top of page
379208.jpg

อย่าดูเบาสงครามการค้า...มะกันมีแต่เสีย


สัมภาษณ์: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์

 

แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดยังเป็นขาขึ้น แต่ฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น ยังทรงตัว ส่วนไทยจะคงอัตราเดิมต่อไปอีกสักพัก ด้านสงครามการค้าโลก อเมริกาจะฮึ่มๆ ต่อ ขณะที่จีนจะวางตัวเฉย ไม่ทะเลาะ ไม่เจรจาต่อรอง ชี้...ระยะสั้นยังไม่เป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ-การค้าโลก แต่ 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มกระทบต่อภาคการผลิต สุดท้ายอเมริกาจะเสียมากกว่าได้ กลายเป็นประเทศที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ด้านเศรษฐกิจไทย GDP โตขึ้นชัดเจน แต่ส้มหล่นใส่เจ้าสัว-กลุ่มทุนต่างชาติ ประชาชนคนรากหญ้ายังบักโกรกกันต่อไป

- ดูสัญญาณจากการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (เฟด) ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

หลักใหญ่ที่น่าจับตามองคือค่อนข้างชัดเจนว่าไม่มีอะไรใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ยังไม่มีอะไรพลิกผันมาก ยังเป็นไปตามที่คาดหมายคือคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดไว้ คือเป็นอัตราดอกเบี้ยกู้เงินระหว่างธนาคารซึ่งเป็นดอกเบี้ยระยะสั้น โดยยังคงไว้ที่ระดับ 2 ก็ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นอีก 2 ครั้ง โดยประมาณการโดยทั่วไป คือการประชุมครั้งหน้าเดือนกันยายนนั้น เกือบ 100% ที่คนเชื่อมั่นว่าขึ้นแน่ แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าจะขึ้นถึง 2 ครั้งหรือไม่

จากรายงานของเฟดในที่ประชุมล่าสุดก็ไม่มีอะไรพิเศษ คือจะออกมาในลักษณะเศรษฐกิจของสหรัฐยังเดินหน้าไปด้วยดี และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ

ส่วนของยุโรปยังคงไว้เหมือนเดิมไม่มีอะไรที่พิเศษ ก็จะมีของธนาคารอังกฤษที่ปรับขึ้นและมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างช้าๆ ตัวผู้ว่าการธนาคารอังกฤษคือ มาร์ค คาร์นีย์ พูดทำนองคล้ายกับว่าขึ้นมาปีละครั้งถือว่าไม่เยอะ และขึ้นมาพอสมควรแล้ว คิดว่าคงจะขึ้นไม่มากแล้ว แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำคือต่ำกว่า 1% ในยุโรปยังต้องการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั้งยุโรป ยูโรโซน และอังกฤษ

ส่วนของญี่ปุ่นมีการคาดคะเนกันว่าอาจจะเริ่มทยอยลดมาตรการอัดฉีดเงิน หรือทยอยเลิก QE และ yield curve กำลังจะขึ้น แต่ก็คงไม่เป็นไปตามนั้นเพราะในญี่ปุ่นสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ปีหน้าอาจจะขึ้นภาษีการค้า ก็เป็นปัญหาหนึ่งว่าจะพร้อมหรือไม่ โอกาสที่จะขึ้นมีมากกว่าจะ-ไม่ขึ้น แต่ในระยะสั้นโอกาสที่ BOJ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินคงจะยาก สถานการณ์เป็นไปตามที่ข่าวออกมาเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนว่าจะทยอยเลิก ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นก็ยังนิ่งอยู่ และเศรษฐกิจโลกยังไปแบบไม่ฉลุย โอกาสที่ญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงยาก

- เมื่อมองจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ คิดว่าของไทยเราควรทำอย่างไร

