top of page
379208.jpg

หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วง จับสัญญาณธปท.คุมเข้มสินเชื่อ ขยายวงเพิ่ม 3 ปีติด!


ผู้บริหารเครดิตบูโรมองการดึง Non-bank เข้าร่วม “คลินิกแก้หนี้” สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้มากกว่าเดิมที่คนมีหนี้ 30,000-40,000 สนใจให้ช่วย แต่ช่วยได้จริงแค่ 1,000 ราย เพราะไร้เงาเจ้าหนี้คนสำคัญอย่าง Non-bank เลยคว้าน้ำเหลว เผยสังคมไทยน่าเป็นห่วงจริงๆ เมื่อมี “หนี้ครัวเรือน” 12 ล้านล้านบาท จุกอกคอหอยเป็นหนี้เสีย 6% แถมพบอัตราการก่อหนี้เพิ่มสูงกับมียอดหนี้มีปัญหาทะลุถึงหลัก 800,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทางการขยายวงควบคุมสารพัดสินเชื่อ เพิ่มเป็นเงาตามตัวในห้วงเวลาแค่ 2 ปี จากคุมสินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิตปี 2560 ตามด้วยคุมสินเชื่อบ้าน LTV ปลายปี 2561 ต้นปี 2562 จ้องคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โตเกิน 10%

- ตอนนี้สถานการณ์หนี้คนไทยเป็นอย่างไร

ตอนนี้เรามีหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านล้านบาท จากข้อมูลเครดิตบูโรเรามีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6% แต่ที่เราเป็นห่วง คือ บรรดาหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้คนที่จ่ายหนี้ไปแล้วทำตามสัญญาไม่ได้และไปขอปรับโครงสร้างหนี้ พวกนี้มีเพิ่มสูงมากจากต้นปี 58 อยู่ที่ 150,000 ล้าน ตอนนี้ทะลุมา 800,000 ล้าน มันมีความเสี่ยงและเปราะบางประมาณ 10,000 ล้าน ใน 12 ล้านล้าน อันนี้มีความเป็นห่วงขึ้นมาว่าทำไมทางการถึงเข้ามาควบคุมมากขึ้น-เพิ่มขึ้น ปลายปี 60 เราคุมสินเชื่อส่วนบุคคลบัตรเครดิต ปลายปี 61 คุมสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะมีผลเดือนเมษายนปีนี้ ต้นปี 62 เราคุมรถแลกเงิน car for cash แล้วนโยบายการเงินฉบับล่าสุดมีความเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อรถยนต์เพราะสินเชื่อรถยนต์โตเกิน 10% หลังจากที่เราประสบปัญหารถคันแรกมาแล้วหลายปีก่อน

ถ้าเราดูการพัฒนาการ คือ คุมบัตร personal loan คุมสินเชื่อบ้าน และมาคุมสินเชื่อรถ หนี้นอกระบบ ตอนนี้เป็นคลินิกแก้หนี้เป็นข้อสุดท้ายเพราะคนที่เป็นหนี้เสียจะไม่มีทางออก จะทำอย่างไรให้เขากลับเข้ามาได้

ปัญหาคลินิกแก้หนี้ คือ คนอยากเข้าเยอะ 3-40,000 คน แต่ทำได้จริงแค่หลักพัน ก็ไปแก้เกณฑ์ให้ผ่อนผันให้สั้นลงหรือทำเกณฑ์ให้ดีขึ้น

โดยภาพรวม คือ หนี้ไม่ได้ลดและความสามารถชำระหนี้ไม่ดีขึ้น เหตุผลเพราะการชำระหนี้ได้ต้องมีรายได้เพิ่มหรือขายทรัพย์สินมาจ่ายหนี้ ไม่มีทางนั่งเฉยๆ แล้วจะลดลง เพราะฉะนั้นในกลุ่มระดับล่างอย่างเกษตรกรมีลักษณะว่าสถาบันการเงินของรัฐต้องไปพักหนี้ เพราะสินค้าเกษตรราคามีความไม่แน่นอน มีดีอยู่ตัวเดียว คือ ข้าว แต่ตัวอื่นไม่ค่อยดี

ทีนี้ที่น่าเป็นห่วงอีกจุดที่ใครอาจจะมองข้าม ในหนี้ครัวเรือนไทยปล่อยหนี้โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ 1.9 ล้านล้าน ใน 1.9 ล้านล้านมีคนประมาณการณ์ว่า 0.7 ล้านล้าน เราปล่อยให้แบบดอกถูกแล้วครูก็ตามไปกู้ที่ธนาคารออมสินอีกประมาณ 300,000 เบ็ดเสร็จอาชีพครู 1 ล้านล้าน เรามีคุณครูประมาณ 600,000 คน เราต้องคิดว่าจะเป็นภาระหนักหรือไม่สำหรับอาชีพตรงนี้

