top of page
379208.jpg

ความเชื่อมั่นเริ่มหายไปเรื่อยๆ


ดูความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน สร้างแรงกดดันให้กับทิศทางของตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง โดยที่ล่าสุดดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx50 ของยุโรป, NIKKEI ของญี่ปุ่น และ FTFE Asean 40 ของอาเซียนต่างยังคงมีสัญญาณของการพักตัวในทางเทคนิคต่อเนื่อง หลังจากที่ดัชนีในกลุ่มดังกล่าวกลับเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นอีกครั้ง และ Indicator สำคัญอย่าง RSI มีสัญญาณ Negative Convergence ชัดเจน ขณะที่สัญญาณในการกลับตัว หรือ Reversal Signal ในระยะสั้นรายสัปดาห์จะยังคงไม่เกิดขึ้นจนกว่าดัชนีดังกล่าวจะกลับมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 วัน หรือเกิด Golden Cross ขั้นที่ 1 ก่อนในเบื้องต้น เพื่อฟอร์มตัวกลับไปสู่แนวโน้มการแกว่งตัวขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาในเชิงของ Sentiment ประกอบจะพบว่าการดีดตัวกลับไปเลยของตลาดหุ้นโลก หรือกลุ่มตลาดหุ้นดังกล่าวข้างต้น ยังคงมีความเป็นไปได้น้อยในระยะสั้น และการดีดตัวขึ้นในระยะสั้นอาจเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น เนื่องจากล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ และ HIS VIX Index ของฮ่องกงยังคงมีอยู่ใน Momentum ของการปรับตัวขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีทั้ง 2 ตัว กลับมาเคลื่อนไหวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นอีกครั้ง และ Indicator สำคัญของดัชนีดังกล่าวอย่าง RSI ก็กลับมามีสัญญาณ Buy Signal เช่นกัน

ขณะที่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ต้องจับตามากกว่าคือความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากล่าสุดแม้ว่าถ้าพิจารณาจาก Fed Fund Futures ที่พบว่าโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป (1-2 พ.ค. 2561) จะอยู่ที่ระดับ 99.3% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 97.2% แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลง สะท้อนจากการที่ดัชนี US Dollar Index แกว่งตัวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นต่อเนื่อง โดยปรับตัวลดลง 0.37% หลังจากที่เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เทียบกับค่าเงินเอเชียที่ดัชนี JP Morgan Asia Dollar Index ที่ปรับตัวขึ้น 0.11% สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงนโยบายทางเศรษฐกิจ และการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐ

ตลาดหุ้นไทยขาดจุดเด่น : มุมมองต่อการขยายตัวของผลการดำเนินงานในปี 2561 ของตลาดหุ้นไทยที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 10.5% YoY ยังคงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐ, ญี่ปุ่น และเอเชียที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 16.5%, 12.9% และ 13.9% YoY ตามลำดับ และยังคงไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับการขยายตัวของผลการดำเนินงานในปี 2561 ของตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่เหลืออย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 13.9% และ 11.5% YoY นอกจากนี้ในส่วนของความสามารถในการทำกำไรที่วัดจากระดับ ROE ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของตลาดหุ้นไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด Bloomberg Consensus ประเมินระดับ ROE ปี 2561 ของตลาดหุ้นไทยไว้ที่ 11.6% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12.2% และต่ำกว่าระดับ ROE ของตลาดหุ้นสหรัฐ และเอเชียที่ระดับ 13.6% และ 12.0%

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าระดับความสามารถในการทำกำไรที่แย่ลงเป็นปัญหาสำคัญของตลาดหุ้นเอเชียไม่เฉพาะตลาดหุ้นไทยเท่านั้น สะท้อนออกมาจากการที่ Bloomberg Consensus ประเมินระดับ ROE ปี 2561 ของตลาดหุ้นเอเชียโดยเฉลี่ยไว้ที่ 12.0% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12.7% ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่เหลืออย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 11.5% และ 10.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 13.9% และ 14.6% ตามลำดับ

ขณะที่ในแง่ของ Earnings Revision ตั้งแต่ต้นปี 2561 พบว่า Bloomberg Consensus ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ของตลาดหุ้นไทยขึ้น 0.8% ก็ยังคงอ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐ, ญี่ปุ่น และเอเชียที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการขึ้นมาราว 7.2%, 3.9% และ 2.1% ตามลำดับ

ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่เหลือ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการกำไรสุทธิของอินโดนีเซียขึ้น 3.1% และปรับของฟิลิปปินส์ลง 0.7% สุดท้ายในด้านของระดับราคา เมื่อไปพิจาณาในส่วนของระดับราคาพบว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ Forward PER ที่ 16.2 เท่า สูงกว่า หรือมี Premium เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของตัวเองถึง 21.5%

ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ และเอเชียยังซื้อขายที่ระดับ Forward PER ราว 16.6 และ 13.0 เท่า โดยมี Premium เพียง 6.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ที่เหลือพบว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ซื้อขายที่ระดับ Forward PER ราว 15.8 และ 17.7 เท่า หรือมี Premium เพียง 6.4% และ 8.0% ตามลำดับเท่านั้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ยังคงไม่กลับไปปิดเหนือ 1,850 (+/-5) จุดอีกครั้ง เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

61 views
bottom of page