ของไทยมีแนวคิด 2 แนวทาง แนวทางหลักคือพยายามคงดอกเบี้ยไว้แบบนี้ในระยะหนึ่ง แต่จะมีอีกแนวทางย่อยที่มองว่าถ้าดอกเบี้ยในตลาดโลกค่อยๆ ขยับขึ้นแล้วของไทยจะขยับขึ้นหรือไม่ ก็จะมองในลักษณะว่าดอกเบี้ยจะค่อยๆ ปรับขึ้นหรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คาด คือฝ่าย Banker ส่วนใหญ่ประเมินว่าปีนี้ดอกเบี้ยน่าจะขึ้น 0.25% หรือ 0.5% แต่เอาเข้าจริงคิดว่าคงไม่มีการขยับ แต่ปีหน้ามีความเป็นไปได้ถ้าราคาสินค้ามีการขยับขึ้นเนื่องจากภาวะราคาพลังงานเปลี่ยนแปลง โอกาสที่ราคาพลังงานจะขยับขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าคงมีมากขึ้น ตัวนี้จะส่งผลต่อตัวแปรอื่นๆ เหมือนกัน ก็เป็นไปได้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจจะคงอยู่อย่างนี้ไประยะหนึ่ง แต่ปีหน้ามีแนวโน้มที่จะขยับได้ แต่ก็ขยับแบบอ่อนๆ คงอาจจะได้ 0.25% ทั้งปี

- สถานการณ์สงครามการค้า Trade War เป็นอย่างไร ในทางเศรษฐศาสตร์มองอย่างไร

ในทางเศรษฐศาสตร์ปกติเราจะมองในแง่พื้นฐานเศรษฐกิจก่อน คือดูว่าถ้าการค้ามีอุปสรรคมากขึ้น ภาวะการผลิตจะได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งเป็นการมองระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นชัด สิ่งที่สหรัฐทำอยู่ในขณะนี้มี 2 ระยะ ระยะแรกจำนวนเงินประมาณกว่า 200,000 ล้านเหรียญฯ ตัวนี้ก็จะกระทบถ้าทำก็เป็นตัวประมาณการก็ประมาณไว้ -0.1% ของ GDP โลก ที่จะตอบโต้กันในช่วงแรก ถ้าล็อต 2 รวมทั้งหมดประมาณ -0.4% ถือว่าเป็นอัตราไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นการมองจากสายเศรษฐศาสตร์

แต่ถ้ามองจากการตีความในเชิงไม่หยุดนิ่ง คือไม่ได้เป็นแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ตลาดโดยทั่วไปยังมองว่าท้ายสุดไม่มีใครชนะ ดังนั้น ทุกคนก็ต้องกลับมาประนีประนอมกัน แต่ถ้ามองในเชิงการเมืองไม่ง่ายที่จะประนีประนอมกัน เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็หวังผลการเลือกตั้ง หวังผลให้คะแนนเสียงของตัวเองกลับคืนมาจากกรณีที่มีปัญหาเรื่องจากรัสเซีย ปัญหาการเมืองในทำเนียบขาว ความวุ่นวายต่างๆ การตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ การเมืองภายใน อาจจะทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพยายามเร่งเครื่องในการอัดฉีดข้อมูลต่างๆ หรือวิธีแก้ไขต่างๆ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ตรงนี้อาจจะมีผลต่อการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพยายามสร้างกระแสว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีผลงานและมีความรักชาติ สามารถต่อรองกับประเทศอื่นได้ ทำผลประโยชน์เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด อันนี้จะทำให้คะแนนเสียงหรือฐานเสียงเพิ่มขึ้นมาในช่วงก่อนเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคนที่มองในมุมนี้จะมองว่าในความตึงเครียดด้านการค้าน่าจะมากขึ้น

ส่วนจีนในขณะนี้เห็นภาพชัดขึ้นว่าจีนไม่ยอมเข้าสู่การเจรจาแน่นอน การเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาเท่ากับเป็นการยอมสหรัฐ ถึงแม้สหรัฐส่งออกมากแต่นำเข้าน้อย ทำให้สหรัฐประเมินว่าอย่างไรจีนก็ต้องยอมแพ้ แต่จีนไม่ได้มองอย่างสหรัฐมอง จีนมองว่ายังมีไม้เด็ดอีกมากมายพอสมควรที่จะยืนอยู่แบบนี้ไประยะหนึ่ง ถ้ามองในแง่นี้โอกาสที่ความไม่แน่นอนทางการค้าจะแรงขึ้น ถ้ามองแบบเลวร้ายหน่อยก็หมายความว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสได้รับผลกระทบในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตรงนี้ทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้นเพราะทางการเมืองก็ยอมรับไม่ได้ที่จะถูกตอบโต้ อาจจะตอบโต้กลับเพื่อให้ประชาชนในสหรัฐรู้สึกเชื่อมั่นในรัฐบาล

