top of page
312345.jpg

ต่ำกว่า 1,670 จุดให้มองลงต่อไว้ก่อน


แย่กว่าเพื่อนเลย !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเป็นขาลงต่อเนื่องตามที่เราได้มองกันไว้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลดลง 2.54% ซึ่งได้รับประเด็นกดดันจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน เป็นการบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการที่นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐที่เป็นผู้นำในการปรับตัวลงในรอบนี้ ปรับตัวลงอีก 2.73% หลังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะหลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การผลิต iPhone ของแอปเปิลในปีหน้าลง 6% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่บริษัทลูเมนตัม ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของแอปเปิลได้ปรับลดแนวโน้มผลประกอบการ ส่งผลให้ราคาหุ้นแอปเปิลลดลงอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง 2.36% หลังได้รับประเด็นกดดันจากรัฐมนตรีหลายคนของอังกฤษประกาศลาออกเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ยื่นต่อสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลให้สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ยังได้รับประเด็นกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาลอิตาลีที่ดูยังไม่มีท่าทีจะตลกลงกันได้ หลังจากอิตาลีกล่าวว่าไม่มีแผนสำรองสำหรับแผนงบประมาณในปี 2562 พร้อมยืนยันที่จะปฏิเสธที่จะทบทวนร่างงบประมาณประจำปี 2562 แม้มีข้อกำหนดว่าร่างงบประมาณของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จะต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านการคลังของ EU ก็ตาม

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดหุ้นเอเชียจะมีผลงานที่ดีกว่า หรือ Outperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยที่ดัชนี MSCI Asia ex Japan ปรับตัวลดลงเพียง 0.64% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสหรัฐได้ชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเอาไว้ชั่วคราว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลายลง แต่ปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของโอกาสในการเลื่อนวันเลือกตั้ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมากกว่าตลาดหุ้นเอเชียชัดเจน และสวนทางกับตลาดหุ้นอื่นในกลุ่ม TIP ทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ปรับตัวขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด ทั้งนี้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 5 ครั้งติดต่อกัน เพื่อควบคุมการคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อและดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบของนโยบาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 6% ในการประชุมครั้งล่าสุด นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ของปี 2561 ภายใต้เป้าหมายที่จะทำให้เงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น โดยการตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งของธนาคารกลางในการลดยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

มีโอกาสลงต่อมากกว่าดีดกลับ : ในระยะสั้นนอกจากตลาดหุ้นไทยจะได้รับปัจจัยกดดันจากทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งล่าสุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนตกต่ำลงไปอย่างมากแล้ว หลังจากที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะระบุชัดเจนว่าล่าสุดมีสัดส่วนนักลงทุนเพียงร้อยละ 35.09 ที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะตลาดขาขึ้น หรือ Bullish ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.19% ขณะที่มีสัดส่วนนักลงทุนถึงร้อยละ 35.96 มองว่ามีตลาดหุ้นสหรัฐจะอยู่ในภาวะตลาดขาลง หรือ Bearish ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.77%

ประกอบกับ Momentum ของตลาดหุ้นโลกที่ย้ำแย่อย่างหนัก หลังจากที่ดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด ทั้งในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรปและฮ่องกงต่างปรับตัวขึ้น 19.50%, 26.90% และ 5.01% ตามลำดับในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นค่าเงินยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันสำคัญของตลาดหุ้นไทยด้วย หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar Index ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นอีก 0.21% หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.2561 ขณะที่ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงราว 1.26% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้การปรับตัวลดลงอย่างหนักของราคาน้ำมันดิบโลกยังส่งผลด้านลบต่อการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มพลังงานของไทยด้วย โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง 6.94% เนื่องจากยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และอุปสงค์น้ำมันที่หดตัวลง หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐ ยอมผ่อนปรนให้บางประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้โดยไม่ถูกลงโทษ เนื่องจากกังวลว่าหากตัดขาดการส่งออกน้ำมันอิหร่านทั้งหมดอาจดันราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ส่งผลให้เกิดอุปทานน้ำมันล้นตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะที่ US Production เพิ่มขึ้นสู่ 11.5 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสู่ 12 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว Consensus ประเมินว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะขยายตัวเพียง 7% เท่านั้นในปีหน้า ดังนั้นในเชิงของแนวโน้มทางเทคนิคตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ 1,670 จุดได้ ทิศทางของตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นขาลง โดยมีแนวรับต่อไปที่ 1,584 จุด

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

45 views
bottom of page