top of page
369286.jpg

ห้ามปิดสัปดาห์ต่ำกว่า 1,580 จุด


ยังเป็นขาลง ! แม้ว่าในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมผ่านมา ตลาดหุ้นในบางภูมิภาคที่สำคัญจะมีการดีดตัวกลับขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.78%, 1.19%, 0.38% และ 0.85%

ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นเพราะปัจจัยบวกเฉพาะตัวจริงๆ โดยที่ประเด็นหลักๆอยู่ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และระบุว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนในปีหน้า รวมทั้งการที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกแถลงการณ์ต่อสภาสามัญชนของอังกฤษโดยระบุว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจเลื่อนการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไม่มีกำหนด และความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาลอิตาลีเริ่มคลี่คลายแล้ว หลังจากรัฐบาลอิตาลีแก้ไขร่างงบประมาณในปี 2562 โดยมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณ 2.04% ของ GDP ใกล้เคียงกับเป้าหมายของ EU ที่ต้องการให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของอิตาลีไม่เกิน 2% ของ GDP แต่นักลงทุนในตลาดคาดว่าน่าจะมีการประนีประนอมกันได้ สะท้อนให้เห็นผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561

อย่างไรก็ดี ถ้าไปพิจารณาในภาพรวมของตลาดหุ้นโลกจะพบว่ายังคงไม่ได้ดีขึ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ยังคงปรับตัวลดลงอีก 0.65% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงไปแล้ว 7.20%

ปัจจัยกดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมที่สำคัญ ยังคงเป็นทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีกครั้งราว 1.68% ซึ่งต้องยอมรับว่าตราบใดที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในทิศทางขาลง คงเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นการดีดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของตลาดหุ้นโลกในภาพรวม ในทางตรงกันข้ามการดีดตัวขึ้นมาในระยะสั้นคงเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงดูแย่กว่า หรือ Underperform ตลาดหุ้นโลก และสหรัฐอย่างต่อเนื่อง เฉพาะสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีก 2.34% และหลุด 1,600 จุดในสัปดาห์ถัดมา และมีความเสี่ยงที่สูงมากในสถานการณ์แบบนี้ ที่ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสอยู่ในทิศทางขาลงในระยะสั้นต่อไป หลังจากที่ในทางเทคนิค ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆทั้งในส่วนของ S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx50 ของยุโรป, NIKKEI ของญี่ปุ่น และ FTSE Asean40 ของอาเซียน ล่าสุดยังคงแกว่งอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นในราย Daily

ดังนั้น ในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน

ในทางตรงกันข้ามถ้า SET ทำจุดต่ำใหม่ หรือ Lower Low ต่ำกว่า 1,580 จุด บริเวณ Fib Node 1.618 หรือ 1,490 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับต่อไป

ต่างชาติจะยังไม่กลับมา : ทั้งนี้ปัจจัยลบที่กดดันตลาดหุ้นโลกดูเหมือนจะมีมากกว่าปัจจัยบวก โดยที่ฝั่งของยุโรปแม้ว่าในระยะสั้นจะมีปัจจัยบวกเรื่องการคงดอกเบี้ยของ ECB แต่ปัจจัยลบที่กำลังเข้ามาดูเหมือนจะใหญ่กว่ามากสำหรับตลาดหุ้นยุโรป จากการที่ ECB ประกาศยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. 2561 นี้ หลังจากที่ได้เข้าซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2.6 ล้านล้านยูโร

ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลก มีประเด็นสำคัญมากที่จะกดดันในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 คือการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะปล่อยให้หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลต้องถูกปิดลง หรือ ชัตดาวน์ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐและเม็กซิโก

นอกจากนี้ยังคงได้รับประเด็นกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐด้วย ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของตลาดหุ้น หรือ VIX Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของสหรัฐ และยุโรป ยังคงแกว่งตัวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 17.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 20.90% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish เพิ่มขึ้น 18.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 48.90%

ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ตลาดหุ้นเอเชีย และไทยดูเหมือนจะแย่ลงไปอีก เมื่อมองถึงโอกาสที่น้อยลงมากๆ ที่จะได้เห็น Foreign Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย จากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่สะท้อนจากดัชนี US Dollar Index ที่แข็งค่าขึ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่า 0.26% ขณะที่ Asian Dollar Index อ่อนค่า 0.18%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้น ไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

32 views
bottom of page