top of page
358556.jpg

รอลุ้น 1,670 จุดก่อนว่าผ่านได้ไหม


ดูดีระยะสั้นๆ !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นราว 0.46% โดยตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า หรือ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น จีน และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวขึ้น 1.41, 0.61%, 1.52% และ 0.80% ตามลำดับ เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่า หรือ Underperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นเพียง 0.24% เนื่องจากยังคงได้รับประเด็นกดดันจากสถานการณ์ชัทดาวน์หน่วยงานรัฐบาลในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคม ออกมาดีกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 13,000 ราย สู่ระดับ 199,000 ราย และน้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.9 ในเดือน มกราคม 2562 ซึ่งมากกว่าที่คาดที่ระดับ 53.5

ทั้งนี้ในภาพรวมของตลาดหุ้นโลกยังคงได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายของสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ อย่างไรก็ตามในสัปดาห์ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.5% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 3.7% ที่มีการคาดการณ์ในเดือน ต.ค.2561 โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ Developed Market จะมีการขยายตัว 2.0% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้า ขณะที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market จะมีการขยายตัว 4.5% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า โดยการปรับลดคาดาการณ์ในครั้งนี้ ยิ่งย้ำให้เห็นถึงความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทยอยประกาศออกมาได้ตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.7 ในเดือน มกราคม 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2556 โดยลดลงจากระดับ 51.1 ในเดือน ธันวาคม 2561

ขณะที่ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0% โดยระบุข้อมูลเศรษฐกิจในระยะใกล้มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งความเสี่ยงต่อการขยายตัวของยูโรโซนได้อยู่ในช่วงขาลงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์, การกีดกันทางการค้า, ความเปราะบางในตลาดเกิดใหม่ และความผันผวนในตลาดการเงิน รวมทั้งการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศจีนในปี 2561 ขยายตัว 6.6% ต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี

ดังนั้นในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน

ในทางตรงกันข้ามถ้า SET ทำจุดต่ำใหม่ หรือ Lower Low ต่ำกว่า 1,580 จุด บริเวณ Fib Node 1.618 หรือ 1,490 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับต่อไป

พื้นฐานไม่สนับสนุนการไปต่อยาวๆ : อย่างไรก็ดีปัจจัยบวกในระยะสั้นก็ยังคงพอมีสนับสนุนตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันว่าจะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับติดลบ 0.1% และคงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไป

นอกจากนี้ได้ปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2561-2563 ลง ส่งผลให้การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% นั้นห่างไกลออกไป โดยมีการระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจรายไตรมาสว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในช่วงปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งลดลงจากระดับคาดการณ์เมื่อเดือน ตุลาคม 2562 ที่ 0.9% และรายงานคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 0.9% ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งก็จะต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.4% เช่นกัน ขณะที่ในเชิงของ Tactical การที่ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ยังคงแกว่งตัวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย SMA 25 วัน สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 4.20% มาอยู่ที่ 37.70%

ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 4.03% มาอยู่ที่ 32.30%

ทั้งนี้ความเสี่ยงของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไป จะยังคงเป็นประเด็นในเชิงพื้นฐาน หรือ Fundamental เป็นหลัก เนื่องจากจะพบว่าแม้ในปัจจุบัน Bloomberg Consensus จะประเมินมูลค่าเหมาะสมในปี 2562 ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสินทรัพย์ที่มีระดับ Potential Upside Gain มากที่สุดได้แก่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นราว 18% ตามมาด้วยตลาดหุ้นสหรัฐ 15%, ตลาดหุ้นไทย 15%, ตลาดหุ้นจีน 13%, น้ำมัน 14%, ตลาดหุ้นยุโรป 8%

ขณะที่ทองคำมีระดับ Potential Upside Gain ที่ -0.6% แต่ในเชิงของ Earnings Revision พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 2562 ของแต่ละประเทศลง โดยที่ตลาดหุ้นโลก -0.64% WoW ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ -0.42% WoW, ตลาดหุ้นยุโรป +0.00% WoW, ตลาดหุ้นญี่ปุ่น -0.32% WoW, ตลาดหุ้นจีน -0.43% WoW และตลาดหุ้นไทย -1.16% WoW ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอชัดเจน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

10 views
bottom of page