top of page
312345.jpg

แกว่งขึ้นต่อยังมองเป็นโอกาสขาย


หุ้นไทยจะขึ้นช้ากว่า ! ต้องเรียนว่าเป็นไปตามคาดสำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทย ในภาวะที่ตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ตลาดหุ้นไทยจะมีผลงานที่แย่กว่า หรือ Underperform โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 ส.ค.2561) ในสถานการณ์ที่ดัชนี MSCI ACWI เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งออกแบบมาเพื่อสะท้อนด้านเคลื่อนไหวของราคาตลาดตราสารทุนโดยรวม MSCI ACWI คิดคำนวณโดย MSCI และประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ปรับตัวขึ้น 1.99% เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติค่าเงินตุรกี หลังมีความช่วยเหลือทางการเงินจากหลายประเทศ โดยมีตลาดหุ้นในกลุ่ม Asia ex Japan ที่ Outperform โดยปรับตัวขึ้น 2.48% นำโดยประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

สถานการณ์ดังกล่าวในตลาดหุ้นโลก และภูมิภาค น่าจะยังคงอยู่ต่อไป หลังจากที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา 16-22 ส.ค.2561 พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่ยังคงเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 2.3% WoW มาอยู่ที่ระดับ 38.5% เท่ากับระดับค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับสู่แนวโน้มขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 2.0% WoW มาอยู่ที่ระดับ 27.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5%

สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ที่สะท้อนความผันผวนของตลาดหุ้น และมีความสัมพันธ์ในเชิงตรงกันข้าม หรือ Negative Correlation กับทิศทางของตลาดหุ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงต่างปรับตัวลดลง 9.59%, 15.45% และ 13.61% ตามลำดับ

ทั้งนี้ปัจจุบันดัชนี VIX Index ของทั้ง 3 ตลาดหุ้น เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย EMA 25 วัน สะท้อนแนวโน้มขาลงชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกกับทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และเอเชียในระยะสั้นๆ นี้

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยกลับได้ประโยชน์น้อยมากจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับตัวขึ้นเพียง 1.31% เท่านั้น ซึ่งถือว่า Underperform ทั้งในส่วนของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาค

ไม่ใช่ตลาดหุ้นเอเชียทั้งหมดที่ได้ประโยชน์ : ในสถานการณ์ที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการเมืองโลกคลายตัวลง ตลาดหุ้นภูมิภาคยังคงมีโอกาสที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางของกระแสเงินทุน หรือ Fund Flows ที่มีแนวโน้มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในระยะสั้น สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar Index อ่อนค่าลง 1.52% เมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินหลัก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐลดลงแตะระดับต่ำสุดรอบเกือบ 1 ปี นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สวนทางกับค่าเงินเอเชียที่กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี Asian Dollar Index แข็งค่าขึ้น 0.95%

อย่างไรก็ดีภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียคงจะเป็นไปในลักษณะ Selective Buy มากกว่า เนื่องจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะทองคำ และน้ำมันด้วย

โดยในส่วนของราคาน้ำมันนั้น นอกจากปัจจัยบวกจากเรื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าแล้ว ยังคงมีปัจจัยหนุนจากการที่จีนและสหรัฐจะจัดให้มีการเจรจารอบใหม่ในเดือนนี้ เพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางการค้า รวมทั้งประเด็นเรื่องปริมาณน้ำมันในตลาดโลกอาจประสบภาวะตึงตัว จากการที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน และการที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

แนวโน้มหุ้นใหญ่ยังนำตลาดหุ้นไทย : ในมุมมองของ “นายหมูบิน” มองว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นหนึ่งได้ตลาดหุ้นเอเชียที่ได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคในระยะสั้นๆ น้อย แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะได้รับแรงหนุนจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์เปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัว 4.6% มากกว่าที่คาด 4.4% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวที่ 4.8% เนื่องจากการบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับความกดดันจากเรื่องของ Valuation เนื่องจากปัจจุบันหากเทียบกับดัชนีอ้างอิงอย่าง MSCI Asia ex Japan พบว่าระดับ Trailing P/E Spread อยู่ที่ 4.21 เท่า ยังคงเคลื่อนไหวเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ขณะที่ P/BV Spread ระหว่างตลาดหุ้นไทยและดัชนี MSCI Asia ex Japan อยู่ที่ระดับ 0.49 เท่า ยังคงเคลื่อนไหวเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีเช่นเดียวกัน

ดังนั้นในส่วนของตลาดหุ้นไทย แม้ว่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่คงจะขยับขึ้นเฉพาะในกลุ่มที่มี Momentum แข็งแกร่งชัดเจนเท่านั้น ซึ่งในประเด็นดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากดัชนี Relative Strength Indicator ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกลุ่มหุ้นกับดัชนีอ้างอิงอย่าง SET Index พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีที่ Outperform ได้แก่ SETHD Index, SET 100 Index และ SET 50 Index เปลี่ยนแปลง +0.07%, +0.19% และ +0.18% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีที่ Underperform ได้แก่ sSET Index เปลี่ยนแปลง -0.61%

ดังนั้นการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นๆ นี้ จะนำมาโดยหุ้นในกลุ่ม Market Cap ขนาดใหญ่เป็นหลัก

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,750 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

11 views
bottom of page