ทั้งหมดนี้เรามีรายได้ไม่มากพอที่จะชำระหนี้ในอนาคตเพราะเราก่อไว้แล้วในอดีต

- ตอนเราไปก่อหนี้คิดว่าเราชำระหนี้ ได้กันทั้งนั้นแหละ

เราสู้ไหว

- พอวันนี้เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจเงินก็ไม่สะพัด สถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่เราไปกู้ใช่ไหม

ที่กลัวกันตอนนี้ คือ ถ้ามีการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซักพักมีการแข่งปล่อยสินเชื่อ พอสภาพคล่องลด ก็เพิ่มดอกเบี้ยกันเพื่อหาเงินฝาก ก็เป็นแรงกดดันส่งไปว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นไหม ตอนนี้ยังยกเว้นแบงก์เล็กๆ ขึ้น ต้องนึกภาพว่าดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นจะขึ้นตอนครบกำหนดแล้ว แต่เวลาดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นมันขึ้นเลย ก็เป็นกลวิธีทำกำไรเล็กๆ ของสถาบันการเงิน

- ดอกเงินกู้ปรับขึ้น ยิ่งทำให้ความสามารถชำระหนี้ยิ่งน้อยลงไปอีก

ใช่ ประมาณนั้น

- บรรยากาศที่ผ่านมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงจึงเริ่มคุมบัตรเครดิต ตามด้วยสินเชื่อบ้าน LTV สินเชื่อรถ หนี้นอกระบบ ดูแล้วติด NPL เพิ่มขึ้นไหมในเครดิตบูโร

อัตราเพิ่มขึ้น แต่ค่อยๆ เพิ่ม ค่อยๆ ซึมขึ้นไปเรื่อยๆ มันไม่กระโดดจาก 4 เป็น 8 คงไม่ใช่ เช่น สินเชื่อบ้านค่อยๆ ไต่ขึ้นจาก NPL กว่า 3% ขึ้นมาเป็น 4% ทิศทางที่ค่อยๆ ขึ้นมันไม่ดีเพราะตอนที่ขึ้นตัวที่ 2 ขึ้นตาม คือ พวกปรับโครงสร้างหนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความหมาย คือ คนผ่อนไม่ไหวก็ปรับโครงสร้างหนี้แต่ก็ไปต่อไม่ได้หนี้เสียก็มาอีก อย่างที่คนพยายามจะสู้เราก็ไปดู เช่น คนที่อยากจะเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ จะมีลักษณะหนึ่ง คือ ผ่อนขั้นต่ำทุกใบ 10% แต่ผ่อนต้นไม่ได้ก็เลี้ยงงวดไป เพราะว่าถ้าเขาถูกทวงถามเจ้านายรู้ก็อาจจะเสียงานเขาก็สู้ผ่อนไปแบบนี้ก็ไม่จบ เลี้ยงงวดไปอันนี้ติดกับดักหนี้ ถ้าเขาอยากจะหลุดพ้นตรงนี้ก็ยากเพราะรายได้เป็นก้อนไม่มี ทรัพย์สินที่ผ่อนมาจะไปขายก็ไม่มีราคา

อันนี้เป็นปรากฏการณ์กลับไม่ได้ไปไม่ถึง อยากจะปลดหนี้ก็ไปไม่ได้ก็เกิดความเครียด ถ้าเป็นคนทำงานประจำก็ให้เจ้านายรู้ไม่ได้ถ้ารู้ก็มีปัญหา

- มาถึงตรงนี้ก็หนักใจ ในฐานะที่เห็นตัวเลขภาวะคนเป็นหนี้ สุดท้ายแล้วเป็นดินพอกหางหมู

ใช่ พอเราเห็นตัวเลขแต่ละเดือนที่เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจเราก็ไม่สบายใจ ก็พยายามบอกหลายฝ่ายแต่อย่างที่ทราบธุรกิจยังต้องเดิน ธุรกิจก็ต้องพยายามหาคนมาผ่อน ยกตัวอย่าง บัตรเครดิตในเมืองไทยมี 19 ล้านใบ ใน 6 ล้านใบของ 19 ล้านใบไม่เคยใช้ 2 ปี บัตรเกินที่อยู่ในกระเป๋าเรา ที่ใช้กันจริงมี 13 ล้านใบ แต่มี 1 ล้านใบ ใน 13 ล้านใบมีปัญหา คือ จ่ายไม่ได้ ใน 500,000 ใบของ 1 ล้านใบเป็นของคน Gen Y อีก 500,000 ใบเป็นของ Gen X คนทำงานที่ถือหรือใช้บัตรหรือคนอายุ 31 ปี

