top of page
312345.jpg

ไทยไม่สะเทือนพิษวิกฤตตุรกี เตือนต้องใช้สอยอย่างประหยัด


ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ประเมินสถานการณ์ตุรกีไม่รุนแรงเท่าต้มยำกุ้งของไทยเมื่อ 21 ปีก่อน แม้จะมีกรณีปัญหาจากการก่อหนี้ของภาคเอกชนมากจนเกินไปเหมือนๆกัน ... ระบุไทยโชคดีบนความโชคร้ายที่เศรษฐกิจไม่ค่อยเติบโต เลยกลายเป็นไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเคบับดีซีสของตุรกีรอบนี้มากนัก … แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรประมาท เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง!!! เนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินจะกระเทือนต่อความสามารถในการแข่งขันธุรกิจส่งออกในที่สุด เตือนประชาชนคนไทยดูแลตัวเองกันดีๆ ดูแลการเงินในกระเป๋าเราไว้ให้ดีๆ

 

อาจารย์มองสถานการณ์ตุรกีอย่างไร และคิดว่าวิกฤตนี้จะบานปลายอย่างไรหรือไม่

ตุรกีมีปัญหาหลายอย่างเข้ามาผสมในช่วงนี้ หลักใหญ่เป็นเพราะว่าสหรัฐแซงชั่น และปัญหาที่หมักหมมอยู่ก่อน ทำให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน มีความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและธนาคารกลางก็ถูกโจมตี ความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์ของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ไม่ดีแล้ว

สำหรับนักลงทุน ก่อนหน้านี้ความเชื่อมั่นไม่มี เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสงครามการค้าหรือการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับจีน และอีกหลายกรณี ทำให้ความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก มาเจอเรื่องตุรกีซ้ำอีก ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาจึงลงมาเยอะ

กรณีของตุรกี ค่าเงินอ่อนค่าลงมาก่อนแล้ว ก็ยิ่งอ่อนค่าลงอีกเมื่อเจอกรณีการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากอเมริกา พอกระทบตุรกีก็ไปกระทบกับประเทศที่ใกล้เคียงกันหรือเชื่อมโยงกัน เช่น แอฟริกา รัสเซีย ยุโรป เพราะตุรกีเป็นประเทศที่สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้

หลักใหญ่ตุรกีมีปัญหาพื้นฐานอยู่แล้วในเรื่องของปัญหาการเงินระหว่างประเทศ ตั้งแต่มีการรัฐประหาร และระหองระแหงกับสหรัฐ มานานเป็นปี มีปัญหาเรื่องก่อหนี้ภาคเอกชน แต่อย่างอื่นไปได้ดี เช่น รัฐบาลมีหนี้น้อย ภาคครัวเรือนมีหนี้น้อย เศรษฐกิจยังไปได้ดีมาก แต่ภาคเอกชนมีการลงทุนมากไปและมีการก่อหนี้ในรูปเงินต่างประเทศมากไป เงินเฟ้อต่างๆ ดอกเบี้ยต่างๆ ก็ปรับขึ้นมาในระยะหนึ่งแล้ว หลังมีปัญหาในตุรกีเกิดขึ้นคนเรียกร้องว่าทำไมไม่ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตุรกีก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยมาเยอะแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเมื่อขึ้นไปแล้วจะแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น วิกฤตของตุรกี ค่อนข้างเป็นลักษณะเฉพาะตัว แต่ว่าค่าเงินที่ลงแรง 40% กระทบมากและมีแนวโน้มว่าจะลงอีก...ถ้าค่าเงินอ่อนลงไปอีก จะไปกระทบกับประเทศที่ก่อหนี้มาก อย่างประเทศที่เจริญมาก/กำลังรุ่ง/กำลังเติบโตในช่วง 3-4 ปีมานี้ก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะพวกนี้ต้องโตพร้อมกัน เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พวกนี้โตค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา ... ส่วนของไทยโตไม่ค่อยดี เราก็เลยเหมือนห่างออกไป ห่างเพราะไม่ได้ลงทุน เลยไม่กระทบ

แหม ฟังแบบนี้จะเรียกว่า “เราโชคดี” ไหมที่เศรษฐกิจเราไม่ค่อยเติบโต เลยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีตุรกี

ก็ถือว่าโชคดีบนความโชคร้าย เหมือนกับตุรกีที่โชคร้ายยู่บนความโชคดี การท่องเที่ยวยังไปได้ดีแต่ว่าพอเจอปัญหาสหรัฐ เชื่อว่าขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งของสหรัฐจะนานแค่ไหน ตอนนี้ยังเป็นสงครามวาจาอยู่ ตอนนี้ต้องดูต่อไปว่าเขาจะปรับเข้าหากันได้ยังไง

ขึ้นอยู่กับว่าเขาต่อรองกับสหรัฐอย่างไร เพราะการปล่อยบาทหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะคดีบาทหลวงอยู่ในชั้นศาลเขาก็ต้องคิดวิธี แต่ว่าอำนาจของประธานาธิบดีน่าจะเพียงพอที่จะดำเนินการอะไรบางอย่างแต่การเจรจากับสหรัฐง่ายกว่า แต่ว่าจะไปมีปัญหากับรัสซียหรือจีนหรือไม่ แต่คิดว่าเป็นเพียงแค่ความสัพมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องการทูตแต่ในแง่เศรษฐกิจมันไม่ง่าย

ตุรกีจะขอความช่วยเหลือ ขอพึ่ง กาต้าร์ ได้ไหม

ได้ในระดับหนึ่ง เวลาเงินอ่อนทีเงินกาต้าร์ขึ้นเร็วมาก และประเทศที่เข้ามาช่วยก็ลำบาก จีนก็คงมองว่าตุรกีต้องไปด้วยกับจีน และเป็นประเทศที่ไม่มีความแน่นอนในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และมีปัญหากับอียู จีนก็คงลำบากเหมือนกันที่จะเข้าไปในสถานการณ์นี้ ส่วนรัสเซียก็คงรอจังหวะ

วิกฤตของตุรกี เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งไหม ดีกรีความรุนแรง

มองว่าปัญหาตุรกีไม่ลึกพอ และยังมีปัญหาต่อไปอีกเพราะสหรัฐต้องบีบมากขึ้น ตอนนี้สหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งต่อไปจะมีอะไรออกมาอีกยังต้องลุ้นต่อไป แต่ถึงขั้นจะสร้างปัญหาวิกฤตขึ้นมากับบางประเทศ-ผมว่าคงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะในหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในบางประเทศไม่ได้โตแรง ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องเงินทุนออกมากจะเป็นเรื่องของการมีหนี้เยอะหรือการลงทุนมากๆ แต่ก็เป็นกรณีพิเศษของตุรกี

เทียบกับต้มยำกุ้งของไทยอาหารหนักกว่าเพราะของไทยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย และเราใช้มาตรการดอกเบี้ยอย่างเดียวในการแก้ปัญหาและเป็นความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะขึ้นดอกเบี้ยเยอะในขณะที่ค่าเงินบาทวิกฤต แต่ในส่วนของตุรกีดอกเบี้ยขึ้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้นก็ต่างกัน ของไทยเหมือนกับเป็นฟองสบู่จริงๆ ทำให้ลำบาก แต่ก็คล้ายกันในเรื่องของการก่อหนี้ หนี้ครัวเรือนอาจจะไม่เยอะ หนี้รัฐบาลอาจจะไม่เยอะ แต่ไปมีการก่อหนี้ที่ภาคธุรกิจเอกชนเยอะเหมือนกัน

แต่สถานการณ์คนละช่วงเวลา สถานการณ์ช่วงนั้นเอเชียบูม พอร์ตบูม ทุกคนบูมกันหมด และมีบททดสอบที่เม็กซิโก 2 ปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มาเตือนก่อนแล้ว

ในส่วนของตุรกีเขาได้รับการทดสอบมาหลายครั้งแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจเขาถือว่ายืนได้ดีพอสมควร ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลประมาณ 5% ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกประหลาด แต่ว่าตอนนี้เวลามีปัญหาขึ้นมาทุกคนจะบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี จาก 6-7% เหลือ 2% แต่อีกสักระยะอาจจะเหลือ 0% ก็ได้

ในระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน มองว่าซึมซับรับข่าวไปได้มากพอสมควรแล้วหรือไม่

นักลงทุนรับข่าวนี้ไประดับหนึ่ง แต่จะมีระลอกใหม่ตามมาอีก และทางแบงก์ชาติของตุรกีไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกแล้วเพราะว่าสูงมากแล้ว

หลักใหญ่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยมันก็จะกระทบสถาบันการเงินในประเทศและการกู้ภายในประเทศ เพราะฉะนั้นมันก็จะยิ่งหนักขึ้น แต่ถ้าไม่ขึ้นก็จะกระทบกับแบงก์ปล่อยกู้ในประเทศ

เพราะฉะนั้นมันจะยิ่งหนักขึ้น ต่างประเทศก็จะรับภาระหนักหน่อย ซึ่งต่างประเทศก็จะบีบว่าให้ขึ้นดอกเบี้ย ให้เข้า IMF แต่ว่าการเข้า IMF จะมีปัญหามาก เพราะเข้าแล้วเข้าเลยหลายปีกว่าจะออกมาได้ และธนาคาร IMF เป็นที่ทราบดีเป็นของสหรัฐ การรับข่าวสารถ้าในระดับท้องถิ่นหรือเอเชียคงประเมินไม่กระทบ

แต่ผมเองมองว่าน่าจะไม่มีอะไรอีกแล้ว รับข่าวไปแล้วตรงนี้ ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนระดับระหว่างประเทศคงประเมินว่ายังรับไปไม่หมด แต่เป็นจังหวะรอเข้าไปลงทุนในตุรกีมากกว่า ตอนนี้เขาก็รอจังหวะอยู่ เพียงแต่จะเข้าไปเมื่อไหร่ ถ้าเป็นเกมก็เป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าเศรษฐกิจ

ถ้าเทียบกับวิกฤตกรีซ ล่ะ

ก็คล้ายๆ กัน กรีซก็เป็นเรื่องหนี้พรรครัฐบาลมาก กรีซพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียว คือมีการโกหกตัวเลขบัญชี แต่ของตุรกีไม่ได้มีปัญหาแบบนั้น เศรษฐกิจเขามีภาคการผลิตที่แข็งพอสมควร ผลิตพวกยานยนต์หรือเรือ เขามีเศรษฐกิจที่หลากหลายพอสมควร เขาน่าจะพอไปได้พอสมควรเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ

เจ้าหนี้ส่วนหนึ่งของตุรกีเป็นยุโรปเยอะที่ไปลงทุนปล่อยกู้ เขากลัวเป็นวิกฤตหนี้แบงก์อีกครั้ง

เป็นพวกฝรั่งเศส คงมีบ้างเพราะว่าถ้าเกิดตุรกีไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยค่าเงินก็ยิ่งตก ผู้กู้ในตุรกีไม่มีความสามารถในการชดใช้หนี้ให้กับแบงก์ในยูโร อยู่ในระดับกระทบกระเทือนบ้างแต่ไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตขึ้นมา ส่วนที่น่ากลัวน่าจะเป็น Emergency Market

อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ใกล้ไทย เป็นกลุ่ม TIP

ใช่ ทางละตินอเมริกาบางประเทศ หรือแอฟริกาบางประเทศ พวกนี้น่าจะกระทบมากกว่าเพราะว่าค่าเงินที่ตกทำให้ค่าเงินประเทศอื่นตก พอค่าเงินประเทศอื่นตกบางประเทศที่ไม่ตกอย่างไทย ความสามารถในการแข่งขันของเราจะสู้ไม่ได้ในระยะต่อๆไป แต่จะไม่ส่งผลทันที เพราะฉะนั้นค่าเงินที่ร่วงลงมากจะกระทบราคาสินทรัพย์และกระทบความสามารถในการส่งออก ต่อไปก็จะมาแข่งกันว่าใครจะหารายได้มากกว่ากันซึ่งไทยก็จะเหนื่อยหน่อย เราถือว่ายังไม่ได้รับข่าวแต่ผลอาจจะใช้เวลาอีกนาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาตุรกีมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้มากแค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องการเมือง

มันน่ากลัวไหมถ้าเกิดโลกต้องระวัง อะไรที่เคยปล่อยสินเชื่อให้วงเงินใครง่ายทั้งแบงก์เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจเจ้าสัวทั้งหลาย

ต้องดูว่าสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตจะยาวนานแค่ไหน ปัญหากับจีน รัสเซีย การแซงชั่นในหลายประเทศจะยืดยาวแค่ไหน ถ้ามันยืดยาวเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก แต่ถ้าแก้ไขปัญหากันได้ก็จะดีขึ้นมาหน่อย แต่คิดว่าเราเผื่อไว้เพราะสถานการณ์คงไม่ดี พอเศรษฐกิจไม่ดีการเมืองก็ยืดยาว แต่ละประเทศพยายามเอาใจประชาชน

