หุ้นยุโรปเริ่มออกอาการ !
ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาลดความร้อนแรงลงเป็นครั้งแรก จากที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงแสดงจุดยืนมาว่าจะไม่ยอมให้ประเทศเสียเปรียบทางการค้าในแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส (State of the Union) โดยได้ประกาศว่าข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะต้องมีการแก้ไขในประเด็นโครงสร้าง และการขาดดุล รวมทั้งยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ก่อนวันที่ 1 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดไว้สำหรับการบรรลุข้อตกลงทางการค้า
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้กล่าวโทษกับทางจีนที่ได้เอาเปรียบสหรัฐ แต่กล่าวโทษผู้นำสหรัฐรุ่นก่อนที่ยอมให้ทางจีนเอาเปรียบในด้านการค้าได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวก
นอกจากนี้การที่ผู้นำสหรัฐมีวาระการประชุมหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือในวันที่ 27-28 ก.พ. 2562 ส่งผลอาจไม่มีเวลาเพียงพอที่จะหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก่อนวันที่ 1 มี.ค. 2562 และมีความเป็นไปได้สูงขึ้นมากที่จะมีการขยายระยะเวลาเส้นตายสำหรับการบรรลุข้อตกลงทางการค้า ซึ่งนักวิเคราะห์ในสหรัฐมองว่าเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด
อย่างไรก็ดีสำหรับ “นายหมูบิน”มองว่าสถานการณ์ของ ตลาดหุ้นยุโรปดูน่ากังวลกว่า และอาจเป็นปัจจัยฉุดให้ตลาดหุ้นโลกชะลอการปรับตัวขึ้นต่อไปอีก อันเนื่องมาจากผลกระทบของ Brexit หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ สู่ระดับ 1.2% จากเดิมที่ระดับ 1.7% โดยคาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะชะลอตัวต่อไปในปีนี้ สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัย Brexit และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน BOE ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีหน้า สู่ระดับ 1.5% จากเดิมที่ระดับ 1.7% ในเวลาเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของยูโรโซนในปีนี้ และปีหน้า จากการคาดการณ์ที่ว่าประเทศขนาดใหญ่ในยูโรโซนจะมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ และหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ EC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 1.3% ในปี 2562 ลดลงจากระดับ 1.9% ในปี 2561 ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของยุโรปปรับตัวขึ้นราว 7.00% สวนทางกับดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และฮ่องกงที่ปรับตัวลดลง 1.21% และ 0.05% ตามลำดับ
ข้อดีคือฝรั่งยังไม่น่ากลับมาถล่มตลาดอีก : ในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น “นายหมูบิน”ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน และเป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไรระยะสั้น” หรือ “ขายเพื่อปรับต้นทุนระยะกลาง” มากกว่า
อย่างไรก็ดีปัจจัยที่น่าจะเป็นตัวจำกัด Potential Downside Risk ของตลาดหุ้นไทย น่าจะอยู่ที่ทิศทางการเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีแนวโน้มว่าแรงขายสุทธิหนักๆออกมาน่าจะมีความเป็นไปได้น้อยในระยะสั้น หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐและ ประกอบกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด
ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลข Cumulative Foreign Flow หรือการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในตลาดเงิน หรือ Money Market ซึ่งประกอบด้วยตราสารระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี พบว่ามีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าอยู่ที่ 2,873 ล้านบาท ขณะที่ตลาดทุน หรือ Capital Market ซึ่งประกอบด้วยตราสารระยะยาวที่อายุมากกว่า 1 ปี มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าอยู่ที่ 430 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดการเงิน และตลาดทุนของไทย มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าอยู่ที่ 4,838 ล้านบาท ขณะที่ในเชิงเทคนิคเองล่าสุดการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flows ของตลาดหุ้นไทย ยังคงมีสัญญาณ Positive Convergence กับ Indicator สำคัญอย่าง MACD ต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็น Momentum ที่เป็นบวกของเงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน”ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club