ที่เราทำวิจัยเดินมา 5 คน มี 1 คน เป็น NPL เรานึกภาพไม่ออกว่าประสิทธิภาพการทำงานจะมาจากไหน ขณะที่ประเทศเราต้องการคนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นอาการคนเป็นหนี้เร็ว หนี้มาก หนี้ไม่ลดตามอายุ แล้วติดกับดักหนี้ ไม่แปลกใจที่ทางการออกมาตรการเข้มงวด แต่มาตรการที่ว่าซึ่งคนเป็นหนี้ไปแล้ว ถ้าคนยังไม่ลดละปัญหาจะพอกพูนไป ที่บอกจะไปตายเอาดาบหน้ามันไม่ใช่ เพราะดาบอยู่ข้างหน้าแล้ว เหลืออย่างเดียวต้องกลับมาจัดการตัวเองว่าจะอยู่กันแบบไหน

- ทีนี้คนเขามองกันว่าหนี้ครัวเรือน 12 ล้านล้าน กู้ไปซื้อบ้าน รถ ล้วนสิ่งที่เป็นการลงทุนและเป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคน

ถ้าเป็นบ้านหลังแรกอันนี้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเพราะคนเราจะอยู่ที่เดียว แต่หลังที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะหลังที่กู้ไปปล่อยเช่า

หรือรถยนต์ถ้าเราทำงานในเมือง 5-6 วันเราอยู่ในเมือง แล้วไปซื้อคอนโดฯแพงใกล้ที่ทำงาน เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะแต่เรายังมีรถ อันนี้สมเหตุสมผลไหมใช้อย่างอื่นแทนได้ไหม เราคิดว่ามีวาทกรรมหรือไลฟ์สไตล์ เวลานี้ผู้คนถ้าเข้าไปในเฟซบุ๊คเราอยากมีชีวิตเหมือนคนที่อยู่ในเฟซบุ๊ค แต่ถามว่าอันนั้นเป็นชีวิตจริงๆ ของเขาหรือไม่หรือเขาแต่งขึ้นมา เราเงินเดือน 30,000 แต่อยากใช้ชิวิตแบบคน 300,000 แล้วส่วนต่างตรงนั้นมาจากไหนก็ต้องกู้มา

ก็ต้องกลับมาถามความเป็นจริงว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร อย่างผมใช้เงินวันหนึ่ง 300 จะกินอะไรเยอะ

- สังคมวันนี้คือคนไปสังสรรค์กันเยอะ ต้องกินต้องใช้จ่ายกัน

มันจะมีวันศุกร์แห่งชาติที่ต้องใช้เงิน สังเกตแม้แต่ไปวิ่งหรือขี่จักรยานสมัยก่อน ผมเคยเปรียบเทียบว่าปั่นจักรยาน 4 กิโลเมตร อย่างกับไปตูร์ เดอ ฟรองซ์ แล้วดูคนไปวิ่งชุดเท่าไหร่ที่ใส่ไป

- ถึงตรงนี้วันนี้สังคมไทยเห็นปัญหาหนี้ท่วมหัว ทางการเลยตั้งคลินิกแก้หนี้ปรับปรุงใหม่ให้พวก Non-bank เข้ามาด้วย ตรงนี้จะแก้ได้ไหม

คลินิกแก้หนี้ตั้งแต่ต้นมีจุดอ่อนตรงที่ไม่มี Non-bank เข้ามาเกี่ยว เพราะเราพบข้อมูลว่าคนที่ต้องการเข้าโครงการ 3-40,000 คนที่ลงทะเบียน ทุกคนส่วนใหญ่มีหนี้ Non-bank อยู่อย่างน้อย 1-2 บัญชี ต้องเข้าใจว่าการรวมหนี้ เรามีอยู่ 5 บัญชี 3 บัญชีอยู่กับแบงก์ 2 บัญชีอยู่กับ Non-bank เวลาเราจะแก้หนี้รายได้เรามีแหล่งเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องปันส่วนรายได้ไป 5 ที่ แต่พอ Non-bank ไม่เอามาร่วมก็ฟันหลอไป ก็แก้ไม่ครบ

