top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นกลับมาเป็นตัวฉุด


ยังขายไม่เลิก !

การปรับตัวลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ (S&P500) และตลาดหุ้นญี่ปุ่น (NIKKEI) นอกจากจะเป็นการยืนยันแนวโน้มการพักตัวในระยะสั้นของตลาดหุ้นทั้ง 2 ประเทศแล้ว ยังกดดันให้ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในภาวะ Sell-Off ต่อเนื่องด้วย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอีก 2.76%

ทั้งนี้ Momentum ดังกล่าวของตลาดหุ้นสหรัฐ และญี่ปุ่น กดดันให้ตลาดหุ้นสำคัญที่เหลือของโลกให้ปรับตัวลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นยุโรป, จีน, Asia ex Japan และไทย ที่ปรับตัวลดลง 1.82%, 2.24%, 2.47% และ 2.29% ตามลำดับ

สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงได้รับประเด็นกดดันเพิ่มเติม จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ล่าสุดได้จัดการประชุมประจำปีที่ประเทศอินโดนีเซีย มีมุมมองสำหรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยมีสาเหตุสำคัญคือแรงกดดันจากสงครามการค้าที่สร้างผลกระทบทั่วโลกรวมถึงอัตราพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของประเทศจีนขยายตัวอยู่ที่ 6.5% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับกับเดือนก่อนหน้า และเป็นตัวเลข GDP ที่มีอัตราโตต่ำสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจน

ทั้งนี้ แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนจะได้รับปัจจัยเชิงบวกจากรัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างจริงจัง รวมทั้งเร่งบังคับใช้มาตรการต่างๆที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่รัฐบาลจีนต้องการบรรเทากระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกเฉพาะกับตลาดหุ้นจีนเท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นยังคงมีทิศทางที่สะท้อนว่านักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกอยู่ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐประกาศตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 5.5% ในเดือน ก.ย.2561 สู่ระดับ 553,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2559 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่ายอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงในเดือน ก.ย.2561 ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ในฝั่งของยุโรปนอกจากทิศทางของตลาดหุ้นจะเป็นขาลงชัดเจนในทางเทคนิคแล้ว ในเชิงของปัจจัยสนับสนุนก็ยังคงไม่มีอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับมีแต่ปัจจัยกดดันแทน โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องงบประมาณระหว่างอิตาลี กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่ง EU มองว่าร่างงบประมาณปี 2562 ของอิตาลีขัดต่อกฎหมายทางการเงินของ EU ทั้งนี้ EU กำหนดให้ประเทศใน EU มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP โดยที่ EU เรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล ขณะที่นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ออกมายืนยันว่ารัฐบาลอิตาลีจะไม่มีการปรับแผนงบประมาณของประเทศแต่อย่างใด

กลัวความเสี่ยงกันไปหมด : การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และเอเชียราว 20.74%, 14.22% และ 14.59% รวมทั้งยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วัน สะท้อนให้เห็น Momentum ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และเอเชียที่ยังคงอยู่ในแนวโน้มพักฐานในระยะ 1 เดือนชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 6.0% WoW มาอยู่ที่ 28.0% ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.5% และต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่ม 6.0% WoW มาอยู่ที่ 41.0% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5%

นอกจากนี้แนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียด้วย โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี US Dollar Index ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.81% สวนทางกับดัชนี Asian Dollar Index ค่าเงินเอเชียที่อ่อนค่าลง 0.39% ทั้งนี้ระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนโลกที่ลดลง ไม่ได้สะท้อนออกมาเฉพาะในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังคงสะท้อนไปในทิศทางของสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset อื่นๆด้วย

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง 2% เนื่องจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน และซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าจะรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมัน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการผลิต รวมถึงการปรับตัวลดลงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงสร้างแรงกดดันต่อภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันด้วยเช่นกัน สวนทางกับราคาทองคำในฐานของสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยที่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงอย่างหนัก รวมถึงสถานการณ์อันตึงเครียดอื่นๆในปัจจุบัน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

12 views
bottom of page