top of page
312345.jpg

ยังหวังอะไรมากไม่ได้


ความเสี่ยงลดลง !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกกลับมาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.58% โดยมีทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้น 6.08% เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ

ทั้งนี้ การที่ตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้งสะท้อนให้เห็นถึง Sentiment ของตลาดเป็น “Risk On” มากขึ้น หลังจากได้รับปัจจัยเชิงบวกจาก คำแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีทิศทางชะลอตัวลง โดยธนาคารกลางสหรัฐจะนำข้อมูลเศรษฐกิจ (Data Dependency) มาพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ยังได้รับสัญญาณเชิงบวกจากความเป็นไปได้ในการคลี่คลายสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐด้วย ทั้งนี้ระดับความเสี่ยงด้านการลงทุนในสหรัฐที่ลดลง สะท้อนออกมาจากระดับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอายุ 2 ปี, 10 ปี และ 30 ปี ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นทั้งหมด 17bps, 18bps และ 14bps ตามลำดับ อยู่ที่ 2.56%, 2.74% และ 3.06% ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 2 ปี, 10 ปี และ 30 ปี อยู่ที่ปรับตัวขึ้น 5bps, 15bps และ 133bps ตามลำดับ มาอยู่ที่ 1.78%, 2.55% และ 3.40% ตามลำดับ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจาก Bid Coverage ratio (BCR) ซึ่งบ่งบอกถึงอัตราส่วนระหว่างวงเงินรวมทั้งหมดที่ผู้เข้าร่วมประมูลยื่นเสนอต่อวงเงินที่เปิดให้มีการประมูลตราสารหนี้ไทยในครั้งนั้นๆ ซึ่งอัตราส่วนที่ว่านี้จะชี้ให้เห็นว่าการเปิดประมูลตราสารหนี้ในครั้งนั้นๆ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้ามาประมูลซื้อตราสารหนี้ในตลาดแรกมากน้อยเพียงใด

โดยล่าสุด BCR ไทยของ 3 เดือน, 6 เดือน, 2 ปีและ 30 ปี มีค่าเท่ากับ 1.75, 2.48, 3.39 และ 2.54 เท่าตามลำดับ ซึ่งดูเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังจะพบว่ามีเพียง BCR ของ 3 เดือนมีค่าอยู่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือนย้อนหลัง ขณะที่ BCR ของ 6 เดือน 2 ปีและ 30 ปี มีค่าอยู่มากกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือนย้อนหลัง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนในประเทศไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติน้อยลงมาก สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปของธนาคารกลางสำคัญของโลก ที่ล่าสุดจะพบว่าหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณการชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ย โอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในครั้งต่อไปเหลือเพียง 17.92% ขณะที่โอกาสธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 33.72% และของธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 25.28%

ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยยังต่ำ : สัญญาณ “Risk On” ของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น ยังสะท้อนออกมาจากดัชนี VIX Index ด้วย โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวลดลง 23.38%, 18.74% และ 18.79% โดยที่ดัชนีทั้งหมดเคลื่อนไหวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 5.48% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 38.50% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 13.37% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 29.40%

ปัจจัยค่าเงินกลับมาเป็นปัจจัยบวกของตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี US Dollar Index อ่อนค่า 0.80% อันเป็นผลมาจากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณในการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนี Asian Dollar Index แข็งค่า 0.48%

นอกจากภาวะ “Risk On” ยังคงกระจายไปในสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset ด้วยอื่นด้วย โดยเฉพาะน้ำมันที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.68% โดยราคาน้ำมันเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับสัญญาณเชิงบวกของความเป็นไปได้ในการคลี่คลายสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีเราจะพบว่าในการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นน้อยกว่ามากราว 1.77% เท่านั้น เพราะถ้าพิจารณาในเชิงพิฐานจะพบว่า Bloomberg Consensus ประเมินว่ากำไรสุทธิในปี 2562 ของตลาดหุ้นไทยจะขยายตัวเพียง 5.8% เท่านั้น เทียบกับของตลาดหุ้นโลกที่ 13.4%, ตลาดหุ้นสหรัฐที่ 16.0%, ตลาดหุ้นยุโรปที่ 21.1% และตลาดหุ้นจีนที่ 19.6%

ดังนั้น ในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน ในทางตรงกันข้ามถ้า SET ทำจุดต่ำใหม่ หรือ Lower Low ต่ำกว่า 1,580 จุด บริเวณ Fib Node 1.618 หรือ 1,490 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

20 views
bottom of page