พอ Non-bank เข้ามาจะช่วย เช่น เป็นหนี้ 1 ล้านบาทแล้วต้องผ่อน 10 ปี สมมุติผ่อนเดือนละ 1,000 แต่ 1,000 ต้องไปจ่าย 5 ที่ แล้วที่เหลือก็กินใช้ของเราไป ทันทีที่เรามีโบนัสก็ไปจ่าย แต่ในช่วง 5 ปีแรกห้ามก่อหนี้เพิ่ม จะเห็นว่าห้ามก่อหนี้เพิ่มก็กลับมาสู่ back to the basic กินใช้ไม่ปรุงแต่งแล้วทยอยจ่ายหนี้ไป เราต้องทนสภาพนี้ให้ได้

ทีนี้คนเข้าโครงการนี้ต้องก้าวข้าม 2 คำนี้ กลัวว่ามีคนรู้และก็รู้แล้ว อายว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ต้องไม่อายเพราะตัวเองแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้ได้มันจะมีโอกาสรอด ดังนั้นครั้งนี้ที่เขาเอา Non-bank เข้ามาถึงมีผล

แต่มีอยู่จุดหนึ่งที่เราต้องคิดเยอะ คือ แล้วคนที่เขากำลังจะเสีย ไม่ได้เสียไปแล้ว แต่โครงการนี้ตั้งเงื่อนไขไปแล้วว่าต้องเสียถึงจะเข้าได้ แต่ยังมีคนที่รู้แล้วกำลังจะเสียหรือรู้ชะตาชีวิตตัวเองว่าไม่รอด มันยังไม่มีอะไรไปช่วย มันต้องเสียไปก่อนถึงจะเข้าได้ อย่างเลี้ยงงวดอยู่หรือผ่อน 10% หรือไม่ไหวแล้ว

- คลินิกแก้หนี้ในขั้นแรกเราให้เฉพาะหนี้แบงก์อย่างเดียว แต่มาโครงการ 2 ให้ Non-bank เข้ามาด้วย บรรดาลูกหนี้มองต่อว่าดีขึ้นถ้าเอา Non-bank เข้ามา แต่ก็ไม่สำเร็จอยู่ดีอย่างที่เราเห็นคนต้องการเข้าโครงการ 3-40,000 แต่เข้าได้จริงแค่ 1,000 เพราะปัญหาไปบังคับเงื่อนไข เช่น มี 5 ใบ ต้องเข้า 5 ใบ หรือเงื่อนไขต้องไม่ติดแบล็คลิสต์ซึ่งน้อยมากที่คนไม่ติดแบล็คลิสต์เงื่อนไขหยุมหยิมคงมีการลดลงเพราะไปมุ่งว่าคนเข้าโครงการจะต้องอยู่รอดในระยะยาว แต่คนเข้าโครงการต้องการแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงนี้ก่อน

ต้องเข้าใจก่อนว่าคนคิดโครงการแก้หนี้เขาไม่เคยเป็นหนี้และไม่เคยเป็นหนี้เสีย ความรู้สึกจึงไม่เหมือนกัน

การเอา Non-bank เข้ามา non bank สัมผัสผู้คนที่แก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ เป็นไปได้มี 5 บัญชี Non-bank แห่งหนึ่งบอกว่าถ้าคุณมาผ่อนกับผม ผมได้จากคุณได้ส่วนแบ่งเดือนละ 500 บาท 10 ปีไม่เอา ผมลดให้คุณเดือนหนึ่งเอา 4,000 จบกันตรงนี้ ก็จะเป็นปรากฎการณ์ว่าคนก็จะไปหามา ผมก็กลัวว่าคนที่ไปหามาถ้าเกิดไปกู้นอกระบบมาอันนี้จบเลย แต่ถ้าขายทรัพย์สินส่วนเกินของชีวิตอันนี้มีสิทธิ์เป็นไปได้ คือ เจ็บแต่จบ เจ็บทั้ง 2 ฝั่ง คนปล่อยกู้ก็เจ็บเพราะลดต้น คนกู้ก็เจ็บเพราะต้องขายของมาจ่ายคืน

- ตอนนี้คลินิกแก้หนี้ขยายเป็นเฟส 2 จะช่วยคนมีหนี้ได้มากขึ้นใช่ไหม

โอกาสสำเร็จมีมากกว่าเดิม เพราะอันเดิม 1.หยุมหยิม 2.ไม่มีเจ้าหนี้ที่สำคัญมาร่วมด้วย ครั้งนี้มีเจ้าหนี้ Non-bank มาร่วมมาตรการที่เขาจะทำ คือ ลดเลยจบกันตรงนี้

13 views
bottom of page