เพราะฉะนั้นถ้ามองในเชิงพลวัตคิดว่าสงครามการค้าน่าจะแรง คือไม่จบในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แต่คิดว่าหลังเลือกตั้งน่าจะเจรจาได้แล้ว

- หลังเลือกตั้งกลางเทอมคือพฤศจิกายนใช่ไหม

พฤศจิกายน หลังเลือกตั้งกลางเทอม ถ้ารีพับลิกันชนะก็น่าจะผ่อนคลายได้แล้ว ถือว่าได้รางวัลมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องโจมตีจีนมากขึ้น อาจจะยอมเจรจาต่อรอง

- คือจีนนำเข้าน้อย เวลาตอบโต้ดูแล้วไม่มีอะไรให้ตอบโต้

เหมือนจะแพ้ ถ้าวัดแล้วคุณวุฒิน้อยกว่า แต่เป็นการมองจากมุมย่อย เป็นมุมการค้าอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าการตอบโต้ของจีนไม่จำเป็นต้องตอบโต้แค่สั้นๆ อาจตอบโต้เป็นปีๆ ก็ได้ ตอบโต้นานๆ

- เห็นได้ว่าจีนนำเข้าสินค้าสหรัฐน้อย แต่มองว่าสินค้าที่เล่นงานมีจำกัด หรือไม่ตีไปที่ฐานเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนหน้านี้ก็เล่นเรื่องถั่วเหลืองหรือผลผลิตทางการเกษตร ล่าสุดจีนเล่นอีกระลอก 60,000 ล้านเหรียญฯ ตอบโต้เรื่องกาแฟ น้ำผึ้ง อุตสาหกรรมเคมี

การตอบโต้ของจีน ถ้าตอบโต้ให้ยาวนานขึ้นก็จะมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะแทนที่จะนำเข้าจากสหรัฐก็นำเข้าจากแคนาดา เกษตรกรแคนนาดาก็จะเข้ามาแข่งกับสหรัฐแทน แต่ต้องนานพอ เพราะถ้าช่วงสั้นก็ไม่มีผลต่อการปรับโครงสร้างการผลิต เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งจีนถือว่าเป็นจุดที่ยอมไม่ได้ ดังนั้น จีนก็ต้องยอมเสียสิ่งเหล่านี้บ้าง แต่ก็ต้องค่อยๆ เอาคืน

สิ่งที่ยากลำบากสำหรับจีนคือ จีนจะต้องตอบโต้โดยไม่ให้มีความรู้สึกว่าเป็นสงครามการค้า เพราะถ้าตอบโต้แล้วพูดเยอะๆ เหมือน โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้จีนเหมือนเข้าร่วมสนามรบ จีนต้องทำให้เหมือนตัวเองไม่ได้ต้องการที่จะรบด้วย และจีนค่อยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะการค้า แต่เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย

ท้ายสุดระยะยาวสหรัฐจะเสียหายเยอะ พันธมิตรต่างๆ ความน่าเชื่อถือในเวทีโลกที่เป็นประเทศผูกมัดคำมั่นสัญญาก็จะหายไป กลายเป็นประเทศที่ใช้อำนาจ ภาพเหล่านี้จะค่อยๆ ส่งผลต่อความเป็นผู้นำของสหรัฐในเวทีอื่นๆ และติดภาพนี้เป็นเวลายาวนานกว่าจะกู้กลับมา ปัญหาเหล่านี้น่าจะทำให้ในสหรัฐแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนธรรมดาหรือผู้มีความรู้คงรู้สึกไม่สบายใจเท่าไหร่ เพราะถ้าสหรัฐทำแบบนี้แทนที่จะยึดเรื่องของกติกา กลายเป็นว่ากติกาไม่สำคัญแล้วในระยะยาว แต่ในระยะสั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประโยชน์เยอะ อย่างน้อยทางการเมืองประชาชนรู้สึกว่าประธานาธิบดีกล้าตัดสินใจ กล้าสู้ ทำเพื่อประเทศชาติ

- ก่อนเกิดสงครามการค้า จากรายงานของเฟดตัวเลขเศรษฐกิจดีหมด การทำสงครามการค้าทำให้ตัวเลขต่างๆ ดี หรือดีก่อนเกิดสงครามการค้า

น่าจะดีก่อนเกิดสงครามการค้า เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐส่วนหนึ่งไม่ได้พึ่งภาคการผลิตอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ เพราะฉะนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ตัวเลขจึงดีขึ้นมาหน่อย และส่วนสำคัญคือการลดภาษี มาตรการลดภาษีเป็นมาตรการส่งผลมากกว่าที่นักวิเคราะห์เคยวิเคราะห์ ก่อนหน้านี้คิดว่ามีผลน้อยมาก แต่ที่จริงมีผลมากและทำให้ตัวเลขตรงนี้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ผลกระทบทางลบที่เกิดจากมาตรการการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังมาไม่ถึง คือยังไม่เกิดขึ้นมาทันที จะค่อยๆ เกิดขึ้นในบางจุดก่อน

แต่ถ้าดูตัวเลขในหลายเดือนที่ผ่านมามูลค่าตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐลดไปเยอะ 10-20% หมายความว่าความมั่งคั่งของเศรษฐกิจในภาคการเงินตลาดทุนเริ่มหายไปส่วนหนึ่ง ตอนนี้กลับมาฟื้นบ้าง แต่ถ้าได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ของจีนขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของสหรัฐก็อาจไม่ได้รับผลกระทบในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจากสิ่งที่ทำวันนี้ ไม่ได้เกิดทันที ต้องใช้เวลา แต่ในแง่ของอารมณ์ตลาดโดยเฉพาะตลาดทุนเห็นชัดว่าหุ้นของสหรัฐ แทนที่จะวิ่งเหมือนกระทิงก็เริ่มไม่ค่อยดี เริ่มมีแกว่งๆ แต่ประเทศอื่นได้รับผลกระทบไปก่อน สาเหตุเพราะมาตรการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาทำให้นักลงทุนของสหรัฐมองว่าในระยะสั้นเขามีโอกาสชนะสูง ถ้าเราดูการสำรวจจะเห็นว่าประมาณ 90% จะบอกว่าถ้าทำการค้าตอบโต้กับแคนาดา คิดว่าชนะ ถ้ากับจีน 70% คิดว่าชนะ กับยุโรปกว่า 70% คิดว่าชนะความรู้สึกที่ว่าถ้าจะชนะในสงครามการค้าให้ผลกระทบเข้ามาสู่ตลาดทุนยังไม่มาแรงพอ ก็เชื่อว่าชนะ แต่พอเอาเข้าจริงผลกระทบมันแรงกว่าอันนี้ จะมากระทบทีหลัง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมมองว่าตอนนี้ตลาดหุ้นของสหรัฐ อาจจะวิ่งไปสักระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจดี Earning ต่างๆ ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดีขึ้น แต่พอเจอปัญหาสงครามการค้าสักระยะจะกระทบภาคการผลิตในปีต่อๆ ไป แต่ตอนนี้สหรัฐยังดีอยู่

- ผลกระทบของสงครามการค้าโลกต่อเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

สงครามการค้าที่จะกระทบไทยมี 2 ส่วนที่ทำให้ประเมินยากมาก ขณะนี้ไทยค้าขายในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คือส่งสินค้าไปที่จีนแล้วจีนส่งต่อไปสหรัฐ เพราะฉะนั้นสหรัฐอาจจะเข้าใจผิดว่าการนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นสินค้าของจีนล้วนๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการนำเข้าสินค้าแปรรูปเข้ามา เวลาตอบโต้ไปที่จีนก็จะกระทบถึงไทยด้วย แต่ในแง่หนึ่งไทยสามารถเป็นแหล่งส่งออกแทนจีนได้บางส่วน โดยสุทธิอาจไม่มีผลมาก เบ็ดเสร็จไทยคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก มีได้มีเสียใกล้ๆ กัน ถึงกระทบก็กระทบน้อย

- พูดถึงตัวเลข GDP ไทยในปีนี้ ที่เริ่มประเมินว่าได้เห็นแน่ 4.8-5% เห็นด้วยไหม

คิดว่าในขณะนี้ตัวที่ช่วยเยอะคือท่องเที่ยว เพราะแนวโน้มคนท่องเที่ยวเยอะและดีขึ้นทั่วโลก ของไทยก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ตัวเลขก็ยังได้อยู่ ตัวเลขการบริโภคก็ขยับดีขึ้นนิดหน่อย ตัวเลขการลงทุนดีนิดหน่อย การใช้จ่ายภาครัฐบาลหวังว่าปลายปีจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นเบ็ดเสร็จน่าจะวิ่งถึง 4.4-4.5% ในปีนี้ ก็ถือว่าไม่ได้สูง อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาเลเซีย ดีกว่าสิงคโปร์นิดหน่อย ใกล้เคียงกับฮ่องกง ของไทยคิดว่าสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ถ้าเทียบกับ 3-4 ปีที่แล้วก็คงเทียบกันไม่ได้เพราะมีเรื่องวิกฤตการณ์การเมืองเยอะ ก็หวังว่าสงครามการค้าไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีต่อๆ ไป ถ้าชะลอตัวในปีต่อๆ ไปหมายความว่าหลังจากนี้ 1-2 ปีเศรษฐกิจเราอาจชะลอก็ได้ ปีหน้าอาจจะพอไหวนิดหน่อย ใกล้เคียงเดิม

- ถ้าพูดถึง GDP ว่าดีขึ้น แต่ชาวบ้านบ่นกันว่ายังลำบากอยู่ ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวขยายตัวดีขึ้น นักเศรษฐศาสตร์จะตอบตรงนี้อย่างไร

เศรษฐศาสตร์อธิบายได้หลายแนวทาง ในแง่นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเราก็ยังต่ำอยู่ ไม่ได้บอกว่าต่ำ แต่สถานการณ์อาจจะทำให้ต่ำ แต่การที่ทำให้ต่ำทำให้คนที่มีทรัพย์สินทางการเงินค่อนข้างจะดีหน่อย ได้ประโยชน์ และดีกว่าชาวบ้านทั่วไปที่มีมีทรัพย์สินในรูปของหุ้น ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโครงการลงทุนของภาครัฐบาลที่เป็นตัวสำคัญในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตกอยู่ในบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ตกถึงประชาชน ตัวเลขที่โผล่ขึ้นมาดีส่วนใหญ่มาจากภาครัฐบาล ประชาชนไม่ได้รับ ผลดีด้วย การบริโภคที่เป็นประชาชนชาวบ้านทั่วไปก็ยังลำบากอยู่ ประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯที่ต้องรับประทานอาหารตามสั่งหรือร้านอาหารนอกบ้านจะรู้สึกเลยว่าอาหารแพงมาก ต้นทุนสูงขึ้น ประชาชนก็บ่นว่าลำบาก ค่าครองชีพสูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลทำไว้เยอะ การกระจายรายได้ของประเทศไทยถือว่าแย่ลงมาก และการเติบโต 4.4-4.8% มันไปตกอยู่กับใครก็ไม่รู้ อาจจะตกอยู่กับกลุ่ม 0.5% ต้นๆ ที่เป็นคนมีเงินของประเทศไทยก็ได้ บริษัทต่างชาติอาจจะได้ประโยชน์ไปด้วย ที่เป็น SME ทั่วไปก็ยังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

51 views
bottom of page