหลักมาจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าสหรัฐ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าขั้นสุดท้าย โดยเขาจะจัดการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเพื่อลงนามในข้อตกลงดังกล่าว และสหรัฐจะเลื่อนเวลาการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไป จากเดิมที่กำหนดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที 31 มี.ค. 2562

นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก Caixin Manufacturing PMI ของจีนที่ปรับตัวดีขึ้น 49.9 มากกว่าคาดที่ 48.3 สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นถึง แม้ตัวเลขดังกล่าวจะยังอยู่ต่ำกว่า 50 ก็ตาม อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นชั้นนำอื่นๆต่างเริ่มชะลอการปรับตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 0.35%, 0.65% และ 0.18% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเพียง 0.37% เท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดหุ้นที่เริ่มชะลอการปรับตัวขึ้นลงเท่านั้น ในส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆก็เริ่มชะลอความร้อนแรงลงเช่นกัน สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.42% แม้ว่าสหรัฐจะรายงานสต็อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 8.647 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ เทียบกับที่คาดว่าจะเพิ่ม 2.842 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ดีในมุมมองของ “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมระยะไม่เกิน 1 เดือนยังคงเป็นขาขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวลดลง 2.21%, 5.28% และ 6.89% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ทั้งหมดยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 2.30% มาอยู่ที่ 41.60% เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 5.40% มาอยู่ที่ 20.00% ขณะที่ในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ, Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป และ NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันได้ ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 1 เดือนข้างหน้า

การเมืองหลังเลือกตั้งคือความเสี่ยง : ทั้งนี้ในเชิงของ Momentum เมื่อพิจารณาจากดัชนี Relative Strength Index เพื่อเปรียบเทียบ Performance ของตลาดหุ้นต่างๆกับตลาดหุ้นโลก หรือ World Index พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในส่วนของตลาดชั้นนำของโลก มีเพียงตลาดหุ้นจีนเท่านั้นที่ Outperform ราว 6.20% ขณะที่ตลาดหุ้นที่ Underperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ, Asia ex Japan และ ไทย ที่ Underperform ราว 0.01%, 0.18% และ 0.72% ตามลำดับ

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นอกจากที่ในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน และเป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไรระยะสั้น” หรือ “ขายเพื่อปรับต้นทุนระยะกลาง” แล้ว เมื่อพิจารณาจากดัชนี Relative Strength Index เพื่อเปรียบเทียบ Performance ของดัชนีตลาดหุ้นไทยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ 1. SETHD Index, 2. SET 100 Index, 3. SET 50 Index และ 4. sSET Index กับดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีที่ Outperform ได้แก่ดัชนี sSET Index ของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่ง Outperform ราว 0.51% ขณะที่ดัชนี SETHD Index ของหุ้นกลุ่มเงินปันผลสูง, SET 100 Index และ SET 50 Index ของหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่ 100 และ 50 อันดับแรก พบว่า Underperform ราว 0.08%, 0.03%และ 0.14% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคง และความเสี่ยงในกรณีที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นต่อชัดเจน โดยเฉพาะจากความเสี่ยงในส่วนของปัจจัยการเมืองในประเทศ

โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Morgan Stanley หรือ MS ได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาระบุสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไว้ 4 แบบ ได้แก่

1) พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่ หรือเกินขึ้น ทั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2) พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา แต่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนน้อยจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3) ฝั่งตรงข้ามของพรรคพลังประชารัฐได้รับเสียงส่วนใหญ่ และพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

และ 4) ฝั่งตรงข้ามของพรรคพลังประชารัฐได้รับเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายค้าน

ทาง MS ได้ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ที่ 1) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถดำเนินโครงการและนโยบายต่างๆที่วางไว้ต่อไปได้ ขณะที่ความเป็นไปได้ของ Scenario อื่นๆ ทาง MS มองว่าจะเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และนโยบายเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่า Scenario 2)-4) จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ปี 2019 ราว 0.5%-1.5%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

5 views
bottom of page