top of page
312345.jpg

รอการดีดกลับตาม Seasonality


แม้ว่าในระหว่างสัปดาห์ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx50 ของยุโรป, NIKKEI ของญี่ปุ่น และ FTFE Asean 40 ของอาเซียน จะมีการดีดตัวขึ้นมาได้บ้างเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 วัน หรือเกิด Golden Cross ขั้นที่ 1 แต่ทั้งหมดยังคงมีสัญญาณของการพักตัวในทางเทคนิคต่อเนื่อง หลังจากที่ Indicator สำคัญอย่าง RSI ยังคงไม่สามารถกลับมามีสัญญาณ Buy Signal อีกครั้งได้ และดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และ HIS VIX Index ของฮ่องกงยังคงมีอยู่ใน Momentum ของการปรับตัวขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีทั้ง 2 ตัว ยังคงเคลื่อนไหวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้น และ Indicator สำคัญของดัชนีดังกล่าวอย่าง RSI ก็ยังคงมีสัญญาณของการปรับตัวขึ้นต่อเช่นกัน

ทั้งนี้ปัจจัยลบในเชิง Momentum ข้างต้น สอดคล้องกับปัจจัยลบในเชิง Sentiment ที่ล่าสุดผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา 22-28 มี.ค.2561 สัดส่วนนักลงทุนที่ยังคงเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 1.3% WoW มาอยู่ที่ระดับ 31.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.5% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับสู่แนวโน้มขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 6.8% WoW มาอยู่ที่ระดับ 35.3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5% แล้ว ส่งผลให้อัตราส่วน Bull-vs-Bear Index กลับมาติดลบ 3.4% สะท้อนความอ่อนแอในการดีดกลับของตลาดหุ้นสหรัฐชัดเจน

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลก นอกจากจะอยู่ที่สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐ และรัสเซียแล้ว ในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน “นายหมูบิน” มองว่านักลงทุนอาจมีมุมมองว่าระดับราคาของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะสั้นอาจไม่สมเหตุสมผล หรือสามารถชดเชยความเสี่ยงได้ ซึ่งสะท้อนออกมาจากระดับของ Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นสหรัฐที่ล่าสุดอยู่ที่ 1.86% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี –1 SD ด้วยซ้ำ เทียบกับกับระดับEarnings Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยที่ 2.98% ใกล้เคียงกับระดับค่าเฉลี่ย 10 ปี ทำให้ในด้านของระดับราคา ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นดูสมเหตุสมผลกว่า และน่าจะมี Downside Risk ที่ต่ำกว่า

Downside ไม่มากลุ้นดีดกลับ : ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบทางเทคนิคผ่าน Comparison Index จะพบว่าเมื่อเปรียบเทียบดัชนี S&P500 ของสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกกับสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ตัวสำคัญๆทั้งในส่วนของน้ำมัน ทองคำ ถั่วเหลือง และทองแดงพบว่าดัชนี S&P500 มีแนวโน้มของ Momentum ที่แย่กว่า หรือ Underperform ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจจะพอทำให้การพักตัวลงในระยะสั้นของตลาดหุ้นโลกอาจจะไม่รุนแรงมากนัก คงอยู่ในที่ปัจจัยในเชิงฤดูกาล หรือ Seasonality ที่สถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) ดัชนี MSCI World ตลาดหุ้นโลก, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐ, ดัชนี MSCI Asia ex Japan ตลาดหุ้นเอเชีย และดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยในเดือน เม.ย. ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2.8%, 2.2%, 4.0% และ 2.6% ด้วยระดับ Winner Percentage สูงถึง 80%, 90%, 80% และ 70% ตามลำดับ ซึ่งถ้าเทียบกับราคาน้ำมันดิบ และทองคำโลกที่สถิติเดือน เม.ย. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 6.3% และ 0.7% ด้วยระดับ Winner Percentage สูงถึง 70% และ 60% ตามลำดับ ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามักมีแนวโน้มที่น่าสนใจกว่าในเดือน เม.ย.

ทั้งนี้ปัจจัยที่น่าสนใจของตลาดหุ้นไทยคงอยู่ที่การเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศ ซึ่งจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) พบว่าในเดือน เม.ย. นักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศเป็นฝ่ายซื้อสุทธิราว 2.3 และ 1.4 พันล้านบาท ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 60% เท่ากัน ขณะที่นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิเฉลี่ย 4.4 พันล้านบาท ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 50%

ขณะที่ “นายหมูบิน” มองว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสกลับมาแกว่งตัวขึ้นได้อีกครั้งน่าจะอยู่ที่ระดับ Potential Upside Gain เพราะเมื่อพิจารณาจากมูลค่าเหมาะสมในระยะ 12 เดือนข้างหน้าของกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆที่ได้จากการประเมินของ Bloomberg Consensus แล้วพบว่าดัชนี MSCI World ตลาดหุ้นโลก, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐ, ดัชนี Stoxx50 ตลาดหุ้นยุโรป, ดัชนี MSCI Asia ex Japan ตลาดหุ้นเอเชีย และดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย ยังคงมีระดับ Potential Upside Gain สูงถึง 18.0%, 18.8%, 19.5%, 19.8% และ 9.5% ตามลำดับ เทียบกับราคาน้ำมันดิบ และทองคำที่ราคาปัจจุบันเมื่อเทียบกับมูลค่าเหมาะสมในระยะ 12 เดือนข้างหน้าไม่เหลือ Potential Upside Gain โดยติดลบ 8.1% และ 2.5% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆอย่างเงิน, ทองแดง และข้าวโพดก็มีระดับ Potential Upside Gain เพียง 3.9%, 4.4% และ 0.7% เท่านั้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ยังคงไม่กลับไปปิดเหนือ 1,850 (+/-5) จุดอีกครั้ง เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. ทาง FM 101.00 เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

60 views
bottom of page