กระทรวงคลังแจงเก็บภาษีที่ดินแน่ 1 มกราคม 2563 เผยบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี เริ่มเก็บส่วนที่เกินล้านละ 200 บาทต่อปี ส่วนหลังที่สองเสียภาษีตั้งแต่ล้านบาทแรก ด้านที่ดินประเภทเกษตรกรรมสำหรับบุคคลธรรมดา จัดเก็บในอัตราล้านละ 100 บาทต่อปี
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังและประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดเผยว่า กมธ.ได้พิจารณารายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงกลางเดือน พฤศจิกายนนี้ คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษียังแบ่งเป็น 4 ประเภท โดยที่ดินประเภทเกษตรกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก และจะเริ่มจัดเก็บภาษีในส่วนที่จาก 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาทต่อปี เช่น ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่มีมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 1 พันบาทต่อปี เป็นต้น โดยในส่วนนี้กฎหมายจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในช่วง 3 ปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย
ส่วนเกษตรรายใหญ่ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจะคิดอัตราภาษีตั้งแต่บาทแรก โดยที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 100 บาทต่อปี เช่น ที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท เสียภาษี 1,000 บาท, ที่ดินมูลค่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 2,000 บาท เป็นต้น โดยจะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีแรก ไม่มีการเว้นให้เหมือนเกษตรรายย่อย ด้านที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกรรมาธิการเห็นชอบให้เว้นภาษีบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 บาทเหมือนเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการพิจารณาว่าจะเว้นให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จะเก็บล้านละ 200 บาท เช่น บ้านมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาทต่อปี ในส่วนบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปจะเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ล้านละ 200 บาท เช่น บ้านมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาทต่อปี
ขณะที่ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เพื่อการอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์จะเก็บแบบขั้นบันไดสูงสุด ไม่เกิน0.7% ของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้ที่เสียภาษีใหม่มากกว่าเสียภาษีที่เคยเสียอยู่ ในส่วนที่เกินจะมีการบรรเทาให้เป็นเวลา 4 ปี โดยเก็บภาษีปีแรก 25% ปีที่ 2 จัดเก็บ 50% ปีที่ 3 จัดเก็บ 75% และจัดเก็บภาษีในอัตรา 100% ในปีที่ 4 ที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์จะได้รับการบรรเทาค่าภาษี เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสนามกีฬาของเอกชน จะมีการผ่อนผันแต่ละประเภทไม่เท่ากัน โดยผ่อนผัน หรือลดหย่อนภาษีสุดถึง 90% ของภาษีที่ต้องเสีย เช่น โรงเรียนเอกชน เพราะเป็นการสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.3% ของราคาประเมิน และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ต่อเนื่องไม่เกิน 27 ปี ในอัตราไม่เกิน 3% จนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อต้องการให้มีกระตุ้นให้ใช้ที่ดินว่างเปล่าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น เมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นปีละ 4% ถือว่าไม่ได้เป็นภาระกับผู้เสียภาษี นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้มีการเก็บภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บ อยู่ที่ปีละ 30,000 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้การเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี