พักตัวระยะสั้นๆ ! ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลงมาชัดเจนอีกครั้ง โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ลดลง 2.65% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากวิกฤติการณ์ความขัดแย้งระหว่างตุรกีและสหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50% และ 20% ตามลำดับ ทำให้สกุลเงินลีร่าของประเทศตุรกีอ่อนค่าลงไปอีก เนื่องมาจากปัจจุบันตุรกีมีดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ และมีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศที่สูง
ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงินของตุรกีที่เริ่มลุกลามมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงของธนาคารยุโรปที่ทำธุรกรรมปล่อยกู้หรือถือครองตราสารของตุรกี โดยการอ่อนค่าลงของตุรกีเพิ่มความกังวลว่าอาจทำให้ภาคธุรกิจเอกชนของตุรกีมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศตามมา ความขัดแย้งของตุรกีและสหรัฐครั้งนี้กดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น และสกุลเงินของ Emerging Market โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มี Fundamental ที่อ่อนแอ เนื่องจากมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลการค้าในขณะเดียวกัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทิศทางของค่าเงินโลกอย่างชัดเจน โดยที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar Index แข็งค่า 1.69% จากสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเงินของตุรกีที่เริ่มลุกลามมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี Asian Dollar Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลง 0.83%
ในสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญกับภาวะขาขึ้นของดอกเบี้ยโลก รวมถึงสงครามการค้า การอ่อนค่าลงของค่าเงินลีราได้สร้างความวิตกว่าในวงกว้างว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเร่งตัวของกระแสเงินทุนไหลออก
ตลาดหุ้นที่ Underperform ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ Asia Ex-Japan ที่ปรับตัวลดลง 2.68% และ 3.95% ตามลำดับ เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นที่ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้น สหรัฐ และจีนที่ลดลงเพียง 1.38% และ 0.68%
ทั้งนี้ความผันผวนของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น สะท้อนออกมาชัดเจนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.93%, 43.61 และ 20.62% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น “นายหมูบิน” ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจาก Fundamental ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง สะท้อนจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 อยู่มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินสำรองระหว่างประเทศในปี 2560 ของไทยมีจำนวน 6.6 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์
ตลาดเริ่มกลัวความเสี่ยงมากขึ้น : ความพยายามในการลดความเสี่ยงของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นๆสะท้อนออกมาจากดัชนี Relative Strength ของตลาดหุ้นไทยเป็นดัชนีที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหุ้นกับดัชนีอ้างอิง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีที่ Outperform ได้แก่ SETHD Index ที่ปรับตัวขึ้น 0.77% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีที่ Underperform ได้แก่ sSET Index, SET 100 Index และ SET 50 Index ลดลง 0.52%, 0.26% และ 0.35% ตามลำดับ นอกจากนี้ความระมัดระวังต่อความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนในประเทศไทย สะท้อนออกมาจากดัชนี Total return index ซึ่งเป็นดัชนีสำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับของพันธบัตร ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีของพันธบัตรไทยช่วงอายุ 1-3 ปี และช่วงอายุ 3-7 ปี เพิ่มขึ้น 0.06% และ 0.05% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าดัชนีของพันธบัตรไทยช่วงอายุ 7-10 ปี ที่เพิ่มขึ้น 0.15% ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะยังคงมีอยู่ต่อในระยะสั้น หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาระดับของ Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสาร ของกลุ่ม Emerging Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องจากประเด็นเรื่องวิกฤตการเงินของตุรกี ทั้งนี้การซื้อ CDS เปรียบเสมือนการทำประกันการผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงของราคานั้น แสดงถึงระดับความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อคู่สัญญานั้นๆ ซึ่งถ้าหากมีความเชื่อมั่นที่สูง ค่า CDS ก็จะปรับตัวต่ำลง และถ้าหากเชื่อมั่นต่ำ ค่า CDS ก็จะสูงขึ้น
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,750 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
Credit: Wealth Hunters Club