ต้นปี 2562 ยังน่ากังวล! ในมุมมองของ “นายหมูบิน” มองว่าตลาดหุ้นโลก และไทยในปี 2562 ยังคงคาดหวังการปรับตัวขึ้นอย่างจริงจังอีกครั้งได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าในปี 2561 ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก และดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงมาแล้ว 12.12% และ 8.99% ตามลำดับ เนื่องจากในเชิงของ Momentum การที่ตลาดหุ้นโลกในช่วงสุดท้ายของปี 2561 ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึง Risk Tolerance หรือระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นโลกโดยเฉพาะในช่วงต้นปีหน้า จะยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้า รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางการสหรัฐ หรือเฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2562 สู่ระดับ 2.3% จากเดิมที่ 2.5% เท่ากับประมาณการของ Morgan Stanley หรือ MS ซึ่งจะถือได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2562 เติบโตชะลอตัวลงจาก 2.9% ในปี 2561 ทั้งนี้ในส่วนเศรษฐกิจโลก MS ก็ประเมินว่าจะเติบโตชะลอตัวลงจาก 3.8% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 3.6% ในปี 2562 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีในปี 2562 ประเด็นที่น่าจับตามากที่สุด จะอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจของยุโรป ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ทั้งนี้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 ส่งผลกระทบต่อมุมมองบน
ความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้นโลกด้วย โดยที่ Consensus ประเมินว่ากำไรของตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2561 จะขยายตัวเพียง 9% เท่านั้น ลดลงจาก 22% ในปี 2561 ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป, ญี่ปุ่น, เอเชีย และไทย กำไรสุทธิขยายตัวราว 8-10% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก และแทบไม่มีความน่าสนใจเลย
นอกจากนี้ความกังวลในเชิงพื้นฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลกระทบต่อ Sentiment ของตลาดหุ้นโลกชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และยุโรปยังคงแกว่งตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) อย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 24.86% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 47.30%
ดังนั้นในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน ในทางตรงกันข้ามถ้า SET ทำจุดต่ำใหม่ หรือ Lower Low ต่ำกว่า 1,580 จุด บริเวณ Fib Node 1.618 หรือ 1,490 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับต่อไป
ปี 2562 มี Downside สูงกว่า Upside มาก : นอกจากในเชิงของความสามารถในการทำกำไรที่ไม่สามารถช่วยสร้างความมั่นใจได้แล้ว ในด้านของความคาดหวังของระดับราคาของตลาดหุ้นโลก ก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลด้วย เพราะนอกจาก MS จะประเมินว่าเป้าหมายของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย จะมีระดับ Potential Upside Gain ในกรณีปกติ (Base Case) เพียง 4%, 4%, 11% และ 8% ตามลำดับแล้ว ถ้าในกรณีแย่ (Bear Case) MS ประเมินว่าเป้าหมายของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย จะมีระดับ Potential Downside Loss สูงถึง 9%, 21%, 20% และ 23% ตามลำดับเลยทีเดียว
ดังนั้น แม้ว่าในระยะสั้นช่วงต้นปี 2562 ตลาดหุ้นโลก อาจมีจังหวะดีดตัวขึ้นมาได้บ้าง แต่ “นายหมูบิน” มองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบัน Momentum Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดการเคลื่อนตัวของราคา และนำมาใช้เป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นมีโมเมนตัมเชิงบวก หรือเชิงลบ พบว่ามีตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และ World Index อยู่ในโซน “Panic” โดยมี SD อยู่ที่ระดับ -2.90SD, -1.03SD, -1.56SD และ -1.47SD ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบนความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะลดลงในปี 2562 หลังจากที่ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (Dot Plot) ของสหรัฐ ล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการ FOMC ได้ปรับมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 ลงจาก 3 ครั้งเป็น 2 ครั้ง เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงและออกมาต่ำกว่าที่คาดรวมถึงภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยการปรับมุมมองดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง หลังจากนักลงทุนในตลาดเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ช้าลง
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