top of page
440662.jpg

การดีดตัวกลับในระยะสั้นยังไว้ใจไม่ได้


Sell-Off รอบโลก ! ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคเกิดภาวะ Sell-Off อีกครั้ง โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงสัปดาห์เดียวถึง 5.56% โดยมีตลาดหุ้นสหรัฐ และเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ปรับตัวลง 5.97% และ 6.67% ตามลำดับเป็นผู้นำการปรับตัวลงในรอบนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันอย่างหนัก หลังจากที่หุ้นเทคโนโลยีในกลุ่ม FAANG (เฟซบุ๊ก, แอปเปิล, อเมซอน, เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล) ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ประกอบกับการที่ IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2562 ลดลงเป็น 2.5% (จากเดิม 2.7%) โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ พร้อมกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ย.2561 ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดอาจจะเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับทิศทางของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ที่ปรับตัวขึ้นถึง 75.67%, 32.53% และ 24.18% ตามลำดับ เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลงถึง 15.1% WoW มาอยู่ที่ 30.6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.5% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 10.3% WoW มาอยู่ที่ 35.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5% แล้ว

ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่ม Asia ex Japan ได้รับผลกระทบอย่างมากจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเอเชียได้อย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อย่างการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลังสูงต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย ที่เริ่มประสบปัญหาภาวะเงินทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนค่า ขณะที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นจากภาวะกดดันที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงประเด็นกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในภาวะที่ตลาดหุ้นโลกเกิด Sell-Off แต่ตลาดหุ้นไทย, ยุโรป และญี่ปุ่น กลับ Outperform ขึ้นมา โดยปรับตัวลดลงเพียง 2.69%, 5.28% และ 5.51% ตามลำดับ โดยตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจาก IMF ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน ซึ่งในปี 2561 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 3.9% และในปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% จาก 3.8%

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวตามประมาณการใหม่ของ IMF สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมิน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยนั้นยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทในเดือน ส.ค.2561 และมีหนี้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับในกลุ่มประเทศ Emerging Market ด้วยกัน

ต่ำกว่า 1,680 จุดค่อยกลับมาดูการซื้อ : แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา IMF จะปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ลง แต่ตลาดหุ้นไทยจะได้รับปัจจัยหนุนชัดเจนจากการที่ IMF ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นจากประมาณการครั้งทั้งในส่วนของปี 2561 และ 2562 อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงมองโอกาสที่ SET Index จะขยับขึ้นไปเหนือ 1,800 จุดในช่วงที่เหลือของปี 2561 เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่น ผลกระทบและความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่ IMF ประเมินว่าจะมีเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปีหน้า จากสาเหตุของการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

นอกจากนี้การที่ระดับ Loan to Deposit Ratio (LDR) หรืออัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากใช้เพื่อประเมินสภาพคล่องของธนาคารโดยเปรียบเทียบยอดรวมเงินให้สินเชื่อของธนาคารกับยอดเงินฝากรวมในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งหากอัตราส่วน LDR สูงหมายความว่าธนาคารมีสภาพคล่องที่ต่ำ ในทางตรงกันข้ามถ้าอัตราส่วน LDR ต่ำหมายความว่าธนาคารมีสภาพคล่องที่สูง ขณะที่โดยหลักการแล้วอัตราส่วน LDR ควรจะอยู่ในระดับ 80% ถึง 90% ซึ่งการที่อัตราส่วน LDR ของไทย ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 97.79% สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าด้วย

ทั้งนี้หากพิจารณาในเชิงของ Valuation จะพบว่าจากการที่ระดับ P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16.6 เท่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ต่ำค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 16.84 เท่า และระดับ Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 3.15% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง หากระดับ Earning Yield Gap กลับไปซื้อขายที่ระดับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (หากสมมุติฐานให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีเพิ่มขึ้น 0.25% ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3%) มูลค่าในเชิงพื้นฐานของ SET Index จะอยู่ที่ระดับราว 1,680 จุด ดังนั้นหาก SET Index ปรับลดลงต่ำกว่า 1,680 จุด น่าจะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าลงทุน มากกว่าการไล่ซื้อในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยดีดตัวกลับในระยะสั้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,800 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

bottom of page