นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองปี 2562 ไม่หมู ... สถานการณ์ต่างๆ กดดันให้เดินหน้าลำบาก ไม่สดใสเหมือนปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องของ อัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่มีผลกระทบ ขณะที่จีดีพีปี 2562 จะไม่โตแบบปี 2561 มองการเลือกตั้งเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน แนะทุกภาคอุตสาหกรรมไทยล้วนน่าห่วงให้เร่งปรับตัว
ภาคอุตสาหกรรมไทยโดยรวม จะเดินหน้าในปีใหม่ 2562 แบบเข้มแข็งหรือถอดใจ
ปี 2561 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรม โดยรวมนับว่าค่อนข้างดี ไม่เหมือนภาคการเกษตรที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปี 2562 แนวโน้มอุตสาหกรรมจะไม่สดใสเหมือนปี 2561 เพราะมีเรื่องของสงครามการค้าที่จะไม่จบง่ายๆ เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ย ที่จะเข้ามามีผลกระทบพอสมควร
คาดว่าจะมีการผลิตกันเต็มกำลังสักกี่เปอร์เซ็นต์
ต้องยอมรับว่ามีอุตสาหกรรมที่ดี และไม่ดี ในปี 2561 ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ดีมากจนน่าตกใจเลยทีเดียว เพราะยอดจัดจำหน่ายรถโตขึ้นมากว่า 20% นับตั้งแต่ปีรถยนต์คันแรกเป็นต้นมา ปี 2561 เป็นปีแรกที่อุตสาหกรรมรถดีมากๆ ดีที่สุดรองจากปีรถยนต์คันแรก ซึ่งส่งผลทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ดีขึ้นไปด้วย ส่วนภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็ใช้ได้ มาเร่งตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 อุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างดี ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เกษตรไม่ค่อยดี
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2561 ดีที่สุดในรอบ 66 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556) อาจเป็นเพราะข่าวคราวเรื่อง การเลือกตั้ง และตัวเลขการส่งออกค่อนข้างดี พืชเกษตรอย่าง ข้าว ก็เริ่มดีตั้งแต่กลางปีมา เหลือแต่ปาล์มกับยางที่ไม่ดี ดัชนีความเชื่อมันด้านอื่นๆ ก็ดีขึ้นหมดทุกภาค ซึ่วมาช่วยหนุนอุตสาหกรรม ยกเว้นภาคใต้ที่ยังไม่ค่อยดี
แบบนี้ในปี 2562 ภาพรวม ดัชนีอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ขนาดไหน
คือถ้าดูจาก จีดีพี ปี 2561 ที่โต 4.3-4.5% ค่อนข้างดี ... แต่ว่าปี 2562 จะให้โตระดับนี้ค่อนข้างยากลำบากนิด เพราะหลายเรื่องเป็นอุปสรรค ทั้งสงครามการค้า แต่เรื่องของการลงทุนค่อนข้างจะสดใส
เพราะสงครามการค้าทำให้จีน ญี่ปุ่น แม้แต่ยุโรป หันมาสนใจลงทุนในบ้านเรามากขึ้น อย่างอีอีซี ดังนั้นการลงทุนในปี 2562 น่าจะดี การก่อสร้างก็น่าจะดีมาก เพราะว่ารัฐเองก็ลงทุนอินฟลาสตรัคเจอร์เยอะมาก เริ่มดำเนินการแล้ว มีไฮสปีดเทรน มีรถไฟความเร็วสูง สนามบิน พวกนี้จะเริ่มทยอยเกิดขึ้นมา
ในส่วนที่กังวล เรื่อง ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติเริ่มขยับขึ้น
กระทบอยู่แล้วครับ ดอกเบี้ยกับอุตสาหกรรมยืนคนละข้างกันอยู่แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร อุตสาหกรรมก็ร้องโอยหมดครับ
ความจริงแล้วจะเห็นว่าในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2561 เราเริ่มจะดีขึ้นโดยรวม ซึ่งถ้าดอกเบี้ยสามารถยืนได้ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยเนี่ย จะทำให้เราดีขึ้น ...
จริงๆ แล้วการขึ้นดอกเบี้ย ต้องดูเรื่องของเงินเฟ้อด้วย เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ มันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย ... สภาพเศรษฐกิจเราที่ดูดีก็มีแค่เรื่องของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่ แต่ว่าระดับรากหญ้า เอสเอ็มอียังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างเยอะ....
ภาคอุตสาหกรรม จึงไม่อยากให้รีบขึ้นดอกเบี้ย
ตอนนี้เราอยู่ในห้วงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ทันสมัย ต้องใช้เงินปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรม แต่มาขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่ไหวกัน
ครับเพราะดอกเบี้ยขึ้น เงินกู้จะขึ้น การลงทุนเรามีมากขึ้นตลอดเวลา โรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลางก็ต้องลงทุนขยับขยายเรื่องเทคโนโลยี เรื่องนวัตกรรม เรื่องการพัฒนาด้านหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ เอไอ ทุกแห่งขยับหมด สภาอุตฯ จัดงานเรื่องนี้คนก็สนใจกันมาก อยากพัฒนาแต่มันต้องจ่ายเยอะก็เป็นอุปสรรค พอจะกู้ดอกเบี้ยก็แพง
เจออุปสรรคแบบนี้ อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสายตาประธานสภาอุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมประเภทไหน
ผมว่าทุกอุตสาหกรรมน่าเป็นห่วงหมด เพราะว่าอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงซันเซ็ท เช่น สิ่งทอ สิ่งพิมพ์
โอกาสนี้ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมฯ จะกล่าวให้คำแนะนำสมาชิกอย่างไรสำหรับปี 2562
สภาอุตสาหกรรมฯ เราพยายามทำเรื่อง อินดัสตรีส์ทรานส์ฟอร์เมชั่น เราต้องพัฒนาตัวเราเอง เพราะว่าเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนเยอะ ทุกโรงงานต้องเน้นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อจะได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆตอบสนองตลาด เทคโนโลยีก็สำคัญ เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง คุณภาพที่ดีขึ้น
สิ่งสำคัญคือ การที่ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐอีกเยอะ อย่างที่สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ทุกจังหวัดทำเรื่อง 1 จังหวัด 1 สถาบันการศึกษา ทำเรื่องนวัตกรรมกับวิจัย R&D มีกระทรวง วิทยาศาสตร์ มาช่วยขับเคลื่อนด้วย แล้วมาเทรน มาอบรมให้สมาชิกของเรา