อาจารย์มองค่าเงินดอลลาร์อย่างไร มองว่าจะอ่อนลงไปอีกหรือไม่

ค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเวลาคนไม่มั่นใจ Emergency Market ค่าเงินของประเทศเหล่านี้จะลงมากๆ รวมถึงยุโรปด้วย ค่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าเรื่อยๆ ความคิดที่ว่าค่าเงินดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีหลังจะผ่อนลงก็คงจะยากละ อาจจะต้องรอไปพอสมควร

โอกาสที่ไทยจะโดนโจมตีค่าเงิน มีโอกาสไหม

ของไทยไม่ได้อยู่ในระบบค่าเงินอัตราคงที่ เพราะฉะนั้นค่าเงินค่อนข้างปลอดภัย

แต่สิ่งที่ไทยเราต้องเป็นห่วง คือ เศรษฐกิจที่ซึมไปเรื่อยๆ เนื่องจากว่าสินค้าเราไม่สามารถแข่งกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม หรือละแวกนี้ได้เลย อย่างที่เราแพ้จีนก็จะแพ้มากขึ้น สินค้าเกษตรต่อไปจีนก็ผลิตมากแล้ว อันนี้ของไทยเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้าง ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องวิกฤตต่างประเทศและปัญหาระยะสั้น ปัญหาโครงสร้างเป็นปัญหาของไทยแบบไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดค่าเงินทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกันหมดไทยเราจะเจอความเสี่ยงในเรื่องการส่งออก ก็จะเหลือเรื่องท่องเที่ยวอย่างเดียวที่ไปได้

ตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่แถว 33.0-33.5

คงต้องอ่อนกว่านี้ แต่ก็ต้องระมัดระวัง การทำนายเรื่องค่าเงินเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่าลืมว่าในสหรัฐมีปัญหาเรื่องการเมืองในสหรัฐด้วยในคดีที่ทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์ที่โดนตรวจสอบอยู่ แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ก็หวาดเสียวเหมือนกันว่าคดีพวกนี้จะมาถึงตัวหรือไม่ สิ่งต่างๆเหล่านี้มีความไม่แน่นอนอยู่เพียงแต่ว่ายังไม่เปิดออกมา

เพราะฉะนั้นเราต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้าบริหารเงินก็ต้องบริหารแบบอย่าเอาตะกร้าไปใส่ไข่หลายๆใบ มีพอร์ตก็มีหลายๆ ตัวไว้

ของไทยถือว่ามอง 1-2 ปีนี้ยังพอปลอดภัย โดยทั่วไปน่าจะไปได้

อาการที่เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจจะซึมไปเรื่อยๆ คือ การลงทุนภาค Real Sector จะยิ่งซึมไปด้วย

ใช่ แต่ถ้าเกิดไม่มีปัญหาความเสี่ยงเรื่องพวกนี้ เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีการฟื้นตัวค่อนข้างดี แต่ค่อยๆ ไปไม่ได้แรงมาก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐน่าจะไปได้ด้วยดี เป็นประเทศผู้กระทำ เพราะยังมีปัญหาเรื่องการเมือง

สรุปวิกฤตตุรกีเตือนเราหรือยังว่าต้องระวังแล้วนะ

เตือนระยะยาวให้ระวังไว้ เพราะถ้าค่าเงินประเทศต่างๆลงมา ถึงจะขึ้นมาใหม่ก็คงไม่มาก เพราะฉะนั้นสินค้าเราจะแข่งขันกับต่างประเทศค่อนข้างยากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงสินทรัพย์ ถ้าพูดถึงผู้ประกอบการ นักลงทุน การผลิต ต้องระวัง เพราะความสามารถไปแข่งกับตลาดโลกจะน้อยลงไปมาก แค่จีนประเทศเดียวก็แย่แล้ว แค่ค่าเงินลดไป 5% เราไม่รู้ว่าจะแข่งอย่างไร ขนาดแบบนี้เรายังสู้ไม่ได้ อย่างญี่ปุ่นก็สู้ไม่ได้ ยิ่งตลาดบนเรายิ่งสู้ไม่ได้อยู่ดี

ดังนั้นก็ต้องฝากทุกคนว่าให้ ดูแลตัวเองกันดีๆ ดูแลการเงินในกระเป๋าเราไว้ให้ดีๆ

18 views
